PISA 2015 เน้นวิทยาศาสตร์เป็นการประเมินหลัก มีการอ่าน คณิตศาสตร์ และการแก้ปัญหาแบบร่วมมือเป็นด้านรอง (การประเมินวิทยาศาสตร์เป็นหลักครั้งแรกใน PISA 2006) มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างประมาณ 540,000 คน เป็นตัวแทนของนักเรียนกลุ่มอายุ 15 ปี ที่มีประมาณ 29 ล้านคน จากโรงเรียนใน 72 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก OECD 35 ประเทศ และที่เหลือเป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจร่วมโครงการ (Partner countries/ economics)
ข้อสอบทั้งหมดต้องใช้เวลาตอบทั้งหมด 810 นาที แต่นักเรียนไม่ได้ตอบข้อสอบทุกข้อ เพราะข้อสอบถูกจัดเป็นชุดให้นักเรียนแต่ละคนใช้เวลาสอบสองชั่วโมง และใช้เวลาอีก 35 นาที ตอบแบบสอบถามการสำรวจภูมิหลังเกี่ยวกับตัวนักเรียน บ้าน โรงเรียน และประสบการณ์การเรียน นอกจากนี้ยังมีแบบสอบถามสำหรับโรงเรียนที่ถามครูใหญ่เกี่ยวกับระบบโรงเรียนและสิ่งแวดล้อมทางการเรียน และในบางประเทศ/เขตเศรษฐกิจอาจเลือกเก็บข้อมูลเพิ่มเติม โดยใช้แบบสอบถามสำหรับครู แบบสอบถามพ่อแม่ผู้ปกครอง แบบสอบถามความคุ้นเคยในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และแบบสอบถามเกี่ยวกับการศึกษาและอาชีพของนักเรียน การสอบครั้งนี้ใช้การทดสอบบนคอมพิวเตอร์เป็นหลัก แต่มีบางประเทศยังคงเลือกใช้การสอบแบบเขียนบนกระดาษอยู่บ้าง
ผลการประเมินวิทยาศาสตร์
- สิงคโปร์มีผลการประเมินสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับประเทศสมาชิก OECD ที่มีผลการประเมินรองลงมาซึ่งมีผลการประเมินสูงสุด 4 อันดับแรกของกลุ่ม OECD ได้แก่ ญี่ปุ่น เอสโตเนีย ฟินแลนด์ และแคนาดา นอกจากนี้กลุ่มเขตเศรษฐกิจจากประเทศจีน ได้แก่ มาเก๊า ฮ่องกง และจีน-4 มณฑล (ประเมินใน 4 มณฑล ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และกวางตุ้ง) และเวียดนาม มีผลการประเมินอยู่ในกลุ่มบนสุดสิบอันดับแรก (Top 10)
- นักเรียนในประเทศสมาชิก OECD ประมาณ 8% มีคะแนนอยู่ในกลุ่มสูงสุด (Top performers) นั่นคือมีผลการประเมินในระดับ 5 และระดับ 6 ซึ่งสิงคโปร์มีนักเรียนถึงหนึ่งในสี่ที่รู้วิทยาศาสตร์ในระดับสูง ส่วนญี่ปุ่น จีน-4 มณฑล เกาหลี และเวียดนาม มีสัดส่วนนักเรียนค่อนข้างสูง (ประมาณ 15%, 14%, 11% และ 8% ตามลำดับ) นักเรียนที่มีผลการประเมินระดับนี้มีความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์มากพอที่จะสร้างสรรค์ และสามารถใช้ความรู้และทักษะวิทยาศาสตร์ได้อย่างลื่นไหลในสถานการณ์ต่าง ๆ แม้จะเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย
- นักเรียนที่มีผลการประเมินไม่ถึงระดับ 2 ค่าเฉลี่ย OECD มีนักเรียนประมาณ 20% มีผลการประเมินไม่ถึงระดับ 2 ซึ่งตามเกณฑ์ของ PISA จัดว่าเป็น “ระดับพื้นฐานต่ำสุด” ที่นักเรียนที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานควรจะมีสมรรถนะถึงระดับนี้ ซึ่งเป็นระดับที่แสดงว่าพอจะมีความรู้และทักษะวิทยาศาสตร์พอจะใช้ประโยชน์ได้ในสถานการณ์ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ที่ระดับ 2 นักเรียนสามารถนำความรู้พื้นฐานมาใช้เพื่อระบุประเด็นทางวิทยาศาสตร์ สามารถอธิบายปรากฏการณ์ ตีความข้อมูล หรือบอกปัญหาจากการทดลองง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนได้
- ความแตกต่างระหว่างเพศในด้านวิทยาศาสตร์มีค่อนข้างน้อย ในประเทศสมาชิก OECD นักเรียนชายมีคะแนนวิทยาศาสตร์มากกว่านักเรียนหญิงเพียง 4 คะแนนเท่านั้น แต่ใน 33 ประเทศ นักเรียนที่ได้คะแนนในกลุ่มสูงเป็นนักเรียนชายมากกว่านักเรียนหญิง ยกเว้นในฟินแลนด์ที่นักเรียนที่ได้คะแนนในกลุ่มสูงเป็นนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชาย ประเทศที่นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่า ส่วนมากเป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจร่วมโครงการ ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีเพียงฟินแลนด์ กรีซ เกาหลี ลัตเวีย และสโลวีเนียที่นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่า
- ความต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉลี่ย OECD มีนักเรียนชาย 25% และนักเรียนหญิง 24% ที่ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ นักเรียนหญิงมักอยากทำงานทางด้านที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ แต่นักเรียนชายต้องการทำงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมากกว่า ค่าเฉลี่ยของนักเรียนญี่ปุ่นและเกาหลีที่ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อยู่ที่ 18% และ 19% ตามลำดับ ส่วนสิงคโปร์มี 28% และเวียดนามมี 20%
- สำหรับค่าเฉลี่ยของประเทศไทย พบว่า นักเรียนที่ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์มีประมาณ 20% แต่ที่ต้องการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมมีน้อย (4%) ส่วนมากต้องการทำงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (14%) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยิ่งมีน้อย (1.4%) ซึ่งความต้องการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของไทยลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับ PISA 2006 (ลดลง 8%) ส่วนความต้องการทำงานวิทยาศาสตร์ด้านอื่นก็ลดลงเล็กน้อย ตัวเลขนี้อาจชี้แนวโน้มถึงอนาคตของงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติที่อาจจะถดถอยอยู่บ้าง แต่กลุ่มนักเรียนที่มีผลการประเมินสูง มีนักเรียนประมาณครึ่งหนึ่ง (49%) ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ (สูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD) ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้วิทยาศาสตร์หากต้องการเร่งยกระดับการทำงานที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะการมีผลการเรียนที่ดีเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการเลือกอาชีพในอนาคต สำหรับด้านความแตกต่างระหว่างเพศ นักเรียนหญิงที่ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์มีมากเป็นสองเท่าของนักเรียนชายซึ่งสวนทางกับแนวโน้มของประเทศอื่น ๆ
ผลการประเมินการอ่านและคณิตศาสตร์
- นักเรียนจากประเทศสมาชิก OECD ประมาณ 20% มีผลการประเมินการอ่านไม่ถึงระดับพื้นฐาน (ระดับ 2) ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจาก PISA 2009 สิงคโปร์มีนักเรียนเพียง 11% ที่มีการอ่านต่ำกว่าระดับ 2
- ค่าเฉลี่ย OECD นักเรียนหญิงมีการอ่านสูงกว่านักเรียนชาย โดยนักเรียนหญิงมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนชาย 27 คะแนน ซึ่งเป็นช่องว่างความแตกต่างที่แคบกว่าผลการประเมินครั้งก่อน ๆ ทั้งนี้เพราะนักเรียนชายมีการอ่านดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนชายที่มีคะแนนสูง แต่นักเรียนหญิงกลับมีการอ่านถดถอยลงโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนหญิงที่มีคะแนนต่ำ
- ในด้านคณิตศาสตร์ ปรากฏว่า จีน-4 มณฑล ฮ่องกง-จีน สิงคโปร์ และจีนไทเป มีนักเรียนถึงหนึ่งในสี่ได้คะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในระดับสูง (ระดับ 5 และ ระดับ 6) นั่นคือ สามารถปฏิบัติภารกิจที่ต้องการความสามารถในการแปลงสถานการณ์ทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนและการใช้สัญลักษณ์แทนเพื่อช่วยแก้ปัญหา เวียดนามมีนักเรียนในระดับสูง 9%
ความเท่าเทียมกันทางการศึกษา
ความเท่าเทียมกันทางการศึกษา (Equity in Education) คือ ความเป็นธรรมทางการศึกษาที่นักเรียนทุกคนควรได้รับ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนยากจน นักเรียนที่มีผลการเรียนอ่อน นักเรียนที่เป็นผู้อพยพ ฯลฯ เรื่องนี้เป็นแนวโน้มปัจจุบันของโลก ทุกประเทศพยายามทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายนี้ สำหรับประเทศไทยก็บรรจุเป้าหมายนี้ไว้เช่นเดียวกัน ข้อมูลจากการวิจัยชี้ว่า
- ประเทศที่นักเรียนมีคะแนนสูงและไม่ค่อยมีความแตกต่างกันในด้านความเท่าเทียมกัน ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฮ่องกง-จีน และมาเก๊า-จีน
- ค่าเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD นักเรียนที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมีผลการประเมินวิทยาศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐานต่ำสุด ประมาณสามเท่าของนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้เปรียบกว่า แต่นักเรียนกลุ่มด้อยกว่านี้มีถึง 29% ที่พลิกความคาดหมายคือตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมแล้วคาดว่าน่าจะมีผลการประเมินต่ำ แต่กลับมีผลการประเมินสูง (Resilient) เมื่อเทียบกันในระดับนานาชาติ ปรากฏว่า ใน 20 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยเปรียบมากที่สุดในประเทศหนึ่ง กลับมีผลการประเมินสูงกว่านักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มสูงสุดจากประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในเวียดนามซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีค่าดัชนีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเฉลี่ยต่ำกว่านักเรียนไทยด้วย แต่มีนักเรียนกลุ่ม Resilient ถึง 75.5%
- ในช่วงระยะเวลาระหว่าง PISA 2006 และ PISA 2015 ในช่วงดังกล่าว สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่แสดงว่ามีการปรับปรุงด้านความเท่าเทียมทางการศึกษามากที่สุด นอกนั้นไม่มีประเทศหรือเขตเศรษฐกิจใดมีการยกระดับทั้งผลการประเมินวิทยาศาสตร์และความเท่าเทียมทางการศึกษา แต่ปรากฏว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมกับผลการประเมินวิทยาศาสตร์กลับอ่อนลงใน 9 ประเทศ (หรือตัวแปรด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลกระทบต่ำลงต่อการเรียนรู้)
- โดยเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD หลังจากอธิบายด้วยตัวแปรด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมแล้วพบว่า นักเรียนที่มีภูมิหลังเป็นผู้อพยพเข้าประเทศมีผลการประเมินวิทยาศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐานต่ำสุดมากกว่านักเรียนที่ไม่ใช่เป็นผู้อพยพถึงสองเท่า แม้กระนั้นก็ตามยังมีนักเรียนผู้อพยพถึง 24% ที่มีคะแนนสูงกว่าที่ควรจะเป็นตามภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (Resilient)
- ค่าเฉลี่ยทุกประเทศ โรงเรียนที่มีนักเรียนมีภูมิหลังเป็นผู้อพยพเข้าประเทศรวมกันอยู่หนาแน่น เมื่ออธิบายด้วยตัวแปรด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับผลการประเมินที่ต่ำ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ผลการประเมินที่ต่ำกว่าเป็นผลกระทบมาจากตัวแปรด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่า ไม่ใช่มาจากการเป็นผู้อพยพ
- สำหรับนักเรียนที่ด้อยเปรียบ ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด เช่น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนหรือของโรงเรียน จากผลการเรียนวิทยาศาสตร์อ่อน จากการเป็นผู้อพยพ ความด้อยเปรียบนั้นสามารถทดแทนได้ด้วยทรัพยากรการเรียนที่มีคุณภาพเหมาะสม และถ้าโรงเรียนและครูสามารถให้เข้าถึงตัวนักเรียนรายตัวได้จะทำให้ผลการเรียนดีขึ้น อย่างน้อยก็ถึงระดับพื้นฐานต่ำสุดได้ และสามารถสร้างความสนใจต่อวิทยาศาสตร์ในการดำรงชีวิตและการงานอาชีพ การมีโปรแกรมการเรียนหรือกิจกรรมที่สร้างความสนใจวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนส่งเสริมสนับสนุนให้เข้ามาเรียนวิทยาศาสตร์ แม้กระทั้งนักเรียนที่โรงเรียนคาดว่าผลการเรียนจะไม่ดีไม่สามารถเข้าโปรแกรมการเรียนวิทยาศาสตร์ได้ แต่ถ้าได้รับความช่วยเหลือ การสนับสนุนและการสร้างแรงจูงใจ ก็จะช่วยให้นักเรียน “คิดเป็นวิทยาศาสตร์” ซึ่งจำเป็นสำหรับโลกปัจจุบัน และอาจช่วยชี้แนวทางการงานในอนาคตด้วย
ผลการประเมินวิทยาศาสตร์เฉลี่ยของนักเรียนในประเทศบอกนัยถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเร่งยกระดับ ข้อมูลชี้ว่า นักเรียนที่มีผลการเรียนวิทยาศาสตร์ดีมักต้องการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่นักเรียนที่อ่อนไม่ต้องการเข้าสู่อาชีพด้านนี้ ดังนั้น จึงควรส่งเสริมการเรียนรู้และเจตคติของนักเรียน มิใช่เฉพาะความรู้และทักษะในห้องเรียน แต่รวมไปถึงการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าถึงกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในชีวิตอย่างกว้างขวาง ท้าทายนักเรียนในด้านอาชีพการงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งสองเพศ ผลการประเมินยังชี้ถึงผลกระทบของความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาอันมาจากสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำให้ผลกระทบลดหรืออ่อนลงได้โดยการส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนที่ด้อยเปรียบกว่าด้วยการเสริมทรัพยากรทางการเรียนที่มีคุณภาพต่อการเรียนรู้และการเสริมสร้างกำลังใจและความท้าทายใหม่ ๆ ด้วยกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อ่านเพิ่มเติม
- OECD (2016a), PISA 2015 Results (Volume I): Excellence and Equity in Education, PISA, OECD Publishing, Paris.
- OECD (2016b), PISA 2015 Results (Volume II): Policies and Practices for Successful Schools, PISA, OECD Publishing, Paris.
ดาวน์โหลด (PDF, 762KB)