การใช้เวลาเรียนมากขึ้นทำให้การเรียนรู้ดีขึ้นหรือไม่


  • นักเรียนวัยอายุ 15 ปี ไม่ว่าในโรงเรียนประเภทใด มีเวลาเรียนในปี 2012 เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2003
  • โดยเฉลี่ย นักเรียนที่มีเวลาเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น มีผลการประเมินสูงขึ้น

เวลาเรียนกับการเรียนรู้สัมพันธ์กันอย่างไร

PISA 2012 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเวลาเรียนกับผลการเรียนรู้ของนักเรียน ข้อมูลชี้ว่า ในระดับโรงเรียน เวลาเรียนที่กำหนดตามตารางในโรงเรียนมีความเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ แต่การใช้เวลาเรียนนอกเวลาและการเรียนพิเศษนอกเวลาไม่มีความสัมพันธ์ที่ตรงไปตรงมาเหมือนกับการใช้เวลาเรียนในเวลา

งานวิจัยชี้ว่า เวลาเรียนเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างแรกในการพัฒนาสมรรถนะต่าง ๆ ของนักเรียน PISA 2012 ได้ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างเวลาเรียนกับผลการเรียนคณิตศาสตร์ ซึ่งอย่างน้อยก็ให้ข้อมูลว่า ยิ่งนักเรียนใช้เวลาเรียนมากคะแนนก็ยิ่งดีขึ้น (OECD, 2013) การจัดเวลาที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพขึ้น การจัดเวลาเรียนในตารางเวลาเรียนซึ่งมีโครงสร้างและตัวแปรน้อย จึงอยู่ในบริบทที่ควบคุมได้ (OECD, 2013) อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของเวลาเรียนเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะยังมีปัจจัยต่าง ๆ อีกมากที่เข้ามามีอิทธิพลกับผลของการเรียน เช่น การใช้ทรัพยากรเวลาอย่างมีคุณภาพ หรือกิจกรรมที่เสริมการเรียน เป็นต้น ในทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ พบว่า ระบบโรงเรียนที่มีผลการประเมินสูงเป็นระบบโรงเรียนที่มีการทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรมากกว่า และนักเรียนเคยผ่านการเรียนในระดับก่อนวัยเรียนเป็นเวลานานมากกว่าหนึ่งปี

แต่ละประเทศมีเวลาเรียนในตารางเรียนต่างกันอย่างไร

รวมทั้งเวลาการเรียนวิชาบังคับและวิชาเสริมตามหลักสูตรเป็นกฎระเบียบอย่างหนึ่งของแต่ละระบบโรงเรียน โดยเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD กำหนดเกณฑ์คร่าว ๆ ไว้ว่า นักเรียนคนหนึ่งเมื่ออายุถึง 14 ปี ควรได้มีเวลาเรียนมาประมาณ 7,700 ชั่วโมงในโรงเรียน (รวมระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) ซึ่งเวลาเรียนทั้งหมดนี้เป็นการเรียนภาคบังคับ (OECD, 2013) แต่ในบางประเทศ เมื่อนักเรียนอายุถึง 14 ปี ต้องมีเวลาเรียนบังคับตามหลักสูตร 9,400 ชั่วโมง (เช่น ออสเตรเลีย) แต่บางประเทศมีเวลาเรียนบังคับตามหลักสูตรน้อยกว่า 6,000 ชั่วโมง (เช่น ฟินแลนด์ โปแลนด์ สวีเดน) สำหรับในระบบโรงเรียนของไทยนักเรียนมีเวลาเรียนที่บังคับตามหลักสูตรจนถึงอายุ 14 ปี เป็นเวลา 6,998 ชั่วโมง ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของ OECD

การตัดสินใจกำหนดเวลาเรียนทั้งหมด ควรคิดจากพื้นฐานใด

เวลาเรียนเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในประเทศสมาชิก OECD สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ ภาษา (ของชาติ) และวิทยาศาสตร์ เป็นดังนี้

  • คณิตศาสตร์ 3 ชั่วโมง 38 นาที
  • ภาษา 3 ชั่วโมง 35 นาที และ
  • วิทยาศาสตร์ 3 ชั่วโมง 20 นาที

สำหรับเวลาเรียนของนักเรียนในประเทศกลุ่มอาเซียนและกลุ่มคะแนนสูงอื่น ๆ ในเอเชีย เฉพาะสามวิชาหลัก สรุปได้ดังนี้


ตาราง 1 เวลาเรียนที่ปฏิบัติจริงของนักเรียนอายุ 15 ปี ในโปรแกรมการเรียนปกติต่อสัปดาห์


ที่มา: PISA 2012 Database, OECD, 2013


ข้อสังเกต

นักเรียนไทยมีเวลาเรียนวิชาหลักในบทเรียนปกติมากหรือน้อย

  • แม้ว่าจำนวนคาบเรียนต่อสัปดาห์ของนักเรียนไทยจะค่อนข้างสูง (แต่ยังต่ำกว่ากลุ่มระบบโรงเรียนจีน) แต่เวลาเรียนสามวิชาหลักกลับต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ และเวลาเรียนภาษาไทยต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเรียนไทยมีทักษะทางภาษาต่ำมาก
  • นักเรียนไทยมีเวลาเรียนคณิตศาสตร์ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ (ยกเว้นมาเลเซีย) ทั้งนี้เพราะนักเรียนไทยมีวิชาเรียนมากกว่าและมีจำนวนกิจกรรมภาคบังคับสูง จึงจัดเวลาเรียนให้วิชาคณิตศาสตร์ได้ไม่มาก
  • นอกจากจำนวนเวลาเรียน คุณภาพการเรียนรู้ยังขึ้นกับคุณภาพของการใช้เวลา ข้อสังเกต คือ เวลาเรียนที่จัดให้วิชาวิทยาศาสตร์สูงมาก (เป็นรองจากสิงคโปร์เท่านั้น) แต่การให้คุณค่ากับวิชาวิทยาศาสตร์กลับต่ำมาก เพราะในการสอบสำคัญ ๆ กลับให้คะแนนวิทยาศาสตร์รวมกัน (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ดาราศาสตร์ ฯลฯ) มีค่าเท่ากับหนึ่งวิชาอื่น ๆ หนึ่ง (เช่น สังคมศึกษา เป็นต้น) การปฏิบัติข้อนี้จึงเป็นการใช้เวลาที่ไม่เหมาะสม (Mismatched) กับค่าที่ให้
  • ข้อมูลชี้ว่า นักเรียนไทยไม่ได้มีเวลาเรียนมาก แต่ปัญหาอยู่ที่การมีวิชาบังคับเรียนมากเกินไป และคุณภาพของการใช้เวลาที่ไม่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องทำอีกมากมาย

การใช้เวลาเรียนมีความเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการอย่างไร


ตาราง 2 เวลาเรียนคณิตศาสตร์ต่อสัปดาห์ของนักเรียนอายุ 15 ปี ในการเรียนปกติกับคะแนนคณิตศาสตร์


ที่มา: PISA 2012 Database, OECD, 2013


ข้อมูลชี้แนวโน้มส่วนใหญ่ว่านักเรียนที่มีเวลาเรียนคณิตศาสตร์มากกว่ามักมีคะแนนคณิตศาสตร์สูงกว่า กราฟในรูปข้างล่างนี้อาจชี้ภาพแนวโน้มนี้ได้ชัดขึ้น


รูป 1 กราฟเวลาเรียนกับคะแนนคณิตศาสตร์


ระบบโรงเรียนอื่นมีการเปลี่ยนแปลงเวลาเรียนอย่างไร

นับจากการประเมินคณิตศาตร์ในปี 2003 เป็นต้นมาจนถึงปี 2012 ในประเทศสมาชิก OECD ให้เวลาเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มสูงขึ้น โดยหลายประเทศให้เวลาเรียนเพิ่มขึ้นมาก เช่น เพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งชั่วโมงครึ่งในโปรตุเกสและแคนาดา โปรตุเกสซึ่งเคยมีเวลาเรียนคณิตศาสตร์สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง 15 นาที ในปี 2003 ให้เวลาเพิ่มเป็น 4 ชั่วโมง 48 นาที ในแคนาดาเวลาเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มจาก 3 ชั่วโมง 43 นาที เป็น 5 ชั่วโมง 14 นาที และมีหลายประเทศมีเวลาเรียนเพิ่มมากกว่า 30 นาที ได้แก่ ในสเปน นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา ใน 14 ประเทศ มีเวลาเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15 นาที

จะเห็นได้ว่า ในประเทศที่มีเวลาเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นก็ไม่ใช่ประเทศที่เคยมีเวลาเรียนน้อยมาตั้งแต่เดิมจากปี 2003 เวลาเรียนที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศสมาชิก OECD เกิดขึ้นทั้งในโรงเรียนทุกประเภท ทั้งในโรงเรียนที่ได้เปรียบและที่เสียเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในโรงเรียนของรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน โรงเรียนที่สอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตลอดจนโรงเรียนในชนบท ในเมือง และในเมืองใหญ่

อย่างไรก็ตาม ก็มีประเทศที่ลดเวลาเรียนคณิตศาสตร์ลงใน PISA 2003 เกาหลีซึ่งเป็นประเทศที่เคยมีเวลาเรียนคณิตศาสตร์สูงที่สุดมาก่อน และได้ลดเวลาเรียนคณิตศาสตร์ลงมากกว่า 30 นาทีต่อสัปดาห์ และเกาหลีก็เป็นประเทศคะแนนสูง แต่ก็ยังมีประเทศคะแนนต่ำที่ลดเวลาเรียนเฉลี่ยต่อสัปดาห์ลงอย่างน้อย 15 นาทีต่อสัปดาห์ ได้แก่ ตุรกี อุรุกวัย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐสโลวัก และไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีผลการประเมินต่ำ

เวลาเรียนมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลการเรียน นักเรียนไทยมีเวลาเรียนไม่เพียงพอโดยเฉพาะวิชาภาษา (ของชาติ) ส่งผลให้นักเรียนไทยประมาณครึ่งหนึ่งมีความสามารถทางภาษาไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานสากล การตัดสินใจที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบโรงเรียน คือ การกำหนดว่าจะให้เวลาเรียนวิชาหลักเท่าไร เพราะการมีเวลาเรียนที่มากพอต้องมาก่อนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและความเท่าเทียมกันในการเรียน แต่การเพิ่มเวลาเรียนอย่างเดียวก็ไม่ได้ประกันว่าการเรียนรู้จะดีขึ้น โรงเรียนและระบบโรงเรียนต้องประกันด้วยว่าจะต้อง มีหลักสูตรที่สอดคล้องเหมาะสม และมีครูคุณภาพสูง และสิ่งแวดล้อมทางการเรียนที่ดีประกอบด้วย

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 621KB)