Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics ของบทความ Focus ประเด็นจาก PISA ฉบับที่ 56 “การร่วมมือกันและการแข่งขันกันของผู้เรียนมีความสัมพันธ์อย่างไรกับผลการประเมินด้านการอ่านใน PISA 2018“
บรรยากาศในการเรียนเป็นปัจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของผู้เรียน

บรรยากาศในการเรียนรู้ที่น่าสนใจมี 2 รูปแบบ คือ การเรียนรู้แบบร่วมมือและการเรียนรู้แบบแข่งขัน ซึ่งการเรียนรู้ทั้ง 2 รูปแบบ ต่างก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมบรรยากาศของการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลการเรียนของนักเรียนได้ในบริบทที่แตกต่างกัน

ข้อมูลจากการประเมิน PISA 2018 พบว่า ในภาพรวมนักเรียนส่วนใหญ่ในทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ รายงานว่า ในโรงเรียนมีบรรยากาศของการร่วมมือกันระหว่างนักเรียนมากกว่าการแข่งขันกัน
แต่สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ดัชนีการร่วมมือกันของนักเรียนและดัชนีการแข่งขันกันของนักเรียนจะมีค่าใกล้เคียงกัน แต่นักเรียนไทยยังมีความคิดเห็นว่าในโรงเรียนมีบรรยากาศของการแข่งขันกันสูงกว่าการร่วมมือกันอยู่เล็กน้อย

การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผลการประเมินด้านการอ่านกับข้อคำถามด้านการร่วมมือกันและด้านการแข่งขันกันของไทย พบว่า หากนักเรียนไทยมีการรับรู้ว่าเพื่อนในโรงเรียนมีการร่วมมือกันและให้ความสำคัญต่อการร่วมมือกันและการแข่งขันก็จะส่งผลเชิงบวกกับคะแนนการอ่าน
แต่ถ้าหากนักเรียนรับรู้ว่ามีการถูกเปรียบเทียบกับเพื่อนในโรงเรียน และเพื่อนนักเรียนต่างมีความรู้สึกร่วมกันว่าการแข่งขันกันเองเป็นสิ่งสำคัญก็จะส่งผลเชิงลบกับคะแนนการอ่าน

PISA ยังมีการศึกษาด้วยว่า หากนักเรียนมีการรับรู้ว่าเพื่อนที่โรงเรียนมีการแข่งขันกันแล้ว นักเรียนจะมีเจตคติต่อการแข่งขันอย่างไร จากการศึกษาพบว่า
หากนักเรียนไทยใช้การแข่งขันกันเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดความพยายามในการเรียนรู้ก็จะส่งผลเชิงบวกกับคะแนนการอ่าน แต่ถ้าหากนักเรียนรู้สึกว่าการแข่งขันเป็นเพียงเรื่องสนุกที่ไร้เป้าหมายก็จะส่งผลเชิงลบกับคะแนนการอ่าน

การมีพฤติกรรมแบบร่วมมือนั้นมีประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านการเรียน การทำงาน ตลอดจนการดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่น เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลและให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการงานที่ซับซ้อนได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ในการเรียนรู้แบบการแข่งขันหากมีการระบุเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนก็จะสามารถช่วยปรับปรุงผลการเรียน กระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้ มีความพยายามมากขึ้นในการเรียนรู้ และมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตลอดจนช่วยผลักดันให้งานสำเร็จอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ไม่มีรูปแบบไหนดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับการเลือกนำไปใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และมีแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสม

ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง https://www.facebook.com/145276782175385/posts/3320079098028455/