Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics ของบทความ Focus ประเด็นจาก PISA ฉบับที่ 57 “การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครูส่งผลต่อผลการประเมินด้านการอ่านของนักเรียนอย่างไร“
ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งครูไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านผลการเรียนรู้ของนักเรียนเท่านั้น แต่รวมไปถึงการพัฒนาทางด้านพฤติกรรม อารมณ์ และสังคมของนักเรียนด้วย
ในปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้และเรื่องราวต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ครูจึงต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนและผู้ถ่ายทอดความรู้ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ (Facilitator)
โดยมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกหรือสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงบทบาทในการชี้แนะแนวทางและให้ความช่วยเหลือนักเรียนให้สามารถเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
การที่นักเรียนรับรู้ได้ว่าครูของตนเองมีความเอาใจใส่และให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องการเรียน ความรู้สึก และความเป็นอยู่ จะเป็นการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่จะช่วยเสริมแรงจูงใจในการเรียนรู้ ช่วยดึงความสนใจและกระตุ้นให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ อีกด้วย
ดังนั้น บทบาทของครูในการเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนจึงถือว่าเป็นบทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถพัฒนาความสามารถของตนเองได้เต็มตามศักยภาพต่อไป
เนื่องจาก PISA 2018 เป็นรอบการประเมินที่เน้นด้านการอ่าน ดังนั้น จึงมุ่งเน้นสอบถามนักเรียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชั่วโมงเรียนวิชาภาษาหลักที่นักเรียนใช้ในการเรียนการสอน
โดยจากการรายงานของ PISA 2018 พบว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากครูในเรื่องการเรียน แต่ยังขาดในเรื่องการได้รับข้อมูลเพื่อสะท้อนจุดอ่อนและจุดแข็งของนักเรียน และแนวทางในการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ
โดยมีนักเรียนไทยถึง 83% รายงานว่า ครูแสดงความสนใจกับการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน และมีนักเรียนไทย 82% รายงานว่า ครูช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องการเรียน
นักเรียนที่รายงานว่าได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากครูทุกครั้งหรือบ่อยครั้งในวิชาภาษาไทย (วิชาภาษาที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนของแต่ละประเทศ) จะมีคะแนนการอ่านสูงกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่เคยหรือเกือบไม่เคยได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากครู
ซึ่งในทุกข้อคำถามเกี่ยวกับการสนับสนุนของครูส่งผลเชิงบวกต่อคะแนนการอ่าน โดยเฉพาะข้อคำถามที่ว่า “ครูช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องการเรียน” บ่อยครั้งในวิชาภาษาไทย
โดยนักเรียนที่ได้รับความช่วยเหลือในทุกชั่วโมงเรียนหรือเกือบทุกชั่วโมงเรียนวิชาภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนจะมีคะแนนสูงกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่เคยหรือเกือบไม่เคยได้รับความช่วยเหลือดังกล่าวถึง 17 คะแนน
อีกสิ่งหนึ่งที่ครูควรคำนึงถึงคือบทบาทและวิธีการสอนที่จะทำให้นักเรียนสามารถพัฒนาพฤติกรรมการอ่านและทักษะการอ่านของตนเองได้ด้วย โดยจากการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนการอ่านของประเทศไทย พบว่า ความเพลิดเพลินในการอ่านเป็นตัวแปรหนึ่งที่ส่งผลเชิงบวกต่อคะแนนการอ่าน
และเมื่อพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยงข้องกับบทบาทของครูที่ส่งผลเชิงบวกต่อความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียนไทย พบว่า การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครูก็ส่งผลเชิงบวกต่อความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียนด้วย
นอกจากนี้ยังมีบทบาทของครูและวิธีการสอนอื่น ๆ ที่ส่งผลเชิงบวกต่อความเพลิดเพลินในการอ่านด้วยเช่นกัน ได้แก่ การให้ข้อมูลป้อนกลับของครู ความเอาใจใส่ของครู การกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการอ่าน การสอนที่ยึดครูเป็นหลัก และการสอนที่ปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียน
บทบาทของครูในการสนับสนุนและส่งเสริมนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ไม่ได้มีเพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่จะดีที่สุด หากแต่ขึ้นอยู่กับการปรัใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม สถานการณ์ และความแตกต่างของนักเรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้นักเรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพของตนเอง ซึ่งครูอาจทำได้โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น
1) การเข้าใจและรู้ถึงความต้องการของนักเรียน เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือและตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนได้อย่างเหมาะสม
2) การสร้างบรรยากาศเชิงบวกในชั้นเรียน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียน รวมทั้งให้ความสนใจและใส่ใจนักเรียนทั้งทางด้านการเรียนและชีวิตของนักเรียน
3) การให้ข้อมูลป้อนกลับแก่นักเรียนในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้นักเรียนทราบผลการเรียนรู้ของตนเองและเสริมแรงในการปรับปรุงพัฒนาการเรียนรู้
4) การชี้แนะแนวทางการเรียนรู้และส่งเสริมวิธีการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้และสร้างความรู้ด้วยตนเองได้
ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง https://www.facebook.com/145276782175385/posts/3469899826379714/