โรงเรียนและนักเรียนมีความพร้อมเพียงใดกับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์: ข้อค้นพบจาก PISA

จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้โรงเรียนในมากกว่า 190 ประเทศต้องปิดการเรียนการสอนส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนมากกว่า 1,500[1] ล้านคนทั่วโลก ดังนั้น การศึกษาผ่านระบบออนไลน์จึงถูกยกระดับจากการเป็นตัวช่วยนอกหลักสูตรมาเป็นวิธีหลักที่จะช่วยให้การเรียนการสอนของระบบการศึกษาทั่วโลกเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม การมาของวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ได้เผยให้เห็นว่าระบบการศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่โลกของการเรียนรู้โดยการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งจากการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามนักเรียนอายุ 15 ปี และผู้บริหารโรงเรียนของ PISA 2018 ใน 79 ระบบการศึกษาทั่วโลก ได้ข้อค้นพบเกี่ยวกับโอกาสและการเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ในหลายประเด็น และสำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก PISA 2018 พบว่า

  • นักเรียนไทยยังขาดแคลนปัจจัยสำคัญสำหรับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่บ้าน ได้แก่ สถานที่เงียบสงบในบ้านสำหรับใช้เพื่อการเรียนรู้ คอมพิวเตอร์ และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
  • ผู้บริหารโรงเรียนของไทยมองว่าโรงเรียนและครูค่อนข้างมีความพร้อมสำหรับการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการเรียนการสอนแบบออนไลน์เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิก OECD

[1] ข้อมูลจาก UNESCO, https://en.unesco.org/covid19/educationresponse, ณ วันที่ 17 เมษายน 2563

การเข้าถึงโลกดิจิทัลของนักเรียน

เริ่มต้นด้วยสิ่งจำเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ การมีสถานที่ที่เงียบสงบ จัดเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกที่นักเรียนควรจะต้องมีเพื่อให้มีสมาธิในการเรียนรู้ ข้อมูลจาก PISA 2018 พบว่า นักเรียนอายุ 15 ปี ในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD มีอยู่เพียง 9% ที่ไม่มีสถานที่เงียบสงบในบ้านสำหรับใช้เพื่อการเรียนรู้ และมีมากถึง 30% ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศไทยมีนักเรียนที่มาจากโรงเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยเปรียบ รายงานว่า ขาดสถานที่เงียบสงบในบ้านสำหรับใช้เพื่อการเรียนรู้มากกว่านักเรียนที่มาจากโรงเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด

การมีคอมพิวเตอร์ที่นักเรียนสามารถใช้ได้ที่บ้าน ก็นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเรียนผ่านระบบออนไลน์เช่นกัน จากข้อมูลของ PISA 2018 จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างอย่างมาก โดย 95% ของนักเรียนจากหลายประเทศในยุโรปมีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน แต่ในอินโดนีเซียมีนักเรียนเพียง 34% ที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน ทั้งนี้ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายิ่งมีความแตกต่างภายในประเทศสูงมาก ระหว่างนักเรียนจากโรงเรียนที่ด้อยเปรียบกับนักเรียนจากโรงเรียนที่ได้เปรียบ รวมทั้งประเทศไทยที่ช่องว่างของการมีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้านระหว่างนักเรียนสองกลุ่มนี้ต่างกันมากกว่า 50% ซึ่งแสดงถึงความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา

นอกจากนี้ ในการเรียนผ่านระบบออนไลน์ สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่บ้าน จากข้อมูล PISA 2018 พบว่า ในหลายประเทศมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงทุกครัวเรือน แต่ในบางประเทศก็มีไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของหลายประเทศนั้นอาจเกิดจากลักษณะของภูมิประเทศ เช่น ประเทศที่มีเกาะจำนวนมากหรือมีชุมชนที่อยู่ห่างไกลบนเทือกเขา ส่วนประเทศไทยมีนักเรียนประมาณ 80% ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จากที่บ้าน โดยความแตกต่างระหว่างนักเรียนจากโรงเรียนที่ได้เปรียบและนักเรียนจากโรงเรียนที่ด้อยเปรียบนั้นอยู่ที่ประมาณ 30%


รูป 1 ร้อยละของนักเรียนที่รายงานว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่บ้าน


การสนับสนุนจากโรงเรียนและครูสำหรับการเรียนผ่านระบบออนไลน์

แม้ว่าการศึกษาผ่านระบบออนไลน์จะไม่ได้พึ่งพาโรงเรียนโดยตรง แต่เทคโนโลยีที่มีอยู่ในโรงเรียนก็เป็นตัวชี้บอกถึงความพร้อมต่อการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง จากการสอบถามผู้บริหารโรงเรียนใน PISA 2018 พบว่า โรงเรียนในประเทศไทย มีคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนกลุ่มอายุ 15 ปี ใช้งานสำหรับการเรียน จำนวน 1 เครื่องต่อนักเรียนประมาณ 3 คน แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเช่นนี้ นอกจากจะต้องคำนึงถึงจำนวนของคอมพิวเตอร์ที่เพียงพอแล้ว การที่โรงเรียนมีคอมพิวเตอร์แบบพกพาจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและครูมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลของ PISA 2018 พบว่า ในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ และประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย มีคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเป็นแบบพกพามากกว่า 90% ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่มีคอมพิวเตอร์แบบพกพาในโรงเรียนประมาณ 30% แต่มีอยู่หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่มีคอมพิวเตอร์แบบพกพาในโรงเรียนเพียง 10% ซึ่งส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนที่มีสถานะได้เปรียบจะมีคอมพิวเตอร์แบบพกพามากกว่าโรงเรียนที่มีสถานะด้อยเปรียบ ดังนั้น การที่โรงเรียนของไทยจะสนับสนุนการเรียนผ่านระบบออนไลน์แก่นักเรียนอาจทำได้อย่างจำกัด

นอกจากนี้ การเรียนรู้ของนักเรียนในช่วงที่มีการปิดโรงเรียนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ยังขึ้นอยู่กับครูผู้สอนว่าสามารถติดต่อสื่อสารกับนักเรียนได้อย่างใกล้ชิดเพียงใด โดยเฉพาะกับกลุ่มนักเรียนที่ด้อยเปรียบซึ่งอาจขาดการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ขาดความกระตือรือร้น ขาดความยืดหยุ่นในการปรับวิธีการเรียนรู้ และขาดการควบคุมตัวเองให้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ครูจึงควรให้ความสำคัญกับนักเรียนกลุ่มนี้เป็นอันดับแรกและควรให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จากผลการประเมิน PISA 2018 พบว่า ยังมีนักเรียนเพียงส่วนน้อย (ค่าเฉลี่ยประเทศสมาชิก OECD ประมาณ 11%) ที่มีสมรรถนะการอ่านในระดับสูง ในสมรรถนะระดับนี้นักเรียนจะสามารถแยกแยะความแตกต่างของข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นที่ไม่ได้ระบุให้เห็นอย่างเด่นชัดในแหล่งข้อมูลหรือสื่อต่าง ๆ ซึ่งความสามารถดังกล่าวจำเป็นต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ เพื่อที่จะประเมินข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายบนโลกออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น หากให้นักเรียนส่วนใหญ่เข้าสู่โลกของการเรียนผ่านระบบออนไลน์ด้วยตนเอง โดยไม่มีครูเป็นผู้คอยชี้แนะหรือให้ความช่วยเหลือนั้นคงประสบความสำเร็จได้ยากยิ่ง เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ยังแยกแยะข้อมูลต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ไม่ดีนัก

ความพร้อมด้านการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลของครูและโรงเรียน

PISA 2018 ได้มีการสอบถามผู้บริหารโรงเรียนถึงขีดความสามารถในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนในแง่มุมต่าง ๆ รวมทั้งได้สอบถามถึงความสามารถของโรงเรียนในการเข้าถึงแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบออนไลน์ด้วย โดยเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศสมาชิก OECD แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารโรงเรียนของไทยมองว่าครูและโรงเรียนค่อนข้างมีความพร้อมสำหรับการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการเรียนการสอนแบบออนไลน์เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิก OECD ดังรูป 2


รูป 2 ร้อยละของนักเรียนไทยที่อยู่ในโรงเรียนที่ผู้บริหารโรงเรียนรายงานเกี่ยวกับความพร้อมด้านการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลของครูและโรงเรียน


สำหรับประเทศไทย แม้ว่าข้อมูลของ PISA จะแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้บริหารโรงเรียนมีความคิดเห็นว่าครูและโรงเรียนมีความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลเป็นไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม ในบริบทของนักเรียน ก็ยังพบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ดิจิทัล การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่บ้านซึ่งยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการเรียนรู้แบบออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนที่ด้อยเปรียบซึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนจากที่บ้าน ดังนั้น ระบบการศึกษาจึงควรคำนึงถึงนักเรียนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ และต้องมีมาตรการที่ช่วยให้การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อทำให้นักเรียนไทยทุกคนได้เข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน

ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตการณ์ COVID-19 แม้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นดั่งความหวังที่ช่วยให้นักเรียนยังคงได้รับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ แต่ระบบการศึกษาต้องคำนึงอย่างมากว่า การใช้เทคโนโลยีจะไม่ทำให้ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพยิ่งขยายวงกว้างขึ้น และยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของการใช้งานที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ของครูและนักเรียน รวมไปถึงความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย

เมื่อต้องปิดโรงเรียนภายใต้วิกฤตการณ์ COVID-19!!

OECD ได้สำรวจข้อมูลจากประเทศต่าง ๆ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาตอบแบบสอบถามว่า แต่ละประเทศดำเนินการอย่างไรเมื่อต้องปิดโรงเรียนจากวิกฤตการณ์ COVID-19 (OECD, 2020b) ซึ่งพบว่า ประเทศต่าง ๆ มีแนวทางในการรับมือกับวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่แตกต่างกันไปตามบริบทของประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือของส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับโรงเรียน ดังตัวอย่างเช่น

ระดับนโยบาย

  • พัฒนาและส่งเสริมการใช้งานแพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ที่เป็นศูนย์รวมของทั้งการจัดห้องเรียน พื้นที่ทำกิจกรรม พื้นที่สำหรับส่งงาน รวมทั้งการติดต่อสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนและนักเรียนด้วยกันเอง
  • นำทรัพยากรการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการอ่านและการเรียนการสอนเข้าสู่ระบบออนไลน์ และประชาสัมพันธ์วิธีเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้เหล่านี้ผ่านทางโทรทัศน์ เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์
  • ถ่ายทอดรายการเพื่อการศึกษาผ่านโทรทัศน์เพื่อเน้นความสำคัญของ “การศึกษาที่บ้าน” และให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง
  • หาแนวทางจูงใจให้นักเรียนอยากเข้ามาเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์หรือระบบการเรียนการสอนทางไกลด้วยการเรียนกับครูหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง
  • จัดทำแนวปฏิบัติเพื่อการสนับสนุนการเรียนการสอนแบบออนไลน์แก่สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
  • หน่วยงานการศึกษาระดับชาติเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่โรงเรียนต่าง ๆ ในการวางแผนจัดการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นเพื่อความยืดหยุ่นด้านการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน
  • จัดทำความร่วมมือร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลเพื่อจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ
  • ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มที่ยากจน เช่น การจัดส่งหนังสือและอุปกรณ์การเรียนและอาหารไปยังที่บ้านของนักเรียน

ระดับโรงเรียน

  • สนับสนุนครูให้สามารถทำงานร่วมกัน และจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดหาเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคเพื่อคอยให้การช่วยเหลือทางด้านเทคนิค
  • ออกแนวปฏิบัติเพื่อให้ครูมีแนวทางในการดูแลนักเรียนทั้งในเรื่องของการเรียนรู้และความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน
  • จัดทำคู่มือสำหรับผู้ปกครองเพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุนกิจกรรมและการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์และระบบทางไกล

อ่านเพิ่มเติม

  • OECD (2020a), Learning remotely when schools close: How well are students and schools prepared? Insights from PISA, PISA, OECD Publishing, Paris.
  • OECD (2020b), A framework to guide an education response to the COVID-19 Pandemic of 2020, PISA, OECD Publishing, Paris.

ดาวน์โหลด (PDF, 709KB)