เพราะเหตุใดผู้หญิงจึงทำงานด้านวิทยาศาสตร์น้อยกว่าผู้ชาย

  • นักเรียนชายมีผลการประเมินวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียนหญิงใน 22 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ และนักเรียนหญิงมีผลการประเมินวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียนชายใน 19 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ แต่ใน 65 จาก 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมโครงการ นักเรียนชายมีจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าด้านการอ่านและคณิตศาสตร์
  • นักเรียนชายแสดงว่ามีความมั่นใจเมื่อเรียนวิทยาศาสตร์มากกว่านักเรียนหญิงใน 39 ประเทศ และสนใจหัวข้อเรื่องต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์มากกว่านักเรียนหญิงใน 51 ประเทศ
  • นักเรียนชายมีจุดแข็งทางวิชาการ ความมั่นใจ และความสนใจวิทยาศาสตร์มากกว่า ประเด็นนี้จึงมีความเกี่ยวโยงไปถึงจำนวนของนักเรียนหญิงที่จบการศึกษาทางด้าน STEM ที่มีน้อยกว่า

 
เมื่อข้อมูลใหม่ของ PISA ได้เผยแพร่ออกมา นักวิจัยทั่วโลกต่างวิเคราะห์ข้อมูลด้วยจุดประสงค์ที่จะทำให้เกิดความกระจ่างในข้อสงสัยต่าง ๆ ที่มี หนึ่งในนั้นคือการหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดผู้หญิงจึงประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM น้อยกว่าผู้ชาย ซึ่ง Gijsbert Stoet และ David Geary (OECD, 2019) ได้ทำการวิจัยเพื่อตรวจสอบช่องว่างของความแตกต่างระหว่างเพศในสาขาเหล่านี้ โดยใช้ข้อมูลดัชนีความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (The Global Gender Equality Index) สัดส่วนของผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับปริญญาทางด้าน STEM และข้อมูลจาก 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจใน PISA 2015 (รายละเอียดตามกรอบสีเทา) ซึ่งการวิเคราะห์ของนักวิจัยได้สาระที่น่าสนใจดังนี้

ช่องว่างระหว่างเพศในการเรียนทางด้าน STEM ที่ปรากฏเด่นชัดในกลุ่มนักเรียนวัย 15 ปี

จาก 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ใน PISA 2015 นักเรียนหญิงมีคะแนนวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียนชายใน 19 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ในขณะที่นักเรียนชายมีคะแนนวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียนหญิงใน 22 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ นอกนั้นในประเทศอื่น ๆ นักเรียนชายและนักเรียนหญิงแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อวิเคราะห์ช่องว่างของความแตกต่างระหว่างหญิงชายโดยดูจาก “คะแนนสัมพัทธ์” หรือ “จุดแข็งทางวิชาการ” ระหว่างสามวิชาหลัก (วิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์) นักวิจัยพบว่า นักเรียนหญิงมีจุดแข็งทางด้านการอ่านในทุกประเทศ ส่วนนักเรียนชายมีจุดแข็งทางด้านคณิตศาสตร์ในทุกประเทศ และมีจุดแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์ใน 65 จาก 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ในสามวิชาหลักนักเรียนชายมีคะแนนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สูงกว่าการอ่าน ส่วนนักเรียนหญิงมีคะแนนการอ่านสูงกว่าอีกสองด้าน ข้อมูลเหล่านี้อาจอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดนักเรียนชายจึงเลือกเรียนทางด้าน STEM มากกว่านักเรียนหญิงถึงแม้ว่าจะมีคะแนนใกล้เคียงกันทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิง นั่นคือ นักเรียนมีแนวโน้มที่จะเลือกเรียนในด้านที่ตนเองมีความถนัดมากกว่า แม้ว่านักเรียนหญิงอาจจะมีคะแนนวิทยาศาสตร์ดีเหมือนนักเรียนชาย แต่โดยเฉลี่ยแล้วมักมีความสามารถสูงกว่าทางด้านการอ่าน

จากรูป 1 ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ประเทศที่มีความเสมอภาคระหว่างหญิงชายสูง เช่น สวีเดน และนอร์เวย์ ความแตกต่างระหว่างเพศที่นักเรียนชายมีจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์มีช่องว่างกว้างกว่าในประเทศที่มีความเสมอภาคระหว่างหญิงชายต่ำกว่า และมีจำนวนผู้หญิงที่จบปริญญาทางด้าน STEM น้อยกว่าในประเทศที่มีความเสมอภาคระหว่างหญิงชายต่ำกว่า

นักวิจัยใช้ตัวชี้วัดสามตัวในการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้

  • ดัชนีความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (ข้อมูลในปี ค.ศ. 2015) ประเมินระดับที่ผู้หญิงไม่เท่าเทียมกับผู้ชายใน 14 ตัวชี้วัด (เช่น รายได้ อัตราการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา อายุคาดเฉลี่ยของการมีชีวิต จำนวนที่นั่งในรัฐสภา เป็นต้น) ค่าดัชนีที่สูงกว่าชี้ถึงความเสมอภาคกันระหว่างหญิงชายที่สูง
  • ผู้หญิงที่จบการศึกษาทางด้าน STEM (ข้อมูลในช่วงปี ค.ศ. 2012 ถึง ค.ศ. 2015) โดยวัดจากสัดส่วนผู้หญิงที่จบการศึกษาทางด้าน STEM ในระดับมหาวิทยาลัยจากจำนวนผู้ที่จบการศึกษาทั้งหมดทางด้าน STEM
  • คะแนนสัมพัทธ์หรือจุดแข็งทางวิชาการใน PISA 2015 วัดจากคะแนนของนักเรียนในหนึ่งวิชา (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือการอ่าน) เทียบกับคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนทั้งสามวิชา นักเรียนที่มีจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์จะมีคะแนนสัมพัทธ์ในวิชานี้เป็นบวก (นั่นคือ ผลการประเมินวิทยาศาสตร์สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยสามวิชาของนักเรียนคนนั้น ๆ)

รูป 1 ความเสมอภาคและความแตกต่างระหว่างหญิงชายในจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์ 
และร้อยละของผู้หญิงที่จบการศึกษาทางด้าน STEM

ที่มา: OECD, 2019


นักเรียนชายมีความมั่นใจและความสนใจหัวข้อเรื่องต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์สูงกว่า

จากรูป 2 ข้อมูลของ PISA ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า นักเรียนชายมีการรับรู้ความสามารถของตนเองทางวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียนหญิงใน 39 จาก 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับใน 51 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่นักเรียนชายแสดงความสนใจหัวข้อเรื่องต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียนหญิง แม้ในประเทศที่มีความเสมอภาคระหว่างหญิงชายสูงยังปรากฏว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงก็มีความแตกต่างกันมาก ความแตกต่างระหว่างนักเรียนหญิงกับนักเรียนชายในด้านจุดแข็งทางวิชาการ การรับรู้ความสามารถของตนเองทางวิทยาศาสตร์ ความสนุกเพลิดเพลินและความสนใจในวิทยาศาสตร์ เหล่านี้คือคำอธิบายการขาดดุลในอัตราของผู้หญิงที่จบการศึกษาทางด้าน STEM


รูป 2 ความเสมอภาคและความแตกต่างระหว่างเพศด้านการรับรู้ความสามารถของตนเองทางวิทยาศาสตร์

ที่มา: OECD, 2019


ผู้หญิงที่คาดหวังว่าจะทำงานด้าน STEM มีจำนวนมากกว่าที่ได้ทำงานจริง

จากข้อมูล PISA 2015 พบว่า นักเรียนหญิงจำนวนมากที่มีผลการประเมินสูงทั้งสามวิชาหลัก กล่าวคือ มีคะแนนอยู่ในระดับ 4 ขึ้นไป (ค่าเฉลี่ย 49% จาก 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ) ที่คาดหวังว่าจะศึกษาต่อด้าน STEM แต่มีสัดส่วนของผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับปริญญาทางด้าน STEM ระหว่างปี ค.ศ. 2012 ถึง ค.ศ. 2015 ต่ำกว่ามาก (ค่าเฉลี่ย 28%) ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผู้วิจัยได้จำกัดกลุ่มของนักเรียนที่น่าจะจบปริญญาตรีด้าน STEM ซึ่งพิจารณาเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ สนใจวิทยาศาสตร์ และมีการรับรู้ความสามารถของตนเองทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่า มีนักเรียนหญิงที่คาดหวังว่าจะศึกษาต่อด้าน STEM เหลือเพียง 41%

ความแตกต่างระหว่างความคาดหวังกับสัดส่วนที่เกิดขึ้นจริงของผู้หญิงที่จบการศึกษาทางด้าน STEM ยิ่งลดลงไปอีก เมื่อผู้วิจัยได้จำกัดกลุ่มนักเรียนและนิยามว่า นักเรียนที่คาดว่าจะประสบความสำเร็จในหลักสูตรทางด้าน STEM ในระดับมหาวิทยาลัยเฉพาะผู้ที่มีจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สูงกว่าด้านการอ่าน และตามนิยามนี้ควรจะมีนักเรียนหญิงหนึ่งในสาม (34%) ที่ถูกคาดหวังว่าน่าจะจบปริญญาทางด้าน STEM แต่ในความเป็นจริงเกือบทุกประเทศสัดส่วนของผู้หญิงที่จบการศึกษาทางด้าน STEM ก็ยังคงต่ำกว่าที่คาดหมายไว้อยู่นั่นเอง


รูป 3 นักเรียนหญิงอายุ 15 ปี ที่อาจจะจบปริญญาทางด้าน STEM และสัดส่วนของผู้หญิงที่จบปริญญาทางด้าน STEM

ที่มา: OECD, 2019


การวิจัยของ Gijsbert Stoet และ David Geary (OECD, 2019) ชี้แนะว่า ในการเลือกอาชีพทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนอาจได้รับอิทธิพลจากความเข้าใจในจุดแข็งทางวิชาการที่ตนมีเมื่อเทียบกับวิชาอื่น ๆ และความมั่นใจกับความสนใจในวิทยาศาสตร์ว่าตนมีความสามารถทางวิทยาศาสตร์มากพอ นักเรียนหญิงที่มีความสามารถสูงมักจะแตกต่างจากนักเรียนชายที่มีความสามารถสูงตรงที่นักเรียนหญิงอาจจะไม่เลือกอาชีพทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าจะมีความสามารถพอ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในวิชาอื่น ๆ นักเรียนหญิงก็มีความสามารถสูงด้วย ดังนั้น การส่งเสริมให้นักเรียนหญิงมีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์มากขึ้น จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้หญิงทำอาชีพทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมที่จะพัฒนานักเรียนชายที่มีจุดอ่อนด้านทักษะการอ่านควบคู่กันไป

อ่านเพิ่มเติม

  • OECD (2019), Why don’t more girls choose to pursue a science career?, PISA in Focus, No. 93, OECD Publishing, Paris, (Online), https://doi.org/10.1787/02bd2b68-en, Retrieved March 18, 2019.

 ดาวน์โหลด (PDF, 1MB)