ประเทศใดสามารถทำให้เด็กด้อยโอกาสประสบความสำเร็จ

  • นักเรียนส่วนใหญ่ที่มีผลการประเมินต่ำมักมาจากครอบครัวที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังมีนักเรียนด้อยโอกาสกลุ่มหนึ่ง (มากกว่าหนึ่งในสี่) ที่มาจากครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่ม 25% ล่าง หรือเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดของประเทศ แต่มีผลการประเมินสูงอย่างพลิกความคาดหมาย
  • มีหลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่สามารถทำให้นักเรียนด้อยโอกาสมากกว่า 30% มีผลการประเมินสูงอย่างพลิกความคาดหมาย ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ เยอรมนี ฮ่องกง(จีน) ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ สโลวีเนีย และเวียดนาม
  • ระบบการศึกษาและระบบโรงเรียนที่ทำให้นักเรียนด้อยโอกาสสามารถพลิกความคาดหมายได้นั้นมีลักษณะบางประการร่วมกัน ลักษณะที่สำคัญที่สุดอันดับแรก คือ มีบรรยากาศทางระเบียบวินัยที่ทำให้นักเรียนสนใจการเรียนและทำให้ครูสอนได้อย่างราบรื่น

บางประเทศทำได้ดีกว่าหลายประเทศในการช่วยให้นักเรียนด้อยโอกาสประสบความสำเร็จ

ข้อมูลจาก PISA 2015 แสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD นักเรียนสามในสี่จากกลุ่มด้อยโอกาสที่มาจากครอบครัวที่อยู่ส่วนต่ำสุดของสเกลสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (หรือกลุ่ม 25% ล่างของสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม) มีผลการประเมินอย่างดีที่สุดเพียงถึงระดับพื้นฐาน (หรือระดับ 2) เท่านั้น ในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจ เช่น แคนาดา เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ เยอรมนี ฮ่องกง(จีน) ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ สโลวีเนีย และเวียดนาม มีนักเรียนมากกว่า 30% จากกลุ่มภูมิหลังด้อยเปรียบที่มีคะแนนในการประเมิน PISA 2015 ถึงระดับ 3 ทุกวิชา นักเรียนกลุ่มนี้จึงเรียกว่า เป็นนักเรียนที่ “พลิกความคาดหมายทางวิชาการ” เพราะตามภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนแล้วนักเรียนน่าจะมีผลการประเมินต่ำ แต่กลับมีผลการประเมินสูงอย่างพลิกความคาดหมาย (ในรายงานภาษาอังกฤษ เรียกนักเรียนกลุ่มนี้ว่า Resilient)

เมื่อเทียบมาตรสากลระหว่างชาติด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ปรากฏว่าใน 20 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยเปรียบมากที่สุดในประเทศหนึ่งกลับมีผลการประเมินสูงกว่านักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มสูงสุดจากประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเมื่อเทียบกับนักเรียนจากทุกประเทศในโครงการ นักเรียนเวียดนามที่จัดเป็นกลุ่มด้อยเปรียบคิดเป็นสัดส่วนถึง 80.4% ดังนั้น ถ้าคิดเทียบจากนักเรียนทั้งหมดในโครงการแล้ว นักเรียน 30.6% ของเวียดนามเป็นกลุ่มพลิกความคาดหมายทางวิชาการ ในขณะที่นักเรียนจากประเทศคะแนนต่ำมากส่วนหนึ่ง (ได้แก่ แอลจีเรีย โดมินิกัน โคโซโว เปรู และตูนิเซีย) มีนักเรียนในกลุ่มด้อยเปรียบที่พลิกความคาดหมายและมีผลการประเมินถึงระดับ 3 เพียงไม่เกิน 1% สำหรับนักเรียนไทยมีกลุ่มที่พลิกความคาดหมายทางวิชาการประมาณ 4.4%

นักเรียนที่ระดับ 3 โดยรวมสามารถสร้างความหมายจากข้อความหรือมีความเข้าใจในรายละเอียดจากสาระต่าง ๆ ของข้อมูลที่เป็นอิสระจากกันในการอ่าน สามารถใช้ความสัมพันธ์เชิงสัดส่วน ตีความและใช้ความเป็นเหตุเป็นผล เมื่อแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และสามารถจัดการกับหัวข้อใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ใช้ความรู้ที่ค่อนข้างซับซ้อนทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งแสดงว่ามีทักษะพื้นฐานที่เพียงพอสำหรับความสำเร็จทั้งด้านการเรียนและการใช้ชีวิตในภายภาคหน้า

สัดส่วนนักเรียนที่พลิกความคาดหมายทางวิชาการในแต่ละประเทศสะท้อนถึงความแตกต่างของบริบทในแต่ละประเทศ ในประเทศคะแนนต่ำก็มีสัดส่วนของนักเรียนที่พลิกความคาดหมายต่ำ และความแตกต่างนี้ก็ยังสะท้อนถึงความไม่เสมอภาคของการกระจายความเป็นธรรมทางการศึกษา ตัวอย่างเช่น ในเดนมาร์กและสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีนักเรียน 49% มีคะแนนที่ระดับ 3 ขึ้นไปเท่า ๆ กัน แต่เนื่องจากความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมกับผลการเรียนรู้ในสวิตเซอร์แลนด์ มีสูงกว่าในเดนมาร์กอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีผลทำให้สวิตเซอร์แลนด์มีนักเรียนที่พลิกความคาดหมายทางวิชาการในสัดส่วนต่ำกว่าเดนมาร์ก


รูป 1 ร้อยละของนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำสุด 25% ล่าง แต่มีคะแนนพลิกความคาดหมาย (มีคะแนนการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป)

ที่มา: OECD, 2018


ประเทศใดสามารถเพิ่มนักเรียนที่พลิกความคาดหมายทางวิชาการ

จากผลการประเมิน PISA ที่เก็บข้อมูลมาแล้วกว่าทศวรรษ (ใน PISA 2006 PISA 2009 PISA 2012 และ PISA 2015) แสดงให้เห็นว่า หลายประเทศสามารถเพิ่มสัดส่วนของนักเรียนที่พลิกความคาดหมายทางวิชาการที่อยู่ในสัดส่วนล่างสุดของสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (25% ล่าง) ในช่วงระหว่าง PISA 2006 และ PISA 2015 มีข้อมูลให้เปรียบเทียบได้ 51 ประเทศ ในจำนวนนี้มีอยู่ 19 ประเทศที่มีนักเรียนพลิกความคาดหมายเพิ่มขึ้น แต่ใน 9 ประเทศกลับลดลง ในระหว่างประเทศสมาชิก OECD ที่เพิ่มขึ้นเด่นชัด คือ เยอรมนี อิสราเอล ญี่ปุ่น นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส สโลวีเนีย และสเปน ยกตัวอย่างเช่น ใน PISA 2006 เยอรมนีมีนักเรียนกลุ่มด้อยโอกาสประมาณหนึ่งในสี่ที่มีผลการประเมินถึงระดับ 3 ขึ้นไปทั้งสามวิชา แต่ใน PISA 2015 มีนักเรียนด้อยโอกาสถึงหนึ่งในสามที่มีผลการประเมินถึงระดับ 3 ในขณะที่ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ ฮังการี เกาหลี นิวซีแลนด์ และสวีเดน สัดส่วนของนักเรียนกลุ่มพลิกความคาดหมายกลับลดลง เช่น ในฟินแลนด์ใน PISA 2006 มีนักเรียนกลุ่มที่พลิกความคาดหมายเกือบ 56% แต่ใน PISA 2015 มีนักเรียนลดลงเหลือ 39% สำหรับนักเรียนไทยมีเพิ่มจาก 3% เป็น 4%

ลักษณะที่สำคัญบางประการที่ช่วยให้นักเรียนพลิกความคาดหมาย

การเพิ่มจำนวนนักเรียนที่พลิกความคาดหมายอาจทำโดยการเพิ่มผลการประเมินเฉลี่ย (ยกระดับคุณภาพการศึกษา) หรือโดยการลดผลกระทบของสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่อการเรียนรู้ (โดยการกระจายความเป็นธรรมทางการศึกษา) เพราะการเพิ่มความเท่าเทียมทางการศึกษาก็ส่งผลกระทบเชิงบวกโดยตรงกับนักเรียนที่ด้อยเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่แล้ว ตัวอย่างประเทศที่เพิ่มจำนวนนักเรียนพลิกความคาดหมายได้อย่างรวดเร็ว เช่น เยอรมนี

นักเรียนด้อยโอกาสเรียนได้ดีในโรงเรียนที่มีบรรยากาศทางระเบียบวินัยที่ส่งผลต่อการเรียน

การที่นักเรียนด้อยโอกาสจะพลิกความคาดหมายทางวิชาการได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างกันในแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความแตกต่างภายในระบบการศึกษา กล่าวคือขึ้นอยู่กับโรงเรียนที่นักเรียนเรียนอยู่ด้วย จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของ PISA 2012 ถึง PISA 2015 เน้นเฉพาะประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีนักเรียนด้อยโอกาสเป็นนักเรียนที่พลิกความคาดหมายอย่างน้อย 5% ผลการวิเคราะห์ชี้ถึงลักษณะร่วมกันของสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่ทำให้นักเรียนด้อยโอกาสประสบความสำเร็จ

จากการสำรวจระบบการศึกษา พบว่า นักเรียนด้อยโอกาสจะเรียนได้ดีมากขึ้นในโรงเรียนที่นักเรียนรายงานว่ามีบรรยากาศทางระเบียบวินัยดีเมื่อเทียบกับในโรงเรียนที่นักเรียนรายงานว่ามีบรรยากาศที่รบกวนตลอดเวลา แม้ว่าจะอธิบายด้วยความแตกต่างด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียน และลักษณะของโรงเรียนแล้วก็ตาม การเรียนในโรงเรียนที่มีระเบียบวินัย นักเรียนสามารถเอาใจใส่ต่อการเรียนและครูสามารถสอนได้อย่างราบรื่นตามจังหวะและขั้นตอนที่ควรจะเป็นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเรียนของนักเรียนอย่างยิ่ง แม้กระทั่งนักเรียนที่เรียนอ่อนที่สุด และยังพบว่าบรรยากาศเชิงบวกอีกอย่างหนึ่ง คือ นักเรียนจะเรียนได้ดีในโรงเรียนที่ไม่ค่อยมีนักเรียนขาดเรียนหรือหนีเรียน

ตรงกันข้ามกลับพบว่า การมีนักเรียนที่พลิกความคาดหมายทางวิชาการไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับปริมาณทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรการเรียนมากนัก เช่น อัตราส่วนของนักเรียนต่อคอมพิวเตอร์ไม่มีความสัมพันธ์กับสัดส่วนนักเรียนที่พลิกความคาดหมาย จำนวนของกิจกรรมพิเศษเสริมหลักสูตรก็มีความสัมพันธ์ต่ำ หรือในบางประเทศกลับแสดงว่ามีความสัมพันธ์เชิงลบระหว่างกิจกรรมพิเศษเสริมหลักสูตรกับสัดส่วนนักเรียนที่พลิกความคาดหมายทางวิชาการอีกด้วย ในเกือบทุกประเทศขนาดชั้นเรียนมีความสัมพันธ์เชิงบวกนั่นหมายความว่า ในโรงเรียนที่มีชั้นเรียนขนาดใหญ่ ระดับนโยบายอาจช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาสโดยการลดขนาดชั้นเรียนให้เล็กลง

อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าตัวแปรต่าง ๆ หรือทรัพยากรการเรียนไม่มีความหมายต่อการเรียนของนักเรียน แต่จะมีความหมายต่อเมื่อโรงเรียนมีบรรยากาศทางระเบียบวินัยที่ส่งเสริมการเรียนและไม่ค่อยมีนักเรียนขาดเรียนหรือหนีเรียนเท่านั้น ซึ่งพบว่าประเทศที่มีนักเรียนพลิกความคาดหมายทางวิชาการในสัดส่วนที่สูงและมีบรรยากาศทางระเบียบวินัยสูงมาก เช่น ญี่ปุ่น (0.83) และเวียดนาม (0.42) เป็นต้น จะเห็นว่าดัชนีระเบียบวินัยมีค่าสูงมากและสูงกว่าโรงเรียนของไทย (0.36)


รูป 2 ปัจจัยที่ส่งผลให้นักเรียนด้อยโอกาสพลิกความคาดหมายทางวิชาการ

ที่มา: OECD, 2018


นักเรียนด้อยโอกาสด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมักพบอุปสรรคในการเรียนทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่ และความสามารถในการเรียนและการมีส่วนร่วมสร้างสังคมในอนาคตก็จะถูกจำกัดไปด้วย การขจัดอุปสรรคทางการศึกษาเป็นเป้าหมายหนึ่งของทุกระบบการศึกษา โดยการประกันว่า นักเรียนด้อยโอกาสจะได้เรียนในชั้นเรียนที่มีระเบียบวินัยและส่งเสริมการเรียนด้วยตัวแปรอื่น ๆ ที่โรงเรียนสามารถทำได้ เพราะโรงเรียนคือผู้นำในการสร้างสังคมส่วนรวมและสังคมที่ยุติธรรม โรงเรียนไทยมีนักเรียนด้อยโอกาสในสัดส่วนที่สูงมาก แต่นักเรียนที่พลิกความคาดหมายยังคงมีต่ำมากเมื่อเทียบกับนักเรียนจากที่อื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศในละแวกใกล้เคียงกัน ระบบโรงเรียนจึงควรพิจารณาถึงตัวแปรต่าง ๆ ที่จะช่วยทำให้นักเรียนด้อยโอกาสสามารถเรียนได้ดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 1MB)