ผลการประเมิน PISA 2015

การแถลงข่าว ผลการประเมินในโครงการ PISA 2015 วันพุธที่ 7 ธันวาคม 2559 เวลา 14.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุม 5 ชั้น 1 อาคารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ


โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Student
Assessment) ดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพสำหรับการแข่งขันในอนาคต

โครงการ PISA เริ่มมีขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 2000 และประเมินต่อเนื่องทุก 3 ปี เพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาและมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย กลุ่มตัวอย่างของ PISA คือนักเรียนกลุ่มอายุ 15 ปี ซึ่งสากลถือว่าเป็นวัยจบการศึกษาภาคบังคับ การประเมินของ PISA เน้นการประเมินความสามารถของนักเรียนในการใช้ความรู้และทักษะเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง หรือที่เรียกว่า “การรู้เรื่อง” (Literacy) ในสามด้าน ได้แก่ การรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) ซึ่งการรู้เรื่องทั้งสามด้านนี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นสิ่งที่ประชากรจำเป็นต้องมีเพื่อการพัฒนาและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

PISA 2015 มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 72 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ และเป็นครั้งแรกที่จัดให้มีการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-based assessment หรือ CBA) เต็มรูปแบบ สำหรับประเทศไทย ได้เก็บข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 จากนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,249 คน ใน 273 โรงเรียนของทุกสังกัดการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบทดสอบและแบบสอบถามนักเรียน นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามผู้บริหารโรงเรียน

ผลการประเมินของ PISA 2015 พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านวิทยาศาสตร์ 421 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 493 คะแนน) การอ่าน 409 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 493 คะแนน) และ คณิตศาสตร์ 415 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 490 คะแนน) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ PISA 2012 ด้านการอ่านและวิทยาศาสตร์ มีคะแนนลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนด้านคณิตศาสตร์ มีคะแนนลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ จึงถือได้ว่าคะแนนด้านคณิตศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากรอบการประเมินที่ผ่านมา



อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนในภาพรวมตั้งแต่การประเมินรอบแรกจนถึงปัจจุบัน พบว่า ผลการประเมินด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในระดับนานาชาติผลการประเมิน PISA 2015 พบว่า นักเรียนในประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เอสโตเนีย มาเก๊า-จีน แคนาดา และฮ่องกง-จีน มีคะแนนทั้งสามด้านอยู่ในกลุ่มบนสุดสิบอันดับแรก (Top 10) ส่วนนักเรียนไทย และอินโดนีเซีย มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD

สำหรับประเทศไทย กลุ่มโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนนสูงในระดับเดียวกับกลุ่มบนสุดห้าอันดับแรก (Top 5) และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD

จากการประเมิน PISA ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตที่สำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก นักเรียนไทยทั้งกลุ่มที่มีความสามารถสูงและกลุ่มที่มีความสามารถต่ำมีจุดอ่อนอยู่ที่ด้านการอ่าน จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ พบว่า ความสามารถด้านการอ่านมีความสัมพันธ์กับด้านคณิตศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์ หากความสามารถด้านการอ่านต่ำ จะทำให้ผลการประเมินด้านอื่นมีคะแนนต่ำไปด้วย ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยจึงต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วน และประการสอง ผลการประเมินชี้ว่า ระบบการศึกษาไทยมีส่วนหนึ่งที่มีคุณภาพและสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถในระดับสูงได้ แต่ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นยังมีอยู่เฉพาะในวงจำกัด หากระดับนโยบายสามารถสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาโดยขยายระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ทั่วถึง ประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้


คะแนนเฉลี่ยวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ ของประเทศต่าง ๆ ใน PISA 2015

* B-S-J-G (China) จีนเข้าร่วมโครงการ PISA 2015 เฉพาะใน 4 มณฑล ได้แก่ ปักกิ่ง (B) เซี่ยงไฮ้(S) เจียงซู(J) และกวางตุ้ง (G)


ดาวน์โหลด (PDF, 500KB)