การจัดสรรทรัพยากรสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้อย่างไร

การศึกษา PISA ไม่ได้ให้ความสนใจเฉพาะคะแนนหรือเปรียบเทียบผลการประเมินระหว่างประเทศสมาชิก แต่ตั้งใจให้ข้อมูลของตัวแปรทุกตัวเพื่อหาคำอธิบายว่าตัวแปรใดส่งอิทธิพลกระทบต่อคุณภาพการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด ตัวแปรหนึ่งที่พบว่าส่งอิทธิพลต่อการเรียนรู้อย่างมาก คือ ทรัพยากรการเรียน

การมีทรัพยากรการเรียนอย่างพอเพียงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างโอกาสในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ แต่การที่จะแปลงทรัพยากรให้ออกมาเป็นผลการเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อทรัพยากรนั้นถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ศึกษาเรื่องปริมาณของทรัพยากรกับผลการเรียนรู้ของนักเรียน และพบว่า คุณภาพการเรียนรู้ไม่สามารถอธิบายปริมาณทรัพยากร แต่กลับสามารถอธิบายได้ด้วยคุณภาพของทรัพยากรและวิธีการใช้งานทรัพยากรนั้น ๆ เป็นต้นว่า ในประเทศอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่มีทรัพยากรการศึกษามากมายเหมือน ๆ กัน แต่กลับมีผลการเรียนรู้ที่แตกต่างกันมาก เพราะมีวิธีการใช้ทรัพยากรที่แตกต่างกัน

ทรัพยากรการศึกษาที่ PISA ทำการสำรวจและพบว่าส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้นั้น รวมถึงทรัพยากรการเงิน ทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรเวลาเรียน


รูป 1 ทรัพยากรการศึกษาที่ครอบคลุมในการสำรวจ PISA 2012


ทรัพยากรการเงิน

ข้อสังเกตแรกจากผลการประเมิน PISA คือ ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง (PISA นิยามว่า หมายถึง ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีค่า GDP สูงกว่า 20,000 USD) และที่มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูง โดยทั่วไปนักเรียนมักมีผลการประเมินสูง เนื่องจากประเทศ/เขตเศรษฐกิจเหล่านั้นสามารถจัดหาทรัพยากรการศึกษาได้มากกว่า ข้อมูลจาก PISA 2012 ชี้ว่าประเทศ/เขตเศรษฐกิจกลุ่มที่มีรายได้สูง มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมเฉลี่ยต่อหัวสำหรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 6 ปี ถึง 15 ปี อยู่ที่ 89,702 USD ส่วนประเทศกลุ่มรายได้ต่ำ (ค่า GDP ต่ำกว่า 20,000 USD) มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมเฉลี่ย 25,286 USD

ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่กล่าวถึงนี้ได้เปรียบเทียบเป็นค่าอำนาจการซื้อ (Purchasing Power Parities หรือ PPPs) แล้วค่าเฉลี่ยของผลการประเมินของนักเรียนจากประเทศรายได้สูงกับประเทศรายได้ต่ำ ข้อมูลชี้ว่า ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงมีคะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ยสูงกว่าประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ต่ำอยู่ประมาณ 70 คะแนน (หรือประมาณเท่ากับการรู้คณิตศาสตร์ที่ต่างกันหนึ่งระดับ)

ค่าใช้จ่ายต่างกัน คะแนนต่างกันหรือไม่

ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ประชาชาติ และระดับการใช้จ่ายทางการศึกษาต่อหัวกับผลการประเมินมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะอธิบายได้ด้วยตัวแปรสองตัวนี้เท่านั้น เพราะข้อมูลชี้ว่าประเทศ/เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมต่อหัวต่างกันมาก เป็นต้นว่า หลายประเทศที่ร่ำรวยมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมต่อหัวสูงกว่า 50,000 USD อีกหลายประเทศมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเท่ากับ 50,000 USD (ตัวอย่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมเท่ากับ 50,000 USD ในยุโรป ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐสโลวัก และฮังการี ในเอเชีย เช่น เซี่ยงไฮ้-จีน เป็นต้น) ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูงกว่ามักเป็นตัวทำนายถึงคะแนน PISA ที่สูงกว่า แต่สำหรับหลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ประชาชาติสูง พบว่า บางทีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูงไม่ได้เป็นตัวทำนายผลการศึกษาเสมอไป โดยเฉพาะในประเทศสมาชิก OECD ประเทศเหล่านี้มีตัวแปรอื่นนอกเหนือจากความร่ำรวยเข้ามาเป็นตัวทำนายที่ชัดกว่าค่าใช้จ่ายทางการศึกษา

แม้ว่าโดยทั่วไปข้อมูลชี้ว่าประเทศที่มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาต่ำกว่ามักจะมีผลการประเมินต่ำกว่า ข้อมูลจาก PISA 2012 ชี้ว่า โดยค่าเฉลี่ย ถ้าประเทศหนึ่งมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาต่อหัวสะสมที่สูงกว่าประเทศอื่นอยู่ 10,000 USD จะมีคะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ยมากกว่าประเทศที่ค่าใช้จ่ายต่ำกว่าอย่างน้อย 27 คะแนน เช่น จอร์แดน (7,125 USD) กับมาเลเซีย (16,816 USD) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงกว่าจอร์แดนอยู่เกือบ 10,000 USD และจอร์แดนมีคะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ย 386 คะแนน ซึ่งต่ำกว่ามาเลเซียอยู่ 35 คะแนน

หลายกรณี พบว่า ประเทศที่ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงกว่า แต่มีคะแนนไม่แตกต่างจากประเทศที่ค่าใช้จ่ายต่ำกว่า กรณีที่ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูง (มากกว่า 50,000 USD) แต่ผลการประเมินคณิตศาสตร์อาจไม่แตกต่างจากประเทศที่ค่าใช้จ่ายต่ำ เช่น สหรัฐอเมริกา (115,961 USD) กับสาธารณรัฐสโลวัก (53,160 USD) มีคะแนนคณิตศาสตร์เท่ากัน คือ 481 คะแนน ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมต่อหัวมากเป็นสองเท่าของสาธารณรัฐสโลวัก

ประเทศมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเท่ากันแต่คะแนนต่างกัน ประเทศกลุ่มร่ำรวยที่มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาต่อหัวสะสมเท่ากันอาจมีคะแนนแตกต่างกันมากก็ได้ ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์กับอิตาลี ซึ่งต่างมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสม 85,000 USD เท่ากัน แต่อิตาลีมีคะแนนคณิตศาสตร์ 485 คะแนน ในขณะที่สิงคโปร์มีคะแนนคณิตศาสตร์ 573 คะแนน ประเทศ/เขตเศรษฐกิจกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูง (สูงกว่า 50,000 USD) แต่มีคะแนนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (ต่ำกว่าเส้นปกติที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอย่างมีนัยสำคัญ) ได้แก่ สาธารณรัฐสโลวัก อิสราเอล โปรตุเกส สเปน อิตาลี สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศอื่น ๆ อาจจะต่ำกว่าบ้างแต่ไม่มากนัก

ในทำนองกลับกันมีหลายกรณีที่ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาต่ำกว่าแต่คะแนนสูงกว่า ตัวอย่างเช่น เวียดนามซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมต่อหัวต่ำที่สุด (6,969 USD) เวียดนามมีคะแนนคณิตศาสตร์ใกล้เคียงกับแคนาดาและเบลเยียม ทั้ง ๆ ที่ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเวียดนามมีเพียงประมาณ 1/12 ของแคนาดา (80,398 USD) และ 1/14 ของเบลเยียม (97,126 USD) เท่านั้น เซี่ยงไฮ้-จีน มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษา (50,000 USD) ต่ำกว่าประเทศตะวันตกหลายประเทศ แต่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงกว่าทุกประเทศ เกาหลีแม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเซี่ยงไฮ้-จีน แต่ก็ต่ำกว่าอีกหลายประเทศในตะวันตก เกาหลีก็มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงกว่าทุกประเทศ (ยกเว้น เซี่ยงไฮ้-จีน และสิงคโปร์) ข้อมูลนี้ ชี้แนะว่าการเงิน (รายได้ประชาชาติ-ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา) ไม่ใช่ตัวทำนายเสมอไป


ตาราง 1 ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาต่อหัวสะสมสำหรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 6 – 15 ปี


ที่มา: OECD, 2013


ประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมต่อหัวอยู่ในระดับต่ำที่สุด (ต่ำกว่า 20,000 USD) นอกเหนือจากจอร์แดนและเวียดนาม ได้แก่ เปรู มาเลเซีย อุรุกวัย และไทย นักเรียนในประเทศเหล่านี้ล้วนมีคะแนนคณิตศาสตร์ต่ำทั้งสิ้น


รูป 2 ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมต่อหัวกับผลการประเมินคณิตศาสตร์ PISA 2012

ที่มา: OECD, 2013


ข้อมูลข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นว่า เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของความเป็นเลิศทางการศึกษา หากแต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มากกว่าเงินเพียงอย่างเดียว ผลการศึกษาชี้ว่า นอกจากการมีทรัพยากรแล้ว วิธีการใช้ทรัพยากรก็มีความสำคัญมากเท่า ๆ กับปริมาณของทรัพยากรที่มี

ความต้องการของทุกระบบการศึกษา คือ การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน โดยการเพิ่มสัดส่วนนักเรียนที่มีผลการประเมินสูงและลดสัดส่วนนักเรียนที่มีผลการประเมินต่ำ ผลการประเมินPISA ชี้ถึงความแปรผันระหว่างโรงเรียน และชี้ว่าเกือบร้อยละ 50 ของความแปรผันมาจากผลกระทบของทรัพยากรโรงเรียน สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียน ผลการศึกษาของ PISA ชี้นัยว่า ทรัพยากรโรงเรียนสามารถทดแทนผลกระทบหรือความเสียเปรียบของนักเรียนที่มีภูมิหลังทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำได้โดยการที่โรงเรียนจัดหาทรัพยากรการเรียนให้นักเรียนที่เสียเปรียบเหล่านี้สามารถเข้าถึงทรัพยากรการเรียนได้อย่างทั่วถึง

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 1016KB)