- ระบบโรงเรียนในแต่ละประเทศใช้เวลาเรียนแตกต่างกัน ในบางประเทศใช้เวลาเรียนน้อย เช่น ฟินแลนด์ เยอรมนี สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และอุรุกวัย ซึ่งนักเรียนใช้เวลาเรียนปกติในโรงเรียนและนอกเวลาเรียนรวมกันน้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่บางประเทศ/เขตเศรษฐกิจ เช่น จีนสี่มณฑล (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และกวางตุ้ง) กาตาร์ ไทย ตูนิเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นักเรียนใช้เวลาเรียนรวมอย่างน้อย 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- คะแนนจากการประเมิน PISA ของนักเรียนในออสเตรเลีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ มีความสมดุลกับเวลาเรียนรวม หรือได้เปรียบด้านเวลาเพราะใช้เวลาเรียนน้อยแต่นักเรียนได้คะแนนสูง
- ในหลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่นักเรียนใช้เวลาเรียนมาก เช่น สิงคโปร์ จีนสี่มณฑล ฮ่องกง(จีน) จีนไทเป เกาหลี มาเก๊า(จีน) แคนาดา และไอร์แลนด์ มีคะแนนวิทยาศาสตร์สูงซึ่งสมดุลกับเวลาเรียนที่ใช้ แต่หลายประเทศใช้เวลาไม่คุ้มค่าเพราะใช้เวลาเรียนมากแต่นักเรียนก็ยังมีคะแนนไม่สูง เช่น ไทย สหพันธรัฐรัสเซีย ชิลี กาตาร์ โคลอมเบีย เม็กซิโก คอสตาริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เวลาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเรียน ทั้งครูและนักเรียนต้องการเวลาเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ครอบคลุมหลักสูตร สอนซ้ำเพื่อทบทวน ให้และรับข้อมูลป้อนกลับ และทำกิจกรรมภาคปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มเวลาเรียนเพียงอย่างเดียว โดยขยายเวลาเรียนต่อวันให้มากขึ้นหรือลดเวลาพักให้น้อยลงนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นจนมีคำถามเกิดขึ้นว่า การเพิ่มเวลาเรียนจะทำให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นหรือจะทำให้นักเรียนเกิดความเหน็ดเหนื่อยหรือเบื่อหน่ายมากกว่ากัน ใน PISA 2015 ได้สอบถามข้อมูลจากนักเรียนถึงจำนวนนาทีในหนึ่งคาบเรียน จำนวนคาบเรียนรวมทุกวิชาต่อหนึ่งสัปดาห์ และจำนวนคาบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาภาษา (ภาษาที่ใช้เป็นหลักในการเรียนการสอน) ในหนึ่งสัปดาห์ และยังได้สอบถามนักเรียนถึงจำนวนชั่วโมงที่ต้องเรียนเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เรียนในเวลาเรียนปกติ ทั้งในวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาภาษา (ภาษาที่ใช้เป็นหลักในการเรียนการสอน) วิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาอื่น ๆ (เช่น ศิลปะ ประวัติศาสตร์ ดนตรี และพลศึกษา เป็นต้น) รวมถึงเวลาที่ใช้ทำการบ้าน เรียนเพิ่มเติม และเรียนพิเศษส่วนตัว
จำนวนชั่วโมงเรียนและการจัดสรรเวลาเรียนแต่ละวิชาที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ
โดยเฉลี่ยนักเรียนมีเวลาทั้งหมดที่สามารถใช้ในการเรียนประมาณสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมง ทั้งนี้ ไม่นับรวมวันหยุดสุดสัปดาห์และเวลานอนตามปกติ (วันละ 8 ชั่วโมง) นักเรียนในประเทศสมาชิก OECD รายงานว่า ใช้เวลาเรียน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (รวมเวลาทำการบ้าน เรียนเพิ่มเติม และเรียนพิเศษส่วนตัว) นั่นคือประมาณ 55% ของเวลาที่นักเรียนมีทั้งหมด ในขณะที่นักเรียนบางประเทศ/เขตเศรษฐกิจ เช่น จีนสี่มณฑล กาตาร์ ตูนิเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย ใช้เวลาเรียนอย่างน้อย 65% ของเวลาที่นักเรียนมี แต่บางประเทศ เช่น ฟินแลนด์ เยอรมนี สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และอุรุกวัย นักเรียนใช้เวลาเรียนน้อยกว่าครึ่งของเวลาที่นักเรียนมีทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างในด้านการใช้เวลาที่เกิดขึ้นนี้ส่วนมากไม่ได้อธิบายได้ด้วยเวลาเรียนตามตารางเรียนปกติ แต่อธิบายได้ด้วยความความแตกต่างของเวลาที่นักเรียนใช้ในการเรียนนอกเวลา ซึ่งรวมทั้งเวลาทำการบ้าน เรียนเพิ่มเติม และเรียนพิเศษส่วนตัว ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างเรื่องเวลาเรียนของนักเรียนจากสองประเทศที่มีเวลาเรียนสูงที่สุดกับต่ำที่สุด กล่าวคือ นักเรียนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ใช้เวลาเรียนต่อสัปดาห์มากที่สุด (58 ชั่วโมง) และนักเรียนในฟินแลนด์ใช้เวลาเรียนต่อสัปดาห์น้อยที่สุด (36 ชั่วโมง) โดยที่เวลาเรียนปกติในโรงเรียนของนักเรียนจากสองประเทศนี้ใช้เวลาต่างกันเพียง 5 ชั่วโมง แต่นักเรียนในสหรัฐ-อาหรับเอมิเรตส์ใช้เวลาเรียนนอกเวลามากกว่านักเรียนฟินแลนด์ถึงประมาณ 17 ชั่วโมง
ในขณะที่ระดับนโยบายยังคงเน้นแนวปฏิบัติแบบดั้งเดิม คือ การให้ความสำคัญที่จำนวนชั่วโมงเรียนที่นักเรียนใช้เรียนวิชาตามตารางเรียนปกติ แต่จากข้อมูลพบว่า เวลาที่นักเรียนใช้เรียนนอกเวลาก็เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะมีความแตกต่างกันมากกว่า ทั้งในระดับนักเรียน โรงเรียน และระบบโรงเรียน แม้แต่เวลาที่กำหนดตามตารางเรียนสำหรับวิชาต่าง ๆ ก็แตกต่างกันในแต่ละระบบ เช่น จีนสี่มณฑล ชิลี สหพันธรัฐรัสเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวลาเรียนที่จัดสรรให้กับวิชาวิทยาศาสตร์อย่างน้อยที่สุดคือ 18% ของเวลาเรียนปกติทั้งหมด ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ที่มีเวลาเรียนที่จัดสรรให้กับวิชาวิทยาศาสตร์ 13% ของเวลาเรียนปกติทั้งหมด ส่วนลำดับความมากน้อยของเวลาที่ให้กับวิชาต่าง ๆ ในแต่ละระบบโรงเรียนก็ต่างกัน ในประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่ร่วมโครงการ PISA เช่น แคนาดา ชิลี และเดนมาร์ก ได้จัดสรรเวลาเรียนให้กับวิชาภาษา (ภาษาที่ใช้เป็นหลักในการเรียนการสอน) มากเป็นอันดับหนึ่ง ในแคนาดา ชิลี และเปรู แบ่งเวลาส่วนใหญ่ให้วิชาคณิตศาสตร์ แต่เกาหลี ไอร์แลนด์ และมอนเตเนโกร จัดสรรเวลาเรียนให้กับวิชาอื่น ๆ มากกว่า เป็นต้น
เวลาเรียนเท่าใดจึงจะเหมาะสม
ในการพิจารณาว่า ควรจัดสรรเวลาเรียนให้กับวิชาหลักแต่ละวิชา เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาภาษา (ภาษาที่ใช้เป็นหลักในการเรียนการสอน) และวิชาอื่น ๆ เป็นจำนวนเวลาเท่าใดจึงจะเหมาะสม พบว่า ในบางระบบโรงเรียนให้ความสำคัญกับวิชาหลักมากกว่าการให้ความสำคัญกับทุกวิชาเท่า ๆ กัน เช่น นักเรียนชิลีซึ่งใช้เวลาเรียนถึง 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เวลาเรียนส่วนใหญ่ (62%) ถูกจัดให้เรียนวิชาหลัก ส่วนวิชาอื่น ๆ เหลือเวลาให้เรียนน้อย (38%) และมีเพียงสี่ระบบโรงเรียนเท่านั้นที่นักเรียนรายงานว่า ใช้เวลาเรียนในการเรียนวิชาหลักเท่า ๆ กับการเรียนวิชาอื่น คือ แคนาดา (55%) สิงคโปร์ (52%) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (52%) และจีนสี่มณฑล (50%)
การใช้เวลาเรียนมากจะทำให้มีผลการเรียนดีใช่หรือไม่
วิธีการหนึ่งที่จะประเมินประสิทธิภาพของการจัดการศึกษา คือ พิจารณาเรื่องเวลาเรียนที่นักเรียนใช้กับผลการเรียนที่ได้ ซึ่งดูจากผลการประเมินแล้วพิจารณาค่าอัตราส่วนระหว่างคะแนนต่อเวลาที่ใช้เรียน ซึ่งอัตราส่วนนี้ถือว่าเป็นตัวชี้วัดถึงประสิทธิภาพของการจัดการของระบบการศึกษาตัวหนึ่ง
โดยมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การมีชั่วโมงเรียนมากไม่ได้ประกันว่าจะนำไปสู่ผลการเรียนที่ดีกว่าเสมอไป จากผลการประเมิน PISA พบว่า บางประเทศแสดงให้เห็นว่ามีความสมดุลระหว่างเวลาเรียนกับผลการประเมิน เช่น ออสเตรเลีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งนักเรียนมีคะแนนวิทยาศาสตร์เท่ากับหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD แต่ไม่ได้ใช้เวลาเรียนมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเวลาเรียนปกติในโรงเรียนหรือนอกเวลาเรียนเมื่อเทียบกับนักเรียนจากระบบโรงเรียนในประเทศอื่น ๆ ระบบโรงเรียนของประเทศเหล่านี้จึงมีค่าอัตราส่วนระหว่างคะแนนวิทยาศาสตร์ต่อเวลาเรียนรวมสูง เช่น ฟินแลนด์ เยอรมนี และญี่ปุ่น เป็นต้น
ในบางระบบการศึกษาซึ่งส่วนมากอยู่ในเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีนสี่มณฑล ฮ่องกง(จีน) เกาหลี สิงคโปร์ และจีนไทเป ซึ่งนักเรียนในระบบการศึกษาเหล่านี้มีคะแนนวิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD แต่นักเรียนในประเทศ/เขตเศรษฐกิจเหล่านี้ใช้เวลาเรียนในแต่ละวันยาวนานมาก ซึ่งถือว่ามีความคุ้มค่าระหว่างการใช้เวลาเรียนกับผลการเรียนที่เกิดขึ้น
รูป 1* เวลาเรียนกับคะแนนวิทยาศาสตร์
ที่มา: PISA in Focus, No. 73, https://doi.org/10.1787/744d881a-en.
ตรงกันข้ามกับระบบโรงเรียนในอีกหลายประเทศที่นักเรียนใช้เวลาเรียนยาวนาน แต่มีผลการประเมินต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในระบบโรงเรียนเหล่านี้อัตราส่วนระหว่างคะแนนวิทยาศาสตร์กับเวลาเรียนรวมมีค่าต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ เช่น ชิลี คอสตาริกา มอนเตเนโกร เปรู กาตาร์ ไทย ตุรกี สาธารณรัฐโดมินิกัน ตูนิเชีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อัตราส่วนระหว่างคะแนน PISA กับเวลาเรียนที่นักเรียนใช้ ถือว่าเป็นตัวชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของเวลาเรียนในแต่ละระบบการศึกษา ซึ่งความแตกต่างนั้นอาจมาจากสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น ในบางระบบการศึกษา นักเรียนอายุ 15 ปี อาจชดเชยเวลาเรียนที่ใช้เรียนมากมาตั้งแต่ระดับชั้นต้น ๆ ของการเรียนจึงใช้เวลาเรียนน้อยลงในระดับชั้นที่สูงขึ้น หรือในบางระบบนักเรียนต้องการความสำเร็จอย่างมากจึงต้องใช้เวลานานในการคิดหรือการทบทวนวิชาซ้ำ ๆ หรือเพราะไม่มีโอกาสเรียนพิเศษนอกเวลาจึงต้องเรียนอย่างหนักด้วยตนเอง หรืออาจเป็นไปได้ว่านักเรียนหาวิธีการเรียนรู้เพิ่มเติมจากสมาชิกในครอบครัวหรือจากเพื่อน ๆ นอกจากการเรียนในโรงเรียนอีกด้วย
การเพิ่มเวลาเรียน
ผลการศึกษาพบว่า การเพิ่มเวลาเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มีความเชื่อมโยงกับคะแนนวิทยาศาสตร์ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในระบบโรงเรียนมีนักเรียนที่ใช้เวลาเรียนวิทยาศาสตร์น้อย ในทางกลับกัน การใช้เวลานอกเวลาเรียนไม่เป็นผลดีต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ โดยพบว่า เมื่อมีการใช้เวลาเรียนนอกเวลาเพิ่มขึ้นทุก 1 ชั่วโมง คะแนนวิทยาศาสตร์จะลดลง 20 คะแนน (OECD, 2017) ข้อมูลจากผลการศึกษานี้ทำให้สามารถบอกได้ว่าเวลาเรียนปกติในห้องเรียนมีประสิทธิภาพมากกว่าเวลาที่ใช้ในการเรียนนอกเวลา อย่างไรก็ตาม นักเรียนในระบบโรงเรียนที่มีผลการประเมินต่ำก็ยังจำเป็นต้องเรียนหรือร่วมในกิจกรรมการเรียนนอกเวลาเรียนมากกว่านักเรียนในระบบโรงเรียนที่มีผลการประเมินสูง ทั้งนี้เพื่อทำให้มีผลการเรียนใกล้เคียงกัน
เวลาเรียนของนักเรียนไทย
นักเรียนไทยใช้เวลาเรียนมากทั้งในเวลาเรียนปกติในโรงเรียนและนอกเวลาเรียนซึ่งเกือบจะมากกว่านักเรียนจากทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ แม้แต่นักเรียนเกาหลีที่ได้ชื่อว่าใช้เวลาเรียนมากยังใช้เวลาเรียนน้อยกว่านักเรียนไทย โดยเวลาเรียนปกติในโรงเรียนและนอกเวลาเรียนของนักเรียนฟินแลนด์ เกาหลี และไทย แสดงดังภาพ (OECD, 2016)
สำหรับเวลาเรียนของสามวิชาหลัก (วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย) พบว่า นักเรียนไทยใช้เวลากับการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สูงที่สุด (4.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และในลำดับต่อมาเรียนวิชาคณิตศาสตร์ (3.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และวิชาภาษาไทย (2.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ตามลำดับ แม้แต่การใช้เวลาเรียนนอกเวลา สัดส่วนการให้เวลาเรียนในสามวิชาหลักก็เป็นลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ วิทยาศาสตร์ (5.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) คณิตศาสตร์ (4.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และภาษาไทย (3.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ตามลำดับ
ข้อมูลชี้ว่า นักเรียนไทยใช้เวลาเรียนมากกว่านักเรียนในอีกหลายประเทศและให้เวลากับวิชาวิทยาศาสตร์มากกว่าวิชาอื่น ๆ ทั้งในเวลาเรียนปกติและนอกเวลาเรียน อีกทั้งเวลารวมที่ใช้กับทุกวิชาทั้งในและนอกเวลาก็จัดอยู่ในกลุ่มระบบโรงเรียนที่ใช้เวลาเรียนมาก แต่ผลการประเมินชี้ว่า นักเรียนไทยยังคงอยู่ห่างไกลจากค่าเฉลี่ย OECD ซึ่งทำให้อัตราส่วนระหว่างคะแนนต่อเวลาเรียนรวมมีค่าต่ำแสดงนัยถึงการใช้เวลาที่ยังไม่คุ้มค่าและชี้ถึงประสิทธิภาพของการจัดการของระบบโรงเรียนด้วย
แม้จะบอกอย่างชัดเจนไม่ได้ว่า นักเรียนควรใช้เวลาเรียนเท่าใด แต่ก็พบข้อมูลว่า นักเรียนส่วนมากใช้เวลามากเกินไปในการเรียนนอกเวลาเรียน ซึ่งการเรียนหรือหาความรู้เพิ่มเติมหลังเวลาเรียนปกติไม่เพียงแสดงถึงความไม่เท่าเทียมเท่านั้นหากยังเป็นวิธีการเข้าถึงมาตรฐานการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าการเรียนในเวลาปกติอีกด้วย เพื่อช่วยให้นักเรียนหลีกเลี่ยงการใช้เวลาเรียนในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมสำหรับการทำการบ้าน การเรียนเพิ่มเติม และการเรียนพิเศษส่วนตัว ซึ่งในระดับนโยบาย โรงเรียน ครู พ่อแม่ และนักเรียนควรจะเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นในการทำให้นักเรียนเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพในเวลาเรียนปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนไทยที่ใช้เวลาเรียนพิเศษนอกเวลาสูงมาก ระดับนโยบายจึงควรลดเวลาทำการบ้านหรืองานที่ครูมอบหมายลงเพื่อให้นักเรียนมีเวลาสังเคราะห์และซึมซับสาระที่ได้เรียนในห้องเรียน และพิจารณาการเรียนพิเศษนอกเวลาซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาและไม่ส่งผลทางบวกต่อผลสัมฤทธิ์
อ่านเพิ่มเติม
- OECD (2016), PISA 2015 Results (Volume II): Policies and Practices for Successful Schools, PISA, OECD Publishing, Paris.
- OECD (2017), Do students spend enough time learning?, PISA in Focus, No. 73, OECD Publishing, Paris, (Online), https://doi.org/10.1787/744d881a-en, Retrieved September 16, 2019.
ดาวน์โหลด (PDF, 1MB)