PISA มองตะวันออก

โฟกัสฉบับนี้เป็นการสรุปข้อมูลบางประเด็นจากการประชุม Raising Learning Outcomes in Southeast Asia, Insights from PISA ณ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 – 30 พฤศจิกายน 2561 เพื่อใช้สาระที่ได้เรียนรู้จาก PISA ในการยกระดับผลการเรียนรู้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย และมีวิทยากรรับเชิญจากสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้(จีน) และฟินแลนด์ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก UNESCO UNICEF SEAMEO และ OECD เข้าร่วมประชุมด้วย

จุดประสงค์หลักของการประชุมเพื่อกระตุ้นให้มีการส่งเสริมการยกระดับผลการเรียนรู้ของนักเรียนในภูมิภาคนี้ซึ่งพบว่า ส่วนมากยังมีผลการประเมินต่ำ เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และกัมพูชา ซึ่งมีเฉพาะกัมพูชาที่เพิ่งเข้าร่วมการประเมิน PISA for Development หรือ PISA-D (OECD, 2018) โดยใช้สาระข้อมูลที่ได้จากผลการประเมิน PISA ที่ผ่านมาเพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงและยกระดับคุณภาพการศึกษา และคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้จากระบบการศึกษาของประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคนี้และจากที่อื่น ๆ ด้วย

ขั้นแรกของการประชุมเริ่มด้วยการมองภาพการศึกษาของระบบในแถบเอเชียที่ประสบความสำเร็จและมีผลการประเมินอยู่ในกลุ่มคะแนนสูงสุด ได้แก่ สิงคโปร์ และเซี่ยงไฮ้(จีน) นอกจากนี้ยังมีระบบที่อยู่นอกภูมิภาคอีกประเทศหนึ่ง ได้แก่ ฟินแลนด์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ระบบการศึกษาทั้งหมดที่มาให้ข้อมูลในการประชุมนี้เป็นระบบที่มีขนาดเล็ก บทเรียนจากประเทศ/เขตเศรษฐกิจเหล่านั้นจึงยากที่ระบบการศึกษาที่มีขนาดใหญ่อย่างเช่นระบบของไทยจะนำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางประเด็นและบางแนวคิดที่สามารถนำมาพิจารณาหรือเป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการ รวมถึงปัจจัยที่อธิบายถึงความสำเร็จ และแผนหรือโครงการจะทำต่อไปในอนาคต ในที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์หลายประเด็นแต่ในโฟกัสฉบับนี้ขอจับประเด็นการจัดการทางการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เรื่องเกี่ยวกับครู

บทเรียนจากสิงคโปร์

(โดย Mr.Chern Wei Sng รองผู้อำนวยการฝ่ายหลักสูตร กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์)

Mr.Chern Wei Sng ได้ระบุว่า เป้าหมายหลักสองอย่างของการศึกษาสิงคโปร์ คือ 1) เพื่อสร้างพลังอำนาจให้นักเรียนสำหรับอนาคตให้มีชีวิตที่รุ่งเรือง และ 2) เพื่อสร้างชาติที่รุ่งเรืองและเป็นปึกแผ่น ด้วยสองจุดประสงค์นี้นักเรียนจึงถูกฝึกให้มีทักษะพื้นฐานที่เข้มแข็ง มีแรงจูงใจและแรงกระตุ้นในการเรียน รวมทั้งมีทักษะการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด นักเรียนสิงคโปร์แม้จะมาจากครอบครัวที่สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่สูง (ซึ่งโดยทั่วไปถูกคาดหวังว่ามักมีผลการเรียนต่ำ) แต่ก็มีผลการเรียนที่ดีเกินความคาดหมาย สิงคโปร์มีนักเรียนที่มีผลการประเมินต่ำจำนวนน้อยมาก ซึ่ง Mr.Chern Wei Sng กล่าวว่า ในที่สุดกลับกลายเป็นจุดอ่อนเล็ก ๆ ของสิงคโปร์ กล่าวคือ ทำให้นักเรียนต้องการแสวงหาความสมบูรณ์แบบ วิตกกังวลกลัวได้คะแนนไม่ดี และคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มคะแนนบนสุดกับคะแนนล่างสุดมีช่องว่างมากเกินไป

ปัจจัยที่เข้มแข็งที่สร้างความสำเร็จให้สิงคโปร์คือ “กระบวนการคัดเลือกครูที่เข้มงวด” และเน้นการฝึกอบรมใหม่ (re-train) อย่างมีประสิทธิภาพตลอดระยะเวลาทำงาน และครูสิงคโปร์มีเส้นทางและโอกาสการทำงานที่ดีมากเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น

บทเรียนจากเซี่ยงไฮ้(จีน)

(โดย Mr.Yongzhi Li ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาแห่งเซี่ยงไฮ้)

Mr.Yongzhi Li รายงานว่า เซี่ยงไฮ้มีนักเรียนในกลุ่มคะแนนสูงสุดมากอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งความสำเร็จนั้นก็มาจากการทำงานของครูเช่นเดียวกัน เซี่ยงไฮ้มีกระบวนการคัดเลือกครูที่มีประสิทธิภาพมาก และครูมีพันธกิจที่จะต้องฝึกอบรมและพัฒนาวิชาชีพของตนเองโดยมีครูใหญ่เป็นผู้นำในการทำพันธกิจดังกล่าวด้วยการใช้แรงจูงใจ รางวัล และค่าตอบแทนเป็นตัวนำ ครูเซี่ยงไฮ้อยู่ในระบบที่มีกฎระเบียบอย่างดีและมีการอบรมครูประจำการที่แยกตามความจำเป็นที่ครูต้องใช้ แต่เน้นอย่างมากเรื่องเครือข่ายการเรียนรู้จากเพื่อนครู ครูสามารถเดินตามสายวิชาชีพที่แตกต่างกัน มีการเลื่อนตำแหน่งวิทยฐานะจากการประเมินสมรรถนะของครู และได้รับเงินและ “เกียรติยศ” เป็นรางวัลตามผลงาน ในปัจจุบันนโยบายระดับสูงของเซี่ยงไฮ้ คือ ต้องการให้ลดการบ้านของนักเรียนซึ่งเคยมีมากมายอย่างท่วมท้น แต่ให้เพิ่มเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาในการพัฒนาผลการเรียนรู้ และเน้นว่าสิ่งที่ให้เรียนต้องมีเป้าหมายของการเรียนและมีความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต เซี่ยงไฮ้จึงพยายามมองว่าจะออกแบบการศึกษาใหม่อย่างไรที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนได้รับประสบการณ์การเรียนที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์มากที่สุด

นโยบายเกี่ยวกับครูในสองระบบของสิงคโปร์และเซี่ยงไฮ้(จีน)

มีจุดสำคัญดังนี้

ความมั่นคงในอาชีพ

เซี่ยงไฮ้กำหนดว่า ต้องมีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีและมีคะแนนสูงในการสอบครูแห่งชาติ มีผลการสัมภาษณ์ดี และมีการทดลองสอนบทเรียนจำลอง ส่วนสิงคโปร์ได้พยายามยกเลิกข้อกำหนดที่ว่าครูต้องจบปริญญา และคณะครูต้องเป็นกลุ่มของผู้มีปริญญา แต่มุ่งเน้นไปที่ทักษะของครูมากกว่าใบปริญญา ผู้สมัครเข้ามาคัดเลือกเป็นครูจะถูกสัมภาษณ์ ทดสอบแรงจูงใจ และการให้คุณค่าแก่ความเป็นครู เตรียมและสาธิตการสอน และถ้าผ่านก็จะมีการทดลองงานสามเดือนก่อนที่จะได้เป็นครู

ครูสอนพิเศษได้หรือไม่

  • สิงคโปร์ไม่สนับสนุนและพยายามลดการสอนพิเศษนอกเวลา ขณะนี้จำกัดไม่ให้สอนเกินหกชั่วโมง/สัปดาห์ และกำลังพิจารณามาตรการต่อไป
  • เซี่ยงไฮ้ห้ามครูสอนพิเศษนอกเวลาเด็ดขาด ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับหรือจำคุก
  • นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศที่ห้ามครูสอนพิเศษนอกเวลา เป็นต้นว่า เวียดนามก็มีข้อห้ามและมีบทลงโทษเช่นเดียวกัน (M.I., 2013; Khánh Dương, 2016) ส่วนเกาหลีใต้กำลังพยายามให้มีการยกเลิกการสอนพิเศษของครู (Ng Jing Yng, 2015)

การปรับปรุงประสิทธิภาพของครูและครูใหญ่

Mr.Chern Wei Sng จากสิงคโปร์กล่าวถึงนโยบายสำหรับประสิทธิภาพของครูและครูใหญ่ โดยระบุถึงสองเป้าหมายคือ เพิ่มเติมด้านประสิทธิภาพการเรียนการสอน และการสร้างความเคารพนับถือจากสาธารณะ โดยรายงานว่า ครูใหม่ ๆ มีทางเลือกสามทาง (การสอน การเป็นผู้นำหรือผู้บริหาร และการเป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโส) ต้องธำรงความสามารถในการทำงานเฉพาะหน้าและบทบาทด้านนโยบายด้วย ต้องจัดเวลาสำหรับการพัฒนาวิชาชีพของตน และครูยังถูกคาดหวังว่า ต้องมีหน้าที่ในการช่วยพัฒนาครูคนอื่น ๆ ด้วย เช่น อาจมีบทบาทในการจัดตั้งการพัฒนาครูในโรงเรียน ผลจากการวิจัย TALIS 2013 เปิดเผยว่า เกือบ 50% ของครูสิงคโปร์มีภาระในการทำวิจัยการศึกษา และเกือบ 40% ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงผู้ให้คำปรึกษาแก่ครูคนอื่น ๆ และสำหรับครูใหญ่ กุญแจสำคัญ คือ การสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกระทรวงศึกษาธิการและข้าราชการระดับสูงตลอดจนการใช้ประโยชน์จากกลุ่มโรงเรียนซึ่งเป็นการจัดตั้งเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพและการประเมินการทำงานด้วย

ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีวิธีการดำเนินการแตกต่างกัน เช่น บรูไนดารุสซาลามบอกถึงวิธีการบรรจุครูแบบใหม่ของประเทศโดยให้มีการสาธิตการสอนบทเรียนเล็ก ๆ มีการสัมภาษณ์และมีการทำสัญญาระยะสั้นกับเขตพื้นที่เป็นการเตรียมการไปก่อนที่จะมีการบรรจุถาวร ส่วนมาเลเซียเน้นที่ความสำคัญของครูใหญ่ต้องเป็นผู้นำทางการสอน ครูใหญ่ทุกคนต้องมีประสบการณ์การสอนอย่างน้อยสิบปี มีคุณวุฒิของการเป็นผู้นำซึ่งแสดงออกเชิงความคิดที่เกิดขึ้นในสัญชาตญาณหยั่งรู้เอง ความขยันหมั่นเพียร และการตื่นตัวกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา และยังต้องสร้างสรรค์จิตวิญญาณของโรงเรียน ส่วนฟิลิปปินส์ได้ใช้การให้ทุนมาดึงดูดนักศึกษาที่ได้คะแนนสูงระดับบนสุด (top) มาเข้าสู่อาชีพครู และมีการบูรณะสถาบันครูแห่งชาติขึ้นมาใหม่โดยมีการช่วยครูทำวิจัยทางออนไลน์

จากการอ้างอิงระบบของสิงคโปร์ การอภิปรายต่อเนื่องได้พิจารณาสี่ประเด็นใหญ่ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ได้แก่

  • เมื่อครูใหญ่และผู้นำด้านการสอนเป็นผู้รับผิดชอบในการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน แล้วควรจะมีใครรับผิดชอบด้านสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของครูหรือไม่ สิงคโปร์ให้ข้อมูลว่า บทบาทนี้ปกติเป็นของเจ้าหน้าที่พัฒนาบุคลากรแต่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ต้องดูแลระบบการประเมินครูเพื่อประกันว่า ครูจะมุ่งเน้นการสร้างแรงจูงใจของนักเรียนการผูกพันกับการเรียนและความก้าวหน้าของนักเรียน
  • ครูใหญ่ควรมาจากครูดีเด่นหรือไม่ สำหรับสิงคโปร์เห็นว่า ครูใหญ่ต้องมีวิสัยทัศน์และความสามารถที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญกว่าการเป็นครูดีเด่น
  • ในสายการทำงานสามสายแบบสิงคโปร์ควรจะมีความสมดุลอยู่ตรงไหนและอย่างไร จากตัวอย่างของสิงคโปร์ที่ครูมีเส้นทางวิชาชีพสามเส้นทางคือ 4,000 คนในสายครู 1,000 คนในสายผู้บริหาร และ 300 คนในสายผู้เชี่ยวชาญ จึงทำให้เกิดคำถามว่า ความสมดุลจะอยู่ ณ จุดไหน
  • ระบบการอบรมครูอย่างเป็นทางการจะสามารถเป็นจุดเกิดของความคิดและนวัตกรรมใหม่หรือไม่ เช่น ฟิลิปปินส์ เริ่มการเรียนแบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based learning) อย่างไม่เป็นทางการก่อนที่จะนำเข้าไปใช้ในโรงเรียน

บทเรียนจากฟินแลนด์

(โดย Mrs.Anneli Rautiainen หัวหน้าศูนย์นวัตกรรม ศูนย์การศึกษาแห่งชาติ)

Mrs.Anneli Rautiainen นำเสนอตัวอย่างวิวัฒนาการของการสร้างสมรรถนะของครูในฟินแลนด์ เนื่องจากฟินแลนด์มีแผนที่จะสร้างความเข้มแข็งสำหรับโรงเรียนจึงให้บทบาทสำคัญแก่ครูใหญ่ให้รับผิดชอบในเรื่องการพัฒนาวัฒนธรรมในการทำงาน โดยเน้นสร้างให้ครูกระตุ้นแรงจูงใจให้เกิดขึ้นแก่นักเรียน ส่งเสริม สนับสนุน และประเมินนักเรียน สร้างสิ่งแวดล้อมทางการเรียนเพื่อเป็นสิ่งเร้าในการเรียนและหาความท้าทายใหม่ ๆ ให้นักเรียนตลอดเวลา นักเรียนต้องเข้าใจตลอดว่า กำลังเรียนอะไร ทำไมจึงเรียน และเรียนอย่างไร สะท้อนให้เห็นความสำเร็จและความล้มเหลวของนักเรียน และตั้งจุดหมายของการเรียนใหม่ ๆ ศูนย์นวัตกรรมรับผิดชอบในการสร้างโรงเรียนให้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ครูต้องทำงานด้วยกันและร่วมกันแก้ปัญหานวัตกรรมและเปิดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้แก่ชุมชน ทั้งหมดนี้ ครูใหญ่ต้องไม่ทำตนเป็นผู้บังคับบัญชาแต่ต้องทำงานร่วมกันเหมือนในระบบนิเวศหนึ่ง ทั้งนี้ยังต้องคงค่านิยมของฟินแลนด์ คือ ความเท่าเทียม ความไว้วางใจ มนุษยธรรม และวิธีดำเนินชีวิตที่ยั่งยืนไว้ Mrs.Anneli Rautiainen ระบุว่า นั่นคือการตัดสินใจที่จะสร้างตัวแบบโรงเรียนให้เป็นแบบเดียวกันหมดทั้งประเทศและต้องการให้ครูทุกคนมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท

ตัวอย่างการทำงานของครูในฟินแลนด์นำไปสู่การอภิปรายที่น่าสนใจหลายประเด็น เป็นต้นว่า

  • ฟินแลนด์มีการประเมินผลนักเรียนน้อยมาก ไม่มีการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ไม่มีการสอบระดับชาติ โรงเรียนอาจมีการประเมินผลบ้างพอเป็นตัวอย่างแต่ไม่มีการประกาศชื่อนักเรียนในผลการสอบ
  • การประกันคุณภาพครูทำโดยการประเมินตนเองในทุกระดับ
  • การศึกษาด้านอาชีวศึกษาในฟินแลนด์มีชื่อเสียงและมีประสิทธิภาพ
  • การพัฒนาหลักสูตรมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย รัฐสภามีการตัดสินเรื่องชั่วโมงเรียนในแต่ละวิชา โดยหลักสูตรมีองค์ประกอบทั้งในส่วนระดับชาติและส่วนของเทศบาลเมือง และถ้าในเมืองใหญ่หลักสูตรยังมีส่วนของโรงเรียนเองอีกด้วย
  • มาเลเซียมีความเห็นว่า น่าจะเรียนรู้จากตัวอย่างของฟินแลนด์ที่เน้นเรื่องทักษะทางสังคมและทางอารมณ์ของผู้เรียน และหลักสำคัญที่รวมเอาด้านความเท่าเทียมกันและหลักสูตรที่เป็นพหุวิชา แต่การสร้างครูให้มีความรับผิดชอบเท่าครูฟินแลนด์ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย
  • บรูไนดารุสซาลามเชื่อว่า การวางระบบโรงเรียนตามแบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้วอาจไม่ได้ผลเสมอไปในอนาคต แต่ควรจะมองไปที่จุดเริ่มต้นเช่นเมื่อสามสิบปีที่แล้วเขาเป็นอย่างไร มีอะไรนำมาสู่ความสำเร็จ [อีกนัยหนึ่ง ตามความคิดเห็นของผู้เขียนอาจตีความว่า บรูไนดารุสซาลามเห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีช่วงเวลาห่างจากฟินแลนด์สามสิบปี]
  • สำหรับไทยมีความเห็นว่า เนื่องจากฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก โรงเรียนมีขนาดเล็ก ชั้นเรียนเล็ก และมีครูชั้นเลิศ จึงยากที่ไทยจะเลียนแบบได้ แต่ที่น่าประทับใจคือ แม้ว่าฟินแลนด์จะได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นตลอดเวลา

เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ได้เห็นตัวอย่างจากระบบการศึกษาที่มีความคล้ายคลึงกับไทยในแง่ของประชากร และจำนวนนักเรียนและโรงเรียน เช่น เกาหลี และเวียดนาม ว่าประเทศเหล่านั้นมีปัจจัยใดนำไปสู่ความสำเร็จ แต่ในประเด็นเรื่องครู Andreas Schleicher แห่ง OECD ได้ให้ข้อสังเกตในประเด็นเกี่ยวกับครูว่า สิงคโปร์ได้สร้างแนวทางไว้ดีที่มีการเน้นเรื่องของแรงจูงใจให้ครูสร้างผลงานระดับคุณภาพสูงมากกว่าจะหยิบยกเรื่องคุณภาพต่ำมาเป็นประเด็น และระบบการประเมินครูนั้นเห็นว่า เป็นการส่งเสริมให้ครูพัฒนาวิชาชีพของตนอย่างแท้จริงทั้งระบบของสิงคโปร์และเซี่ยงไฮ้เหมาะที่จะเป็นสิ่งท้าทายสำหรับการพัฒนาของระบบอื่นในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 825KB)