การประเมินความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์จาก PISA ชี้นัยใดบ้าง

ผลการประเมินวิทยาศาสตร์ที่ได้จาก PISA นอกจากจะให้ข้อมูลว่า สิ่งที่มีความเชื่อมโยงสูงกับความสามารถหรือผลการประเมินวิทยาศาสตร์ ได้แก่ (1) การเป็นผู้ที่มีแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ (2) ความเกี่ยวข้องผูกพันกับวิทยาศาสตร์ และ (3) เจตคติเชิงบวกต่อวิทยาศาสตร์ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือพบว่า ผลการประเมินวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์สูงกับความคาดหวังในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต นั่นคือพบว่า นักเรียนที่มีคะแนนสูงรายงานว่าต้องการศึกษาต่อและทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ในขณะที่กลุ่มนักเรียนที่มีคะแนนต่ำมีความคาดหวังที่จะทำงานทางด้านนี้น้อยมาก (OECD, 2016) นักเรียนไทยเกือบครึ่ง (46.7%) มีผลการประเมินต่ำหรือไม่ถึงระดับ 2 ซึ่งยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อสิบปีที่แล้วนับจากการประเมินวิทยาศาสตร์ใน PISA 2006 (46.1%) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ระบบการศึกษาไม่ควรเพิกเฉย

ในขณะที่ชาติต้องการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และตอกย้ำเสมอถึงความเป็น 4.0 ของชาติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เพียงพอ แต่สิ่งที่ต้องมาก่อนก็คือ การทำให้นักเรียนมีความสำเร็จในการเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ในระดับโรงเรียน ดังนั้น ระบบการศึกษาของชาติอันเป็นระบบใหญ่ต้องย้อนกลับไปดูผลการประเมินที่ผ่านมาว่าได้ชี้ไปในทิศทางที่ต้องการหรือไม่ และที่สำคัญต้องดูด้วยว่า การมีผลการประเมินที่สูงนั้นเกี่ยวข้องกับตัวแปรใดบ้าง และต้องส่งเสริมตัวแปรนั้น ๆ ในการเรียนการสอนแทนการสอนที่มุ่งแต่เนื้อหาให้นักเรียนสะสมความรู้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ไว้มาก ๆ เพื่อจะได้นำออกมาตอบข้อสอบคัดเลือกเข้าเรียนในระดับสูงขึ้นเพียงเท่านั้น

Jack Ma (Team Music, 25 January 2018; World Economic Forum, 24 January 2018) ได้ชี้แนะถึงการเรียนในอนาคต (The Future of Learning) ที่การประชุม World Economic Forum ในปีนี้ไว้ว่า การสอนนั้นไม่ต้องสอนแข่งกับเครื่อง (คอมพิวเตอร์) เพราะความรู้นั้นในเครื่องสอนไว้มากมายและสอนได้ดีกว่าคนด้วย แต่เมื่อมาดูหลักสูตรวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะเห็นว่า เน้นหนักไปทางพื้นฐาน ความรู้วิทยาศาสตร์เข้มข้น นำเสนอวิทยาศาสตร์ในรูปแบบที่เป็นความรู้พื้นฐาน กฎ หรือทฤษฎีในสาขาวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มากกว่าการให้ความสำคัญกับความรู้เชิงกระบวนการ วิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์ หรือการผสมผสานระหว่างวิชาที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของสรรพสิ่งของธรรมชาติบนโลกใบนี้ รวมทั้งวิธีการได้มาของความรู้ และการวิเคราะห์และการใช้วิจารณญาณในเรื่องของความรู้ที่เป็นหรือไม่เป็นประโยชน์ในบริบทหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ชุมชน สังคม ตลอดจนโลกใบนี้

ยิ่งไปกว่านั้น นักการศึกษาหรือครูนอกจากจะยกให้การสะสมความรู้เป็นตัวสำคัญที่สุดแล้ว ยังมักจะตัดสินนักเรียนบนพื้นฐานจากผลการสอบด้วยข้อสอบที่เน้นเฉพาะความรู้ตามสาระวิชาวิทยาศาสตร์ และนักเรียนที่ทำข้อสอบแบบนั้นได้คะแนนต่ำมักจะถูกตัดสิทธิ์การเรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งบทบาทของโรงเรียนนั้นแทนที่จะตัดสิทธิ์นักเรียน ควรจะส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนแม้กระทั่งผู้ที่มีคะแนนต่ำให้มีการคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ ให้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องผูกพันกับวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น เพื่อจะได้มีผลการเรียนรู้ที่ดีขึ้น มีความผูกพันและอยากเรียนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ชาติได้บุคลากรทางวิทยาศาสตร์เป็นกำลังคนเพิ่มขึ้นในอนาคต

โรงเรียนทำหน้าที่ส่งเสริมภาพเชิงบวกหรือขับไล่นักเรียนออกจากวงการวิทยาศาสตร์

สิ่งสำคัญที่โรงเรียนควรทำ คือ การส่งเสริมภาพเชิงบวกของวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนทุกคน แต่บ่อยครั้งที่พบว่า วิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเป็นเสมือนท่อที่จะแยกนักเรียนออกจากกันว่า ในที่สุดแล้วนักเรียนคนใดบ้างที่จะไปเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร หรือขับไล่นักเรียนส่วนหนึ่งที่มีคะแนนต่ำให้ไกลออกไปจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ท่อแยกเหล่านี้ได้ทำหน้าที่สกัดกั้นเส้นทางวิชาชีพที่ควรจะประสบความสำเร็จของหลายคนที่แม้จะมีคะแนนความรู้ความจำในเนื้อหาวิชาไม่สูงแต่เป็นคนช่างคิดช่างสงสัย ซึ่งคนประเภทนี้จะเป็นที่ต้องการในวงการวิทยาศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้น การแยกนักเรียนแบบนี้ยังสร้างภาพทางลบให้กับนักเรียนที่ไม่ได้เรียนทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ตนเองและสังคมรอบตัวเกิดความรู้สึกว่าเป็นผู้มีความสามารถต่ำกว่าอีกด้วย (OECD, 2016 ; อ้างอิงจาก Cannady, et al., 2014; Maltese, et al., 2014)

ในระบบโรงเรียนไทย ประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้นมากที่สุด โดยเฉพาะในโรงเรียนที่รู้จักกันในนาม “โรงเรียนดัง” เพราะมีการสกัดกั้นนักเรียนตลอดเส้นทางการเรียน ตั้งแต่การคัดเลือกเข้าโรงเรียนซึ่งต้องผ่านการคัดเลือกอย่างหนัก และหลังจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนก็สกัดกั้นนักเรียนอีกครั้ง โดยอนุญาตให้นักเรียนที่ทำข้อสอบวิทยาศาสตร์ได้คะแนนสูงให้เข้าเรียนในโปรแกรมวิทยาศาสตร์ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นที่ทราบกันดีว่าข้อสอบส่วนใหญ่มักเน้นถามความจำที่นักเรียนได้เรียนจากในชั้นเรียน แต่นักเรียนที่ช่างคิด วิเคราะห์ และใช้วิจารณญาณบนความเป็นเหตุเป็นผลมักทำคะแนนในข้อสอบแบบนั้นได้คะแนนไม่สูงมาก และไม่สามารถเข้าเรียนในโปรแกรมวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งถือได้ว่า เป็นการทำความสูญเสียในด้านกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่วนหนึ่งของชาติไป

ความรู้สึกรักการเรียนวิทยาศาสตร์

ข้อมูลชี้ว่า ในหลายประเทศสามารถทำให้นักเรียนมีความรักและผูกพันกับวิทยาศาสตร์ มีความสนใจ และรับรู้ถึงประโยชน์ของวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ใน PISA 2015 มีนักเรียนรายงานว่า สนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์และมีความสนใจในวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับ PISA 2006 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งความตั้งใจและความรู้สึกรักการเรียนส่งผลถึงความแตกต่างของผลการเรียนรู้ที่แสดงออกในผลการประเมินได้ (OECD, 2016)

ภาพพจน์การเหมารวมเกี่ยวกับอาชีพการงานทางวิทยาศาสตร์

อีกนัยหนึ่งที่ PISA ต้องการชี้บอกระดับนโยบาย คือ ความจำเป็นในการลบล้างภาพพจน์แบบเหมารวม (Stereotype) ที่เกี่ยวกับอาชีพการงานทางวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมเยาวชนทั้งหญิงและชาย ภาพพจน์แบบเหมารวม (เช่น คอมพิวเตอร์เป็นวิชาสำหรับผู้ชาย ชีววิทยาเป็นวิชาสำหรับผู้หญิง หรือนักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จเพราะสติปัญญาดีมาแต่เกิดไม่ใช่เพราะความพยายามอย่างหนัก หรือนักวิทยาศาสตร์คือพวกเพี้ยน เป็นต้น) เป็นตัวทำให้เกิดความท้อถอย ทำให้นักเรียนส่วนหนึ่งถอยห่างจากวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสามารถต่อสู้กับภาพพจน์แบบเหมารวมนี้และช่วยให้นักเรียนสร้างมุมมองที่กว้างขึ้นได้โดยให้สาระข้อมูลจริงจากผู้ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับอาชีพนั้น ๆ หรือผู้ให้ข้อมูลที่เป็นกลาง นักเรียนควรได้รับสาระที่ถูกต้อง เพียงพอ เชื่อถือได้ และหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ไม่ใช่ความจริง ข้อมูลที่มากเกินจริง หรือระบายภาพให้ผิดเพี้ยนไป อีกทั้งนักเรียนและผู้ปกครองควรได้รับข้อมูลด้วยกัน (OECD, 2016)

ภูมิหลังมีความเชื่อมโยงกับการเรียนวิทยาศาสตร์

PISA พบมาเสมอว่า ในกลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถเท่าเทียมกันมีผลการประเมินในระดับเดียวกัน แต่มักจะมีความผันแปรในด้านความคาดหวังที่จะทำงานในอาชีพวิทยาศาสตร์และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ในประเทศ/เขตเศรษฐกิจส่วนใหญ่ พบว่า นักเรียนที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปรียบมากกว่ามักคาดหวังจะทำการงานอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์มากกว่านักเรียนที่มีภูมิหลังด้อยเปรียบกว่า แม้ว่านักเรียนจะมีผลการประเมินคล้ายกันและรายงานว่าสนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์เหมือน ๆ กัน นอกจากนี้ยังพบว่า ความแตกต่างระหว่างเพศในด้านเจตคติก็ยังคงมีอยู่เสมอ แม้จะมีความพยายามอย่างมากที่จะลดช่องว่างของความแตกต่าง และส่งเสริมเยาวชนทั้งชายและหญิงให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนและการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักเรียนในกลุ่มที่รายงานว่าไม่ต้องการทำงานในด้านนี้

สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

คะแนนวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความแตกต่างของสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ในสังคมที่ยิ่งมีความแตกต่างกันมากนักเรียนยิ่งมีคะแนนต่ำลง ค่าสหสัมพันธ์เฉลี่ยระหว่างความหลากหลายด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมกับคะแนนวิทยาศาสตร์ สำหรับประเทศสมาชิก OECD มีค่า -0.59 และสำหรับประเทศร่วมโครงการ (Partner Countries) มีค่า -0.52 ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ นั่นหมายความว่า คะแนนที่ปรากฏเป็นผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมกันในสังคม PISA แสดงให้เห็นว่า ในระบบโรงเรียนที่มีนักเรียนที่สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกันมากมาเรียนรวมกันมีความเชื่อมโยงกับการลดสัดส่วนจำนวนนักเรียนอ่อนและทำให้สัดส่วนนักเรียนเก่งเพิ่มขึ้น (OECD, 2016)

ส่วนในระบบโรงเรียนไทย นักเรียนมีความแตกต่างกันสูงด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมและมีคะแนนแตกต่างกันมาก นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้เปรียบมากมีคะแนนสูงกว่ามาก ทั้งนี้ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนไทย กลุ่มบนสุดกับกลุ่มล่างสุดมีค่าดัชนีแตกต่างกันถึง 3.61 หน่วยดัชนี และมีนักเรียนไทยที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ (ค่าดัชนีต่ำกว่า -1) ในสัดส่วนถึง 62.6% ผลการวิจัยชี้ความสัมพันธ์ระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมกับคะแนนวิทยาศาสตร์ว่า เมื่อค่าดัชนีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไปหนึ่งหน่วยทำให้คะแนนเปลี่ยนแปลง 22 คะแนน ซึ่งถ้าสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียนทั้งระบบฯ มีความเท่าเทียมกัน หรือไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คะแนนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนควรจะสูงขึ้นอย่างน้อยครึ่งระดับ นอกจากนั้นในระบบโรงเรียนไทยยังมีผลกระทบจากตัวแปรทางด้านอื่น ๆ อีกหลายตัวจึงทำให้นักเรียนกลุ่มสูงกับกลุ่มต่ำมีคะแนนต่างกันถึง 79 คะแนน ซึ่งเทียบเท่ากับการเรียนที่แตกต่างกันถึงสองปีครึ่ง

ความเท่าเทียมทางการศึกษา

ความเท่าเทียมทางการศึกษาหรือความเป็นธรรมทางการศึกษา (Equity in Education) เป็นสิ่งที่นักเรียนทุกคนควรได้รับ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนยากจน นักเรียนที่มีผลการเรียนอ่อน นักเรียนในโรงเรียนห่างไกล หรือเป็นผู้อพยพ ฯลฯ เรื่องนี้เป็นแนวโน้มปัจจุบันที่ทุกระบบการศึกษาสากลกำหนดไว้ และพยายามทำงานมุ่งไปสู่เป้าหมายนี้ ในคำจำกัดความของความเท่าเทียมทางการศึกษาของ PISA เน้นย้ำถึงความเท่าเทียมไปพร้อมกับผลสัมฤทธิ์ที่สูงไม่ว่าภูมิหลังจะเป็นอย่างไรก็ตาม และข้อมูลจาก PISA 2015 ก็ชี้ว่า ผลสัมฤทธิ์ที่สูงและความเท่าเทียมทางการศึกษาสามารถเกิดพร้อมกันได้ ซึ่งคือจุดเน้นสำคัญในคำจำกัดความของ PISA ที่เน้นย้ำถึงความเท่าเทียมกับผลสัมฤทธิ์ที่สูงไปด้วยกันไม่ใช่ความเท่าเทียมที่มีผลทำให้คุณภาพการเรียนรู้อ่อนทั้งระบบ ประเทศ/เขตเศรษฐกิจใน PISA 2015 ที่พบว่า มีทั้งผลสัมฤทธิ์สูงและความเท่าเทียมกันสูง ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฮ่องกง(จีน) และมาเก๊า(จีน)

สำหรับประเทศไทยได้บรรจุเป้าหมายความเป็นธรรมทางการศึกษานี้ไว้เช่นเดียวกัน แต่นักเรียนยังมีความไม่เท่าเทียมกันสูง และคะแนนก็แตกต่างกันมาก นักเรียนที่ได้เปรียบมากอยู่แล้วมีคะแนนสูงกว่านักเรียนที่ด้อยเปรียบมาก ยิ่งไปกว่านั้น ในระบบโรงเรียนไทย กลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงยิ่งได้รับการส่งเสริมมาก

PISA 2015 สำรวจความพร้อมและการสนับสนุนทรัพยากรส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยขอให้ครูใหญ่ตอบคำถามต่อไปนี้ 1) เมื่อเทียบกับกลุ่มสาระอื่น กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์มีวัสดุอุปกรณ์ครบครัน 2) ได้เงินพิเศษสนับสนุนสำหรับการเรียนการสอน 3) ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์มีคุณวุฒิการศึกษาดีที่สุด 4) ถ้าเทียบกับโรงเรียนอื่น โรงเรียนมีห้อง ปฏิบัติการที่พร้อมกว่า 5) มีวัสดุสำหรับการทดลองที่พร้อมใช้ได้ตลอดเวลาทุกรายวิชา 6) มีผู้ช่วยสำหรับห้องปฏิบัติการ และ 7) มีเงินพิเศษสำหรับปรับปรุงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ให้ทันสมัย และได้นำคำตอบมาสร้างเป็นดัชนีความพร้อมของทรัพยากรที่ใช้ในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ค่าเฉลี่ย OECD มีค่าดัชนีเป็น 4.58 สำหรับไทยมีค่าดัชนีเป็น 3.96 และพบว่า มีเฉพาะโรงเรียนสาธิตและโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่มีดัชนีสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ยิ่งไปกว่านั้นมีเฉพาะกลุ่มโรงเรียน สพฐ.2 และ สช. ที่มีค่าดัชนีสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ นอกนั้นต่ำกว่าทั้งหมด สรุปดังรูป 1


รูป 1 ดัชนีความพร้อมของทรัพยากรที่ใช้ในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคะแนนเฉลี่ยวิทยาศาสตร์

สพฐ.1 หมายถึง กลุ่มโรงเรียนสังกัด สพฐ. ที่มาจากโรงเรียนขยายโอกาสเดิม
สพฐ.2 หมายถึง กลุ่มโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาเดิม
สช. หมายถึง กลุ่มโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
กศท. หมายถึง กลุ่มโรงเรียนในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
อศ.1 หมายถึง กลุ่มโรงเรียน/วิทยาลัยอาชีวศึกษาของเอกชน
อศ.2 หมายถึง กลุ่มวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ
กทม. หมายถึง กลุ่มโรงเรียนในสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
สาธิต หมายถึง โรงเรียนสาธิตในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ
รร.เน้นวิทย์ หมายถึง โรงเรียนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์


ค่าดัชนีความพร้อมของทรัพยากรที่ใช้ในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของกลุ่มโรงเรียนที่มีความพร้อมมากที่สุด (7.48) กับน้อยที่สุด (2.73) แตกต่างกันถึง 4.75 หน่วยดัชนี และคะแนนของนักเรียนกลุ่มสูงกับกลุ่มต่ำมีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่างกัน 79 คะแนน จึงแสดงชัดเจนว่า ความเป็นธรรมทางการศึกษายังเป็นเรื่องที่อยู่ห่างไกล

PISA จึงเสนอแนะต่อระดับนโยบาย ประการแรก คือ ลดการแยกจำนวนนักเรียนด้อยเปรียบและนักเรียนเรียนอ่อนไม่ให้ไปอัดแน่นรวมกันอยู่ในโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง การที่โรงเรียนรวมนักเรียนต่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมไว้ด้วยกันอาจนำไปสู่การยกระดับนักเรียนอ่อนโดยที่ไม่กระเทือนถึงนักเรียนเก่งแต่อย่างใด ระบบการศึกษาควรมีความหลากหลายของระดับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งอาจมีการส่งเสริมทางด้านกฎหมายรับรอง ควรให้ข้อมูลพ่อแม่ว่ามีทางเลือกใดบ้างและมีการสนับสนุนทางการเงินอย่างไร กฎหมายควรกำหนดให้โรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐต้องเปิดกว้างสำหรับทุกคนไม่ว่าสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ผลการเรียนที่ผ่านมา และลักษณะนิสัยส่วนตัวจะเป็นอย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาอาจตั้งโควตาการรับนักเรียนด้อยโอกาสเพื่อประกันว่านักเรียนเหล่านั้นจะมีที่เรียนอยู่ในทุกโรงเรียน ตัวอย่างเช่น ในชุมชนฝรั่งเศสของเบลเยียมให้สิทธิพ่อแม่เลือกโรงเรียนมัธยมให้ลูก ในโรงเรียนที่ค่าเล่าเรียนสูงก็กำหนดให้มีที่เรียน 20% สงวนไว้ให้นักเรียนที่มาจากโรงเรียนด้อยโอกาสระดับประถมศึกษา (OECD, 2013) ประการที่สอง คือ การจัดทรัพยากรเป็นพิเศษสำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนอ่อนรวมกันอยู่หนาแน่นและโรงเรียนด้อยโอกาส ทั้งนี้ ข้อมูลจากมากกว่า 30 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ใน PISA 2015 รวมทั้งประเทศไทยที่พบว่า นักเรียนในโรงเรียนที่ได้เปรียบกว่าเข้าถึงทรัพยากรที่ดีกว่าทั้งด้านการเงินและบุคลากรมากกว่านักเรียนในโรงเรียนด้อยกว่า

นักเรียนที่ชอบเรียนและประสบความสำเร็จในการเรียนวิทยาศาสตร์มักต้องการศึกษาต่อและประกอบอาชีพการงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยี โรงเรียนจึงมีหน้าที่ทำให้นักเรียนผูกพันกับวิทยาศาสตร์และเรียนได้ดีแทนการกีดกันหรือตัดสิทธิ์ไม่ให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในแวดวงวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะนั่นคือ การตัดทอนกำลังคนของชาติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต ข้อมูลข้างต้น คือ แนวคิดที่ PISA ได้เสนอต่อระดับนโยบายเพื่อปรับปรุงและส่งเสริมให้นักเรียนรักการเรียนและมีผลการเรียนวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 905KB)