PISA กับประเทศไทย: ความจริงที่ต้องยอมรับ

ตั้งแต่ที่ได้มีการเผยแพร่ผลการประเมิน PISA 2015 ไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่มีผู้คนให้ความสนใจกัน เป็นจำนวนมาก และมีสื่อออกมาวิพากษ์ ระบบการศึกษาไทยกันอย่างหลากหลาย ทั้งนี้ ผลการวิจัยในโครงการ PISA ได้ เปิดเผยข้อเท็จจริงหลายประการเกี่ยวกับ ระบบการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นความจริงที่ คนไทยจะต้องยอมรับและนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนา



ที่มา: Voice TV – In Her View, https://www.facebook.com/inherview/posts/1002313076538615


แนวโน้มผลการประเมินของนักเรียนไทย

เมื่อติดตามดูการขึ้นลงของคะแนนตั้งแต่ PISA 2000 ถึง PISA 2015 ในแต่ละช่วงของการประเมิน (ทุกสามปี) โดยเริ่มจากการประเมินที่มีวิชานั้นเป็นหลัก กล่าวคือ การอ่านตั้งแต่ PISA 2000 คณิตศาสตร์ ตั้งแต่ PISA 2003 และวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ PISA 2006 พบว่า การอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์แนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับผลการประเมินทางด้านวิทยาศาสตร์ในช่วง PISA 2009 และ PISA 2012 คะแนนเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง และกลับลดลงใน PISA 2015 เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนวิทยาศาสตร์ในภาพรวมมีคะแนนเพิ่มขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงไม่มีนัยสำคัญจึงถือว่าไม่เปลี่ยนแปลง


รูป 1 แน้วโน้มผลการประเมินจาก PISA 2000 ถึง PISA 2015


เมื่อผลการประเมินออกมาไม่เป็นที่พอใจ ระดับนโยบายและสาธารณะก็พุ่งเป้าไปที่สามเป้าหลัก คือ ครู นักเรียน และหลักสูตร แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบในระบบการศึกษาไทย คือ การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ตั้งแต่ก่อนการปฏิรูปการศึกษาใน พ.ศ. 2542 ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากผลการประเมินใน PISA 2000 ซึ่งเก็บข้อมูลใน พ.ศ. 2541 (และรายงานผลใน พ.ศ. 2542) หลังจากการปฏิรูปการศึกษาแล้วผลการประเมินใน PISA 2003 และ PISA 2006 ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และเริ่มหยุดตกต่ำลงใน PISA 2009

หลักฐานจากงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาของธนาคารโลกชิ้นหนึ่งบ่งชี้ว่า ความอ่อนด้อยของการศึกษาไทยส่วนหนึ่งมาจากระบบ (รูป 2) งานวิจัยดังกล่าววิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลการประเมินด้านการอ่านของนักเรียนไทย ระหว่าง PISA 2000 กับ PISA 2006 และพบว่า ปัจจัยที่มาจากตัวนักเรียนเองส่งผลให้คะแนนเพิ่มขึ้น (6.3 คะแนน) แต่เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยด้านระบบกลับพบว่าส่งผลให้คะแนนลดลง (22.4 คะแนน) เป็นผลให้คะแนนรวมลดลง (16.1 คะแนน)


รูป 2 การลดลงของคะแนนการอ่านใน PISA 2000 ถึง PISA 2006 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบ

ที่มา: The World Bank, 2012


ตัวแปรจากระบบที่ส่งผลกระทบทางลบมีอะไรบ้าง

ต้องยอมรับความจริงว่า ระบบโรงเรียนมีส่วนทำให้นักเรียนมีคะแนนต่ำ การประเมินจาก PISA พบว่า ตัวแปรที่เกิดจากระบบมีหลายตัว ซึ่งส่วนมากเป็นแนวปฏิบัติที่ระบบโรงเรียนไทยใช้อยู่เป็นปกติ โดยไม่คำนึงว่าการปฏิบัตินั้นคือตัวแปรที่ส่งผลทางลบ ได้แก่ การรับนักเรียนเข้าโรงเรียนโดยการคัดเลือกทางวิชาการ ซึ่งการคัดเลือกเช่นนี้ไม่มีปฏิบัติในหลายประเทศที่มีผลการประเมินสูง เช่น ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ เป็นต้น การแบ่งแยกกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ เช่น การแยกนักเรียนไปอยู่ห้องคิงส์/ห้องควีน หรือห้องโหล่ ทำให้นักเรียนอ่อนซึ่งมีจำนวนมากกว่านักเรียนเก่งขาดประสบการณ์ที่จะได้เห็นการเรียนของเพื่อน ขาดโอกาสจะแบ่งปันทั้งความรู้ ความคิด และวิธีการเรียนรู้จากเพื่อนวัยเดียวกัน ข้อมูลชี้ว่า ระบบโรงเรียนที่ปฏิบัติเช่นนี้มีคะแนนต่ำ นโยบายการแข่งขันสูงในการรับนักเรียน ทำให้นักเรียนเก่งไปรวมกันอยู่ในโรงเรียนดีที่สุดทั้งทางด้านวิชาการและสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของโรงเรียนและของนักเรียน จึงเป็นการแบ่งแยกชนชั้นไปโดยปริยาย และสร้างความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาซึ่งเป็นผลลบต่อการเรียนรู้ นอกจากนี้โรงเรียนที่ดีกว่ายังมีโอกาสได้ทั้งทรัพยากรการเรียนที่มีคุณภาพสูง ครูคุณภาพสูง ในขณะที่โรงเรียนอื่นทั่วไปขาดโอกาส ตัวแปรเหล่านี้ล้วนเป็นผลทางลบต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งสิ้น (OECD, 2016)

ตัวแปรจากสังคมและวัฒนธรรมมีผลอย่างไร

สังคมและวัฒนธรรมของไทยเป็นระบบที่เชื่อฟังผู้มีอำนาจ คนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนสำคัญ หรือมีชื่อเสียง ดังนั้นในวงการศึกษาเมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็จะใช้ความคิดเห็นจากบุคคลเหล่านั้น ซึ่งถ้าขาดพื้นฐานหรือประสบการณ์ด้านการศึกษา และไม่ได้คำนึงถึงผลการวิจัยที่ผ่านมา ก็นับว่าเป็นเรื่องเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้สาธารณชนไทยยังขาดวิจารณญาณและมักเชื่อทันทีที่มีคนบอกอะไร โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล วัฒนธรรมการขาดความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์นี้ถูกส่งต่อเข้าไปในโรงเรียน นักเรียนไม่ได้ถูกฝึกให้คิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ การเรียนของนักเรียนจึงมักจบท้ายด้วยการกวดวิชา และเน้นการเรียนเพื่อสอบมากกว่าเพื่อความเข้าใจ

จากข้อมูลที่สื่อระบุว่า “ไทยใช้งบต่อหัวกับเด็ก 23.1% ของ GDP” นั้น ในความเป็นจริงแล้ว ไทยมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเพียง 4.0% ของ GDP เท่านั้น (Office of the Education Council, 2017) อนึ่งตัวเลขที่อ้างค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (% ของ GDP) นั้นที่จริงไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าจะมีเงินใช้จ่ายทางการศึกษามากหรือน้อยเพียงใด อาจชี้บอกได้แต่ความตั้งใจของประเทศหนึ่ง ๆ ที่จะให้กับการศึกษา เช่น ตัวเลขในปี 2015 ประเทศติมอร์-เลสเตใช้งบประมาณการศึกษาเป็น 10.1% ของ GDP ซึ่งไม่ได้แปลว่าติมอร์-เลสเต มีเงินใช้จ่ายจริงมากกว่าไทย ในเมื่อติมอร์-เลสเต มี GDP เพียง 2,842 millions of International dollars-ppp แต่ประเทศไทยมี GDP ถึง 1,110,458 millions of International dollars-ppp (The World Bank, April 28, 2017) การเทียบ % ของ GDP จึงไม่ได้บอกข้อมูลอะไรมาก แต่ตัวเลขที่จะชี้วัดประสิทธิภาพการศึกษาได้ คือ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมต่อหัวมากกว่า


รูป 3 สัดส่วนของงบประมาณการศึกษาต่อ GDP เปรียบเทียบ

ที่มา: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา


เวลาเรียนหรือคุณภาพการใช้เวลาเรียนที่ส่งผลทางบวก

ข้อมูลที่อ้างข้างต้น คือ ฮ่องกงใช้เวลาเรียน 790 ชม./ปี ในขณะที่ไทยใช้เวลาเรียน 1,200 ชม./ปี ถ้าให้ข้อมูลเพียงเท่านี้อาจทำให้ระดับนโยบายตกใจและรีบลดเวลาเรียนก็เป็นได้ ที่จริงข้อมูล 1,200 ชม. นั้นไม่ใช่สำหรับระดับมัธยมศึกษา นักเรียนไทยมีเวลาเรียนปกติตามตาราง 1,000 ชม./ปี อย่างไรก็ตาม การใช้เวลาเรียนต้องดูประกอบกับจำนวนวิชาที่เรียน การให้ลำดับความสำคัญแก่วิชาด้วย จากการสำรวจของ PISA ฮ่องกงมีเวลาเรียนตามตารางปกติ 697 ชม. แต่ให้เวลาเรียนคณิตศาสตร์ 267.6 นาที/สัปดาห์ ขณะที่ไทยมีเวลาเรียน 1,000 ชม./ปี แต่ให้เวลาเรียนคณิตศาสตร์ 205.9 นาที/สัปดาห์ แสดงว่านักเรียนไทยใช้เวลาด้านอื่น ๆ มาก ทำให้เรียนวิชาหลักได้น้อยกว่า และในระบบไทยยังให้นักเรียนทำการบ้านมาก หรือมอบหมายงานให้ทำเกินเวลาที่นักเรียนจะสามารถทำได้ นอกจากนั้น นักเรียนและพ่อแม่ยังนิยมการเรียนพิเศษนอกเวลา นักเรียนจึงไม่มีเวลาจะย่อย ทบทวนสิ่งที่เรียนมาจากโรงเรียน ข้อมูล PISA ชี้ว่า การใช้เวลาทำการบ้านมากและการเรียนพิเศษนอกเวลา ส่งผลกระทบทางลบต่อการเรียนรู้


รูป 4 ความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนพิเศษนอกเวลากับคะแนนวิทยาศาสตร์

ที่มา: OECD, 2016b

หมายเหตุ นักเรียนไทยใช้เวลาเรียนนอกเวลามากและคะแนนต่ำ


ต้องยอมรับความจริงว่า คุณภาพการศึกษาไทยยังห่างไกลความเป็นเลิศ การแก้ไขปรับปรุงจึงเป็นเรื่องรีบด่วน ผลการวิจัยที่ชี้ ความอ่อนด้อยน่าจะเป็นจุดเริ่มของการแก้ไขที่ถูกจุดทั้งในด้านการจัดการทางการศึกษา สังคมและวัฒนธรรม ทั้งวัฒนธรรมการไม่คิด เชิงวิพากษ์วิจารณ์ ความนิยมในการที่ต้องให้ผู้อื่นบอก การกวดวิชาก็เป็นผลพวงจากความนิยมนี้ ตัวแปรเหล่านี้ ผลการวิจัยชี้ชัดว่า ส่งผลกระทบทางลบต่อคุณภาพการศึกษา

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 1MB)