Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics ของบทความ Focus ประเด็นจาก PISA ฉบับที่ 51 (มีนาคม 2563) “โรงเรียนและนักเรียนมีความพร้อมเพียงใดกับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์: ข้อค้นพบจาก PISA“
ประเทศไทยพร้อมหรือยังสำหรับการเรียนการสอนผ่านออนไลน์
จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้โรงเรียนในมากกว่า 190 ประเทศต้องปิดการเรียนการสอน ส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนมากกว่า 1,500 ล้านคนทั่วโลก การศึกษาผ่านระบบออนไลน์จึงถูกยกระดับจากการเป็นตัวช่วยนอกหลักสูตรมาเป็นวิธีหลักที่จะช่วยให้การเรียนการสอนของระบบการศึกษาทั่วโลกเดินหน้าต่อไปได้ แต่การมาของวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ได้เผยให้เห็นว่าระบบการศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่โลกของการเรียนรู้โดยการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล
ท่านล่ะ คิดว่าประเทศไทยพร้อมหรือยังสำหรับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์

จากการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามนักเรียนอายุ 15 ปี และผู้บริหารโรงเรียนของ PISA 2018 ใน 79 ระบบการศึกษาทั่วโลก ได้ข้อค้นพบเกี่ยวกับโอกาสและการเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ในหลายประเด็น ข้อค้นพบแรกพบว่า การเข้าถึงโลกดิจิทัลของนักเรียนมีสิ่งจำเป็นพื้นฐานคือ สถานที่เงียบสงบเพื่อให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียนรู้ มีคอมพิวเตอร์พร้อมให้นักเรียนใช้ที่บ้าน และที่บ้านมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ด้วย

จากกราฟ ท่านคิดว่านักเรียนไทยมีสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์เพียงพอหรือไม่

จากการสอบถามผู้บริหารโรงเรียนถึงขีดความสามารถในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนในแง่มุมต่าง ๆ รวมทั้งได้สอบถามถึงความสามารถของโรงเรียนในการเข้าถึงแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบออนไลน์ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศสมาชิก OECD แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารโรงเรียนของไทยมองว่าครูและโรงเรียนค่อนข้างมีความพร้อมสำหรับการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการเรียนการสอนแบบออนไลน์เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิก OECD

จากแบบสอบถาม PISA 2018 พบว่า นักเรียนไทยยังขาดแคลนปัจจัยสำคัญสำหรับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ที่บ้าน ในขณะที่ ผู้บริหารของโรงเรียนมองว่าโรงเรียนและครูมีความพร้อมในด้านอุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์

ในการสนับสนุนการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ครูจะต้องสามารถสื่อสารกับนักเรียนได้อย่างใกล้ชิดเพื่อให้นักเรียนยังคงได้รับคำชี้แนะจากครู ทั้งนี้ ครูควรเป็นผู้คอยชี้แนะหรือให้ความช่วยเหลือนักเรียนให้สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นในแหล่งข้อมูลหรือสื่อต่าง ๆ ซึ่งสิ่งดังกล่าวจำเป็นต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์

OECD ได้สำรวจข้อมูลจากประเทศต่าง ๆ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาตอบแบบสอบถามว่า แต่ละประเทศดำเนินการอย่างไรเมื่อต้องปิดโรงเรียนจากวิกฤตการณ์ COVID-19 ซึ่งพบว่า ประเทศต่าง ๆ มีแนวทางในการรับมือกับวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่แตกต่างกันไปตามบริบทของประเทศ
สำหรับประเทศไทย สสวท. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ได้ร่วมเสนอแนวทางการจัดการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์เพื่อรับมือวิกฤติการณ์ COVID-19 เช่นเดียวกัน

ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง https://www.facebook.com/ipst.thai/posts/2942913239078378