การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครูส่งผลต่อผลการประเมินด้านการอ่านของนักเรียนอย่างไร

ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งครูไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านผลการเรียนรู้ของนักเรียนเท่านั้น แต่รวมไปถึงการพัฒนาทางด้านพฤติกรรม อารมณ์ และสังคมของนักเรียนด้วย ทั้งนี้ในปัจจุบันโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้และเรื่องราวต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ครูจึงต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนและผู้ถ่ายทอดความรู้เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ (Facilitator) โดยมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกหรือสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงบทบาทในการชี้แนะแนวทางและให้ความช่วยเหลือนักเรียนให้สามารถเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนนับว่าส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียน การที่นักเรียนรับรู้ได้ว่าครูของตนเองมีความเอาใจใส่และให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องการเรียน ความรู้สึก และความเป็นอยู่ จะเป็นการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่จะช่วยเสริมแรงจูงใจในการเรียนรู้ ช่วยดึงความสนใจและกระตุ้นให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ อีกด้วย ดังนั้น บทบาทของครูในการเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนจึงถือว่าเป็นบทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถพัฒนาความสามารถของตนเองได้เต็มตามศักยภาพต่อไป

ใน PISA 2018 ได้มีการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามนักเรียนเกี่ยวกับบทบาทของครูในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนนักเรียน เช่น ครูแสดงความสนใจกับการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน ครูให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษเมื่อนักเรียนต้องการ เป็นต้น  โดยสอบถามนักเรียนว่าการปฏิบัติดังกล่าวของครูเกิดขึ้นบ่อยครั้งเพียงใดในชั่วโมงเรียนวิชาภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนของแต่ละประเทศ[1] (สำหรับประเทศไทยเป็นวิชาภาษาไทย) แล้วนำคำตอบที่ได้จากการรายงานของนักเรียนมาสร้างเป็น ดัชนีการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครู (Index of teacher support)


[1] เนื่องจาก PISA 2018 เป็นรอบการประเมินที่เน้นด้านการอ่าน ดังนั้น ข้อคำถามในแบบสอบถามนักเรียนจึงมุ่งเน้นสอบถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชั่วโมงเรียนวิชาภาษาหลักที่นักเรียนใช้ในการเรียนการสอน

การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครูในประเทศ/เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ เป็นอย่างไร

จากการรายงานของนักเรียนในทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมิน PISA 2018  นักเรียนส่วนใหญ่รายงานว่าได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากครู  โดยค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียน 76% ที่รายงานว่า ในทุกชั่วโมงเรียนหรือเกือบทุกชั่วโมงเรียนวิชาภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน ครูช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องการเรียน และมีนักเรียน 75% รายงานว่า ครูให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษเมื่อนักเรียนต้องการ สำหรับประเทศไทยมีนักเรียน 83% รายงานว่า ครูแสดงความสนใจกับการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน และมีนักเรียน 82% รายงานว่า ครูช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องการเรียน

ใน PISA 2018 ยังได้มีการสอบถามนักเรียนเกี่ยวกับการได้รับข้อมูลป้อนกลับจากครู (Teacher Feedback) ในชั่วโมงเรียนวิชาภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน แต่กลับพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่รายงานว่าไม่เคยหรือเกือบไม่เคยได้รับข้อมูลป้อนกลับจากครู  โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มีนักเรียนถึง 52% รายงานว่าไม่เคยได้รับข้อมูลป้อนกลับที่ทำให้รู้ถึงจุดแข็งของตนเอง  โดยค่าเฉลี่ยประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนประมาณ 10% – 14% ที่รายงานว่าในทุกชั่วโมงเรียนหรือเกือบทุกชั่วโมงเรียนวิชาภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน ครูได้ให้ข้อมูลป้อนกลับในเรื่องต่าง ๆ แก่นักเรียน สำหรับประเทศไทยมีนักเรียนประมาณ 13% – 15%  ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากครูในเรื่องการเรียน แต่ยังขาดในเรื่องการได้รับข้อมูลเพื่อสะท้อนจุดอ่อนและจุดแข็งของนักเรียน และแนวทางในการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ ดังรูป 1


รูป 1  ร้อยละของนักเรียนที่รายงานว่าสิ่งต่อไปนี้เกิดขึ้นในทุกชั่วโมงเรียนหรือเกือบทุกชั่วโมงเรียนวิชาภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน


เมื่อพิจารณาค่าดัชนีการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครูในกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก พบว่า เกือบทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจมีค่าดัชนีดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศสมาชิก OECD รวมทั้งประเทศไทย (0.33) โดยฟิลิปปินส์มีค่าดัชนีสูงที่สุด (0.46) ส่วนมาเก๊าและฮ่องกงที่มีค่าดัชนีต่ำกว่า OECD  นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาค่าดัชนีดังกล่าวระหว่างกลุ่มนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนที่ได้เปรียบและในโรงเรียนที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในหลายประเทศนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนที่ได้เปรียบจะได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากครูบ่อยครั้งกว่านักเรียนที่ด้อยเปรียบโดยเฉพาะในจีนสี่มณฑล (B-S-J-Z) ส่วนมาเก๊าเป็นไปในทิศทางตรงข้าม นั่นคือนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนที่ด้อยเปรียบจะได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากครูบ่อยครั้งกว่า เช่นเดียวกับประเทศไทยและสิงคโปร์ รวมถึงภาพรวมของประเทศสมาชิก OECD ด้วย ดังรูป 2


รูป 2  ดัชนีการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครูระหว่างนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนที่ได้เปรียบและด้อยเปรียบ
ด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ/เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก


หมายเหตุ: PISA กำหนดค่าดัชนีเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ที่ 0 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1 ซึ่งหมายความว่า หากประเทศใดมีค่าดัชนีเป็นบวกแสดงว่านักเรียนในประเทศนั้นรับรู้ว่าครูมีการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนบ่อยครั้งกว่านักเรียนจากประเทศสมาชิก OECD

การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครูส่งผลต่อผลการประเมินด้านการอ่านอย่างไร

เมื่อพิจารณาผลของดัชนีการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครูที่มีต่อคะแนนการอ่าน พบว่า หลังจากตัดผลกระทบของสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและโรงเรียนแล้ว ใน 43 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ นักเรียนที่รายงานว่าได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากครูทุกชั่วโมงเรียนหรือเกือบทุกชั่วโมงเรียนวิชาภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนจะมีคะแนนการอ่านสูงกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่เคยหรือเกือบไม่เคยได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากครู โดยเฉพาะในมาเลเซีย เมื่อค่าดัชนีการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครูเพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะมีคะแนนการอ่านเพิ่มขึ้นถึง 18 คะแนน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยประเทศสมาชิก OECD จะมีคะแนนการอ่านเพิ่มขึ้น 5 คะแนน ส่วนประเทศไทยจะมีคะแนนการอ่านเพิ่มขึ้น 2 คะแนน

เมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละข้อคำถามเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครูจากการรายงานของนักเรียนไทย พบว่า เมื่อตัดผลกระทบของสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและโรงเรียนแล้ว ในทุกข้อคำถามเกี่ยวกับการสนับสนุนของครูส่งผลเชิงบวกต่อคะแนนการอ่าน โดยเฉพาะนักเรียนที่รายงานว่า “ครูช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องการเรียน” ในทุกชั่วโมงเรียนหรือเกือบทุกชั่วโมงเรียนวิชาภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน จะมีคะแนนสูงกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่เคยหรือเกือบไม่เคยถึง 17 คะแนน ดังรูป 3


รูป 3  ดัชนีการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครูกับการเปลี่ยนแปลงคะแนนการอ่านของไทย


 หมายเหตุ สัญลักษณ์ที่มีสีอ่อนกว่า หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของคะแนนการอ่านไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

นอกจากการให้ความสำคัญกับบทบาทของครูในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้ของนักเรียน อีกสิ่งหนึ่งที่ครูควรคำนึงถึงคือบทบาทและวิธีการสอนที่จะทำให้นักเรียนสามารถพัฒนาพฤติกรรมการอ่านและทักษะการอ่านของตนเองได้ด้วย  โดยจากการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนการอ่านของประเทศไทย พบว่า ความเพลิดเพลินในการอ่านเป็นตัวแปรหนึ่งที่ส่งผลเชิงบวกต่อคะแนนการอ่านเช่นกัน  และเมื่อพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของครูที่ส่งผลเชิงบวกต่อความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียนไทย พบว่า การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของครูก็ส่งผลเชิงบวกต่อความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียนด้วย นอกจากนี้ยังมีบทบาทของครูและวิธีการสอนอื่น ๆ ที่ส่งผลเชิงบวกต่อความเพลิดเพลินในการอ่านด้วยเช่นกัน ได้แก่ การให้ข้อมูลป้อนกลับของครู ความเอาใจใส่ของครู การกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการอ่าน การสอนที่ยึดครูเป็นหลัก และการสอนที่ปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียน

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนในเรื่องการเรียนจากครู แต่ยังได้รับข้อมูลป้อนกลับเพื่อสะท้อนผลการเรียนรู้ของตนเองไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้น ครูจึงควรเพิ่มบทบาทให้มากขึ้นในการชี้แนะแนวทางและให้ข้อมูลป้อนกลับแก่นักเรียนเพื่อสะท้อนให้นักเรียนสามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองได้ต่อไป  ทั้งนี้ บทบาทของครูในการสนับสนุนและส่งเสริมนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ไม่ได้มีเพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่จะดีที่สุด หากแต่ขึ้นอยู่กับการปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม สถานการณ์ และความแตกต่างของนักเรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้นักเรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพของตนเอง ซึ่งครูอาจทำได้โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น

  • การเข้าใจและรู้ถึงความต้องการของนักเรียน เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือและตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนได้อย่างเหมาะสม
  • การสร้างบรรยากาศเชิงบวกในชั้นเรียน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียน รวมทั้งให้ความสนใจและใส่ใจนักเรียนทั้งทางด้านการเรียนและชีวิตของนักเรียน
  • การให้ข้อมูลป้อนกลับแก่นักเรียนในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้นักเรียนทราบผลการเรียนรู้ของตนเองและเสริมแรงในการปรับปรุงพัฒนาการเรียนรู้
  • การชี้แนะแนวทางการเรียนรู้และส่งเสริมวิธีการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้และสร้างความรู้ด้วยตนเองได้เต็มศักยภาพ

อ่านเพิ่มเติม

  • Lei H, Cui Y and Chiu MM (2018), The Relationship between Teacher Support and Students’ Academic Emotions: A Meta-Analysis,  Frontiers in Psychology,  8,  Article 2288, (Online),  Available: https://doi.org/10.3389/fpsyg.2017.02288,  Retrieved September 10, 2020.
  • OECD (2019),  PISA 2018 Results (Volume III): What School Life Means for Students’ Lives,  PISA,  OECD Publishing,  Paris,  https://doi.org/10.1787/acd78851-en.
  • Rimm-Kaufman, S. (2010),  Improving students’ relationships with teachersto provide essential supports for learning,  American Psychological Association,  (Online),  Available: https://www.apa.org/education/k12/relationships,  Retrieved September 20, 2020.

ดาวน์โหลด (PDF, 1MB)