PISA 2015 ชี้แนะถึงนโยบายและวิธีปฏิบัติในระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ (ระบบโรงเรียนที่นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD) เพราะนอกจากการทดสอบและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนแล้ว PISA 2015 ยังเก็บข้อมูลด้านนโยบายและวิธีปฏิบัติในระบบโรงเรียน โดยใช้แบบสอบถามที่ถามนักเรียน ครู ครูใหญ่ และพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อหาข้อมูลด้านนโยบายและวิธีปฏิบัติของระบบโรงเรียนในประเทศ/เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการ จากการรายงานของนักเรียน ครู และครูใหญ่ในระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับระบบโรงเรียน วิธีการหรือแนวปฏิบัติ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทางการเรียน เพื่อชี้นัยถึงตัวแปรในระบบโรงเรียนที่ส่งผลทางบวกหรือทางลบว่า ระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จนั้นมีแนวปฏิบัติอย่างไร ซึ่งตัวแปรสำคัญที่ส่งผล สรุปได้ดังนี้
การคัดเลือกและการแยกกลุ่มนักเรียน
- การคัดเลือกนักเรียนจากผลการเรียนทางวิชาการไม่ทำให้คะแนนเฉลี่ย PISA สูง ระบบโรงเรียนที่โรงเรียนส่วนใหญ่ใช้วิธีคัดเลือกนักเรียนจากผลการเรียนทางวิชาการมากกว่าวิธีอื่น ๆ พบว่า ผลการประเมินไม่ได้ดีกว่าระบบโรงเรียนที่ไม่ได้รับนักเรียนตามวิธีดังกล่าว แม้ว่าโรงเรียนที่คัดเลือกนักเรียนโดยเข้มงวดกับผลทางวิชาการ โรงเรียนนั้นมักมีผลการประเมินสูง แต่ผลการเรียนของนักเรียนมาจากอิทธิพลของตัวแปรด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของโรงเรียนและของนักเรียนมากกว่า เพราะโรงเรียนได้คัดเลือกนักเรียนจากครอบครัวที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้เปรียบ เมื่ออธิบายด้วยตัวแปรด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมแล้วพบว่า ผลการประเมินของโรงเรียนนั้น ๆ ไม่สูงกว่าหรืออาจต่ำกว่าระบบที่รับนักเรียนโดยไม่มีการคัดเลือกเข้มข้นทางวิชาการ และเมื่อดูโดยรวมทั้งระบบแล้ว พบว่า ระบบโรงเรียนที่มีสัดส่วนของโรงเรียนที่คัดเลือกนักเรียนโดยเข้มข้นทางวิชาการสูงกว่าวิธีอื่น ไม่มีผลการประเมินสูงกว่าระบบโรงเรียนที่รับนักเรียนโดยไม่ใช้วิธีการคัดเลือกตามวิธีดังกล่าว
- การรับนักเรียนตามเขตที่อยู่อาศัยไม่ทำให้มีคะแนนเฉลี่ย PISA แตกต่างจากการรับโดยวิธีคัดเลือกแบบเข้มข้นทางวิชาการ ตามรายงานของครูใหญ่ในหลายระบบโรงเรียนที่ใช้การรับนักเรียนตามเขตที่อยู่อาศัย ค่าเฉลี่ย OECD พบว่า ใน PISA 2012 มีนักเรียน 41% เข้าโรงเรียนตามเขตที่อยู่อาศัย และไม่เปลี่ยนแปลง ใน PISA 2015 แต่ในแคนาดา กรีซ นอร์เวย์ โปแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ มีนักเรียนมากกว่าสองในสามอยู่ในโรงเรียน ที่นักเรียนเช่นนี้ แต่สำหรับในเอเชีย ได้แก่ ฮ่องกง-จีน มาเก๊า-จีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น มีนักเรียนส่วนน้อย (ต่ำกว่า 20%) อยู่ในโรงเรียนที่รับตามเขตที่อยู่อาศัย
- การแยกกลุ่มนักเรียนตามความสามารถไม่ส่งผลทางบวกต่อคะแนนเฉลี่ย PISA จากรายงานของครูใหญ่ หลายระบบโรงเรียนมีการแบ่งกลุ่มนักเรียนตามความสามารถทางวิชาการ บางประเทศใช้วิธีแยกห้องเรียนอย่างถาวร เช่น ประเทศไทย แต่ผลการวิจัยชี้ว่า การแยกกลุ่มนักเรียนมีความสัมพันธ์กับผลการเรียนเฉลี่ยที่ต่ำ เพราะนักเรียนที่ถูกคัดแยกมีแรงจูงใจต่ำ (OECD, 2013) ข้อมูลใน PISA 2015 จึงพบว่า หลายประเทศลดการแบ่งแยกกลุ่มนักเรียนลง เช่น เกาหลีใต้ลดลงประมาณ 20% และมีนักเรียนที่ถูกแยกชั้นเรียนถาวรเพียง 4.7% แต่ยังมีการแบ่งกลุ่มภายในชั้นเรียนเป็นบางวิชาเท่านั้น ประเทศสมาชิก OECD ที่มีคะแนนสูงและมีการแยกชั้นนักเรียนในสัดส่วนที่สูงมีประเทศเดียวคือ เนเธอร์แลนด์ แต่ประเทศคะแนนสูงในเอเชียมีการแบ่งแยกต่ำ เช่น ญี่ปุ่น (มี 10%) และสิงคโปร์ (มี 12%)
การเรียนการสอนและกิจกรรม
- ในระบบที่นักเรียนได้เลือกเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้นคะแนนเฉลี่ย PISA สูงขึ้น จากค่าเฉลี่ย OECD ชี้ว่าในระบบโรงเรียนที่นักเรียนไม่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ มีคะแนนต่ำกว่าระบบโรงเรียนที่นักเรียนเลือกเรียนวิทยาศาสตร์อย่างน้อยหนึ่งวิชา อยู่ถึง 25 คะแนน และพบว่านักเรียนที่ไม่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ส่วนมากอยู่ในโรงเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยเปรียบ ข้อมูลจึงชี้แนะว่าส่วนหนึ่งที่จะทำให้นักเรียนมีคะแนนวิทยาศาสตร์สูงขึ้น คือ โรงเรียนต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดวิชาเลือกเพิ่ม หรือไม่กีดกันนักเรียนที่ต้องการเลือกเรียนโปรแกรมวิทยาศาสตร์ และส่งเสริมโรงเรียนเล็กหรือโรงเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยเปรียบให้มีชั้นเรียนวิทยาศาสตร์และสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์
- กิจกรรมการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ส่งผลทางบวกต่อคะแนนเฉลี่ย PISA โดยพบว่า ในระบบโรงเรียนที่มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนยิ่งมาก คะแนนเฉลี่ย PISA ยิ่งสูงขึ้น ข้อมูลจาก PISA ชี้ว่าโรงเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้เปรียบมักจัดกิจกรรมการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์มากกว่าโรงเรียนที่ด้อยเปรียบ จากค่าเฉลี่ย OECD สำหรับโรงเรียนที่ได้เปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมีนักเรียน 78% อยู่ในโรงเรียนที่มีการจัดกิจกรรมนี้ ส่วนโรงเรียนที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมีนักเรียน 53% อยู่ในโรงเรียนที่มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันเป็นกิจกรรมวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน
สพฐ.1 หมายถึง กลุ่มโรงเรียนสังกัด สพฐ. ที่มาจากโรงเรียนขยายโอกาสเดิม
สพฐ.2 หมายถึง กลุ่มโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาเดิม
สช. หมายถึง กลุ่มโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
กศท. หมายถึง กลุ่มโรงเรียนในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
อศ.1 หมายถึง กลุ่มโรงเรียน/วิทยาลัยอาชีวศึกษาของเอกชน
อศ.2 หมายถึง กลุ่มวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ และ
กทม. หมายถึง กลุ่มโรงเรียนในสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร - เวลาเรียนวิทยาศาสตร์และวิธีการสอนวิทยาศาสตร์ เป็นตัวแปรที่ส่งผลทางบวกต่อการเรียนรู้และความต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในอนาคตของนักเรียน เวลาที่ใช้เรียนตามเวลาเรียนปกติในหลักสูตรมีความสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ค่าเฉลี่ย OECD ชี้ว่านักเรียนมีคะแนนวิทยาศาสตร์สูงขึ้น 8 คะแนนต่อเวลาเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นทุก ๆ หนึ่งชั่วโมง (หลังอธิบายด้วยตัวแปรด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียนแล้วคะแนนยังคงสูงขึ้น 5 คะแนน)
เวลาที่นักเรียนใช้ทำการบ้านและเวลาเรียนพิเศษนอกเวลา ปัญหาของโรงเรียนไทยอาจไม่ใช่ชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนน้อยเกินไป แต่ในหลักสูตรมีวิชาเรียนมากอีกทั้งครูยังให้การบ้านและมอบหมายงานอื่นมากจนนักเรียนไม่มีเวลาย่อยสิ่งที่เรียนในเวลาเรียน นอกจากนี้ นักเรียนยังใช้เวลาเรียนพิเศษนอกเวลาอีกด้วย ข้อมูลชี้ว่า เวลาเรียนพิเศษนอกเวลาและเวลาที่นักเรียนใช้ทำการบ้านไม่ส่งผลทางบวกกับผลการเรียนรู้ ในระบบโรงเรียนที่นักเรียนใช้เวลาเรียนพิเศษนอกเวลาและทำการบ้านยิ่งมาก มีแนวโน้มผลการประเมินยิ่งต่ำ (OECD, 2016)
รูป 1 ความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนพิเศษนอกเวลากับคะแนนวิทยาศาสตร์
ที่มา: OECD, 2016
นักเรียนไทยใช้เวลาเรียนนอกเวลาและทำการบ้านสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD และสูงกว่าประเทศในเอเชียตะวันออกด้วยกัน (เฉพาะที่มีข้อมูล สูงกว่าญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง-จีน และจีนไทเป แต่นักเรียนไทยเรียนเป็นชั้นขนาดใหญ่มากที่สุดในขณะที่นักเรียนที่อื่น ๆ เรียนแบบติวส่วนตัว)
- วิธีการสอนวิทยาศาสตร์ PISA ถามนักเรียนถึงวิธีการสอนวิทยาศาสตร์ของครูในสี่วิธี ได้แก่ (1) ครูเป็นผู้นำการสอนโดยตรง (Teacher-directed instruction) โดยครูเป็นผู้อธิบายแนวคิดและหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือใช้การสาธิต (2) การสอนที่ครูให้ข้อมูลป้อนกลับ (3) การสอนที่ปรับให้เหมาะกับนักเรียน และ (4) การสอนโดยใช้การสืบเสาะเป็นพื้นฐาน จากรายงานของนักเรียน พบว่า ครูใช้ทั้งสี่วิธีผสมกันในการสอนแต่อาจมีการใช้บางวิธีมากกว่า ค่าเฉลี่ย OECD พบว่า ครูในโรงเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงมักใช้วิธีครูเป็นผู้นำการสอนโดยตรงมากกว่าครูในโรงเรียนที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
สิ่งแวดล้อมทางการเรียน
- นักเรียนหนีเรียนเป็นอุปสรรคของการเรียนการสอน ค่าเฉลี่ย OECD มีนักเรียน 20% ที่รายงานว่า ขาดเรียนอย่างน้อยหนึ่งวันในช่วงสองสัปดาห์ก่อนการสอบ แนวโน้มระหว่าง PISA 2012 ถึง PISA 2015 พบว่า สัดส่วนของนักเรียนที่ขาดเรียนหนึ่งถึงสองวันในช่วงสองสัปดาห์ก่อนสอบ PISA มีเพิ่มขึ้นประมาณ 5% และในเกือบทุกระบบโรงเรียน นักเรียนในโรงเรียนที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมักขาดเรียนทั้งวันมากกว่านักเรียนในโรงเรียนที่ได้เปรียบกว่า แต่ที่นักเรียนขาดเรียนน้อยที่สุดเป็นญี่ปุ่น เกาหลี จีนไทเป และกลุ่มเศรษฐกิจจากประเทศจีน (ฮ่องกง มาเก๊า และจีน-4 มณฑล) สิงคโปร์มีนักเรียนขาดเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD
- ปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนการสอนตามการรายงานของครูใหญ่ ในระดับนานาชาติ สิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนการสอนมากที่สุด ที่เกิดจากนักเรียน คือ นักเรียนหนีเรียน รองลงมาคือ นักเรียนไม่เข้าห้องเรียน และนักเรียนข่มขู่หรือรังแกเพื่อน ตามลำดับ และที่เกิดจากครู คือ การที่ครูต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ค่าเฉลี่ย OECD พบว่า มีนักเรียนดื่มสุราหรือใช้ยาเสพติด 9% ทั้งนี้ นักเรียนในญี่ปุ่น ฮ่องกง-จีน สิงคโปร์ และเวียดนาม ใช้น้อยมาก (0-1%)
การที่นักเรียนมีผลการประเมินต่ำมีเหตุปัจจัยประกอบหลายอย่างที่ PISA ได้เสนอให้เห็นแล้วว่า ระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จนั้นทำกันอย่างไร การที่นักเรียนมีผลการเรียนรู้ต่ำมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการจัดการและแนวปฏิบัติในระบบซึ่งข้อมูลได้ชี้แนะว่า การจัดการแบบใดส่งผลทางบวกหรือไม่ แต่นโยบายแนวปฏิบัติในระบบโรงเรียนไทยมักยึดแนวที่ไม่ส่งผลทางบวกมากนัก ความพยายามในการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนจึงอาจจะส่งผลช้า อีกทั้งการยกระดับการเรียนรู้ไม่ใช่อยู่ที่การแก้หลักสูตร ไม่ว่าจะแก้หลักสูตรอย่างไร ถ้ายังยึดแนวปฏิบัติแบบเดิม ๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยาก
อ่านเพิ่มเติม
- OECD (2013), PISA 2012 Results: What Makes Schools Successful? Resources, Policies and Practices (Volume IV), PISA, OECD Publishing.
- OECD (2016), PISA 2015 Results (Volume I): Excellence and Equity in Education, PISA, OECD Publishing, Paris.
ดาวน์โหลด (PDF, 726KB)