บรรยากาศทางระเบียบวินัย (Disciplinary climate) ส่งผลอย่างไร ต่อการเรียนรู้


  • บรรยากาศทางระเบียบวินัยส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ ทุกระบบโรงเรียนที่มีบรรยากาศทางระเบียบวินัยเชิงลบ นักเรียนมักมีผลการประเมินต่ำ ดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยของนักเรียนไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นและเวียดนาม และเกือบจะต่ำที่สุดในเอเชียด้วยกัน ยกเว้นมาเลเซีย
  • โรงเรียนที่มีบรรยากาศทางระเบียบวินัยเชิงลบ มักมีนักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หรือในโรงเรียนที่นักเรียนมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันมาก หรือในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู
  • ในเอเชียด้วยกัน นักเรียนไทยขาดเรียนทั้งวันหรือไม่เข้าชั้นเรียนบางวิชาเกือบสูงที่สุด
  • ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนมากที่สุด คือ การก่อกวนชั้นเรียนและการหนีเรียน

การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับหลายตัวแปร หนึ่งในนั้นคือบรรยากาศทางการเรียน ซึ่งครอบคลุมตัวแปรต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การเรียนการสอนโดยตรง แต่มีผลเกี่ยวข้องกับการเรียนของนักเรียน เช่น พฤติกรรมของนักเรียนและครูในมุมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางการเรียน รวมทั้งบรรยากาศทางระเบียบวินัยของนักเรียน การขาดเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน และขวัญกำลังใจของครู

การวิจัยเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของโรงเรียน พบว่า การเรียนต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นระเบียบและมีความร่วมมือร่วมใจทั้งในและนอกห้องเรียน ทั้งครูและนักเรียนต้องเห็นคุณค่าของกิจกรรมทางวิชาการและผลการเรียนรู้ของนักเรียน บรรยากาศในโรงเรียน ครูกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เมื่อครูเอาใจใส่นักเรียนอย่างจริงจัง นักเรียนก็สามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้นและไม่มีปัญหาทางระเบียบวินัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่เสียเปรียบ

บรรยากาศทางระเบียบวินัย

PISA สอบถามนักเรียนถึงบรรยากาศทางด้านพฤติกรรมที่นักเรียนก่อกวนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ และนำคำตอบมาสร้างดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัย ซึ่งได้กำหนดค่าเฉลี่ย OECD ที่ 0 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1 ดัชนีที่มีค่าสูงแสดงว่านักเรียนเห็นว่าชั้นเรียนมีบรรยากาศทางระเบียบวินัยในเชิงบวกหรือนักเรียนเห็นว่าชั้นเรียน มีระเบียบวินัยดี

นักเรียนไทยมีดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยต่ำกว่าเวียดนาม และต่ำกว่าเกือบทุกประเทศในเอเชีย (ยกเว้น จีนไทเป และมาเลเซีย) ในประเทศ/เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ญี่ปุ่นมีค่าดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD มากและเกือบสูงกว่าทุกประเทศในโครงการ PISA 2012 ยกเว้นคาซัคสถานที่มีค่าดัชนีสูงกว่า ดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยของนักเรียนในภูมิภาคเอเชียเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้ดังนี้ ญี่ปุ่น (0.67) เซี่ยงไฮ้-จีน (0.57) เวียดนาม (0.36) ฮ่องกง-จีน (0.29) สิงคโปร์ (0.21) เกาหลี (0.19) อินโดนีเซีย (0.12) มาเก๊า-จีน (0.10) ไทย (0.07) จีนไทเป (-0.01) และมาเลเซีย (-0.21)

ในระดับโรงเรียน บรรยากาศทางระเบียบวินัยมีความเกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอกับผลการประเมิน ข้อมูลชี้ว่า โรงเรียนที่มีคะแนนสูงจะมีบรรยากาศทางระเบียบวินัยเชิงบวก แม้ว่าจะอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียน และข้อมูลทางประชากรศาสตร์ของโรงเรียน รวมทั้งลักษณะของโรงเรียนด้วยแล้ว ในเกือบทุกประเทศ บรรยากาศทางระเบียบวินัยยังมีความเกี่ยวข้องกับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนด้วย นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับลักษณะของโรงเรียน เช่น ขนาดของโรงเรียน ที่ตั้งของโรงเรียน ประเภทของโรงเรียน การขาดแคลนครู ต่างมีความเกี่ยวข้องกับบรรยากาศทางระเบียบวินัยทั้งสิ้น

บรรยากาศทางระเบียบวินัยส่งผลกระทบอย่างไร

การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยและผลการประเมินคณิตศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า สำหรับค่าเฉลี่ย OECD เมื่อดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยเปลี่ยนไป 1 หน่วย คะแนนคณิตศาสตร์เปลี่ยนไป 18.2 คะแนน ซึ่งจะเห็นว่าเป็นค่าที่สูงมาก และสำหรับไทยข้อมูลชี้ว่า นักเรียนที่มีดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยกลุ่มต่ำสุด (Bottom Quarter) มีคะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ย 404 คะแนน แต่กลุ่มบนสุด (Top Quarter) มีคะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ย 440 คะแนน หรือถ้าดูตามค่าดัชนี พบว่าเมื่อดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยเปลี่ยนไป 1 หน่วย คะแนนคณิตศาสตร์เปลี่ยนไป 17.6 คะแนน ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย OECD ข้อมูลจึงชี้นัยว่า ถ้าดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยของนักเรียนไทยสูงเท่ากับของนักเรียนญี่ปุ่น เซี่ยงไฮ้-จีน หรือแม้แต่เวียดนาม คะแนนคณิตศาสตร์ของนักเรียนไทยจะสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากบรรยากาศทางระเบียบวินัยในห้องเรียนแล้ว บรรยากาศทางการเรียนที่รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับนักเรียน เช่น เจตคติที่ดีต่อการมาเรียน ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน นักเรียนหนีโรงเรียน ซึ่งรวมทั้งการมาโรงเรียนสาย การขาดเรียน และการออกจากโรงเรียนกลางคัน สิ่งแวดล้อมทางโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนของนักเรียน ล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับผลการเรียนของนักเรียนทั้งสิ้น

การขาดเรียนและหนีเรียน

บรรยากาศทางระเบียบวินัยมีความสัมพันธ์กับการขาดเรียนและการหนีเรียน จากการสอบถามนักเรียนว่าในช่วงเวลาก่อนเก็บข้อมูลสองสัปดาห์ นักเรียนขาดเรียนทั้งวันหรือไม่เข้าชั้นเรียนเป็นบางชั่วโมงบ้างหรือไม่ พบว่า ระบบที่มีบรรยากาศทางระเบียบวินัยต่ำจะมีนักเรียนขาดเรียนมากกว่า การสำรวจการขาดเรียนของนักเรียนในโรงเรียนโดยจำแนกเป็นกลุ่มตามความหนาแน่นของการขาดเรียนที่มากและน้อยต่างกัน เฉพาะในกลุ่มที่นักเรียนขาดเรียนมากกว่า 50% ในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่ามีนักเรียนไทยถึง 16.3% ในขณะที่เวียดนามมีเพียง 1.2% สิงคโปร์ 1.4% ส่วนเกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง-จีน และเซี่ยงไฮ้-จีน มีระหว่าง 0.5 ถึงไม่มีเลย (0.0%) มีแต่มาเลเซียเท่านั้นที่มีนักเรียนขาดเรียนมากกว่าไทย

นักเรียนไทยส่วนใหญ่ (49%) ขาดเรียนหนึ่งวันหรือไม่เข้าชั้นเรียนหนึ่งครั้ง ส่วนนักเรียนที่ไม่ขาดเรียนหรือขาดน้อยมากมีเพียง 5.4% เท่านั้น ในขณะที่นักเรียนเวียดนามมีมากกว่าครึ่งที่ไม่ขาดเรียน และยิ่งแตกต่างมาก เมื่อเทียบกับนักเรียนที่ไม่ขาดเรียนในเซี่ยงไฮ้-จีน (94%) ญี่ปุ่น (93%) เกาหลี (91%) และฮ่องกง-จีน (81%) และนี่อาจเป็นอีกคำอธิบายหนึ่งว่าเพราะเหตุใดระบบโรงเรียนในประเทศ/เขตเศรษฐกิจเหล่านั้นจึงเป็นระบบที่ประสบความสำเร็จ

นักเรียนมาโรงเรียนสาย

PISA สอบถามนักเรียนว่าในช่วงเวลาสองสัปดาห์ก่อนการเก็บข้อมูล (การสอบ PISA) นักเรียนมาโรงเรียนสายกี่ครั้ง เมื่อเทียบสัดส่วนนักเรียนในภูมิภาคเอเชีย พบว่า นักเรียนไทยมาโรงเรียนสายมากที่สุด และมีนักเรียนไทย 66% รายงานว่าไม่เคยมาโรงเรียนสายซึ่งใกล้เคียงกับมาเลเซีย ส่วนประเทศในเอเชียอื่น ๆ มีนักเรียนที่ไม่เคยมาสายมากกว่าไทย เช่น เวียดนาม (84%) เซียงไฮ้-จีน (83%) จีนไทเป (77%) สิงคโปร์ (79%) อินโดนีเซีย (73%) ฮ่องกง-จีน (85%) เกาหลี (75%) และญี่ปุ่น (91%)

บรรยากาศในโรงเรียนจากปัจจัยที่เกี่ยวกับนักเรียนและครู

PISA สอบถามครูใหญ่ด้านพฤติกรรมอื่น ๆ ของนักเรียนที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียน เป็นต้นว่า นักเรียนหนีเรียน ขาดเรียนบางชั่วโมงเรียน มาโรงเรียนสาย ก่อกวนชั้นเรียน ไม่ร่วมกิจกรรมภาคบังคับหรือแม้แต่กิจกรรมทัศนศึกษา นักเรียนขาดความเคารพครู การใช้เหล้าและ/หรือยาเสพติด ข่มขู่หรือรังแกเพื่อน โดยสรุปจากรายงานของครูใหญ่ชี้ว่า ปัจจัยที่ขัดขวางการเรียนมากที่สุด คือ การก่อกวนชั้นเรียน และการขาดเรียนส่งผลขัดขวางการเรียนสูงที่สุด สูงกว่าการใช้เหล้าและ/หรือยาเสพติด การที่นักเรียนเกเรข่มขู่หรือรังแกเพื่อน การไม่ร่วมกิจกรรมภาคบังคับ หรือการไม่แสดงความเคารพครู

อย่างไรก็ตาม มีจุดที่ควรเป็นกังวล คือ เมื่อเปรียบเทียบรายงานของครูใหญ่ของไทยจาก PISA 2003 ถึง PISA 2012 ที่ชี้ว่า นักเรียนไม่เข้าชั้นเรียนเป็นบางวิชาเพิ่มขึ้น 10.9% นักเรียนใช้เหล้าและ/หรือยาเสพติดเพิ่มขึ้น 5.3% นักเรียนข่มขู่รังแกเพื่อนเพิ่มขึ้น 2.5%

บรรยากาศทางการเรียนจากปัจจัยด้านครู

โดยเฉลี่ยในโรงเรียนไทยครูใหญ่รายงานว่าไม่มีปัญหาอุปสรรคจากปัจจัยด้านครู โดยทั่วไปครูใหญ่รายงานเชิงบวกสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องการที่ครูต้องสอนนักเรียนหลายชาติพันธุ์หรือที่มีความสามารถหลากหลายในชั้นเรียนเดียวกัน ทั้งนี้เพราะโรงเรียนไทยประมาณสามในสี่มีการคัดแยกกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ ทั้งที่ผลการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ชี้ว่า การแบ่งแยกกลุ่มนักเรียนไม่ส่งผลทางบวกต่อคุณภาพการเรียนรู้

ปัจจัยด้านพฤติกรรมของครูส่งผลต่อการเรียนของนักเรียนค่อนข้างสูง สำหรับค่าเฉลี่ย OECD ดัชนีที่เปลี่ยนไปหนึ่งหน่วยทำให้คะแนนคณิตศาสตร์เปลี่ยนไป 10 คะแนน และสำหรับประเทศไทยส่งผลทำให้คะแนนคณิตศาสตร์เปลี่ยนไป 17 คะแนนต่อหนึ่งหน่วยดัชนี แต่สำหรับเวียดนาม พฤติกรรมของครูไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของนักเรียน แสดงว่านักเรียนเวียดนามมีความมุ่งมั่นสูงมาก ประกอบกับในเอเชีย นักเรียนเวียดนามมีค่าดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยสูงมากเป็นรองแค่นักเรียนญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากนี้บรรยากาศทางระเบียบวินัยยังมีความสัมพันธ์กับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียนซึ่งเชื่อมโยงไปสัมพันธ์กับการขาดแคลนครู เพราะโรงเรียนที่ยากจนมักขาดแคลนครูคุณภาพสูง การปรับปรุงบรรยากาศทางระเบียบวินัยจึงต้องมุ่งไปแก้ไขที่ตัวแปรทั้งสองนี้ด้วย

  • โรงเรียนที่มีบรรยากาศทางระเบียบวินัยเชิงลบ นักเรียนมักมีผลการประเมินต่า นักเรียนไทยมีค่าดัชนีบรรยากาศทาง ระเบียบวินัยอยู่ในระดับเกือบจะต่าที่สุดเมื่อเทียบประเทศในเอเชียด้วยกัน
  • โรงเรียนที่มีบรรยากาศทางระเบียบวินัยต่า นักเรียนมักมาโรงเรียนสายหรือขาดเรียนบางชั่วโมงหรือทั้งวัน
  • ข้อมูลชี้นัยว่าถ้านักเรียนไทยมีบรรยากาศทางระเบียบวินัยดีขึ้น มีความเป็นไปได้ที่จะมีผลการประเมินสูงขึ้น
  • เรื่องระเบียบวินัยเป็นอีกเรืองหน่ึงที่สะท้อนภาพคุณภาพการเรียนรู้ได้ชัดเจนพอสมควร จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ ความสาคัญในการยกระดับการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะจาเป็นกว่าการเปลี่ยนหลักสูตร

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 815KB)