บรรยากาศในการเรียนเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของนักเรียน การที่จะจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและนักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียนนั้น ส่วนหนึ่งจึงต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้ อันจะเป็นแรงกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนและการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีบรรยากาศในการเรียนรู้ที่น่าสนใจ 2 รูปแบบ คือ การเรียนรู้แบบร่วมมือและการเรียนรู้แบบแข่งขัน ซึ่งการเรียนรู้แบบร่วมมือจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่นักเรียนต้องทำงานเป็นกลุ่มเพื่อให้นักเรียนได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกระบวนการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะทางสังคม สำหรับการเรียนรู้แบบแข่งขันจะทำให้นักเรียนเกิดความปรารถนาจากภายในที่ต้องการชนะซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้นักเรียนไปสู่ความสำเร็จ (CHEGG, 2020) ดังนั้น ทั้งการเรียนรู้แบบร่วมมือและการเรียนรู้แบบแข่งขันจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมบรรยากาศของการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลการเรียนของนักเรียนได้เช่นเดียวกัน
ในการประเมิน PISA 2018 ได้สอบถามความคิดเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับบรรยากาศการเรียนรู้ที่เกิดในโรงเรียนทั้งบรรยากาศการเรียนรู้แบบร่วมมือ (คำถามข้อ 1 – 4) และบรรยากาศการเรียนรู้แบบแข่งขัน (คำถามข้อ 5 – 8) ดังแสดงในรูป 2 โดยให้เลือกตอบว่า “ไม่จริงเลย” “เป็นจริงเพียงเล็กน้อย” “เป็นจริงมาก” หรือ “เป็นจริงมากที่สุด” จากนั้น PISA จะนำคำตอบของนักเรียนที่รายงานว่า “เป็นจริงมาก” และ “เป็นจริงมากที่สุด” ในคำถามข้อ 1 – 3 มาสร้างเป็นดัชนีการร่วมมือกันของนักเรียน (Index of student co-operation) และคำถามข้อ 5 – 7 มาสร้างเป็นดัชนีการแข่งขันกันของนักเรียน (Index of student competition) นอกจากนี้ PISA ยังสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับเจตคติต่อการแข่งขัน (คำถามข้อ 9 – 11) ดังแสดงในรูป 3 โดยให้เลือกตอบว่า “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” “ไม่เห็นด้วย” “เห็นด้วย” หรือ “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” แล้วนำคำตอบของนักเรียนมาสร้างเป็นดัชนีเจตคติต่อการแข่งขัน (Index of attitudes towards competition)
หมายเหตุ: PISA กำหนดค่าดัชนีเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ที่ 0 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1 ซึ่งหมายความว่า หากประเทศใดมีค่าดัชนีเป็นบวกแสดงว่านักเรียนในประเทศนั้นมีบรรยากาศการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน และ/หรือ แบบแข่งขันกัน และ/หรือ เจตคติต่อการแข่งขัน มากกว่านักเรียนจากประเทศสมาชิก OECD
การร่วมมือกันและการแข่งขันกันของนักเรียนในแต่ละประเทศ/เขตเศรษฐกิจเป็นอย่างไร
ข้อมูลจากการประเมิน PISA 2018 พบว่า ในภาพรวม นักเรียนส่วนใหญ่ในทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจรายงานว่า ในโรงเรียนมีบรรยากาศของการร่วมมือกันระหว่างนักเรียนมากกว่าการแข่งขันกัน เมื่อพิจารณาดัชนีการร่วมมือกันของนักเรียนและดัชนีการแข่งขันกันของนักเรียนจากประเทศ/เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีดังกล่าวมากกว่าประเทศสมาชิก OECD โดยนักเรียนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น รายงานว่ามีการร่วมมือกันมาก ส่วนนักเรียนในสิงคโปร์ เกาหลี และฮ่องกง รายงานว่ามีการแข่งขันกันมาก
รูป 1 การร่วมมือกันและการแข่งขันกันของนักเรียนจากประเทศ/เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก
เมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างค่าดัชนีการร่วมมือกันและการแข่งขันกันในแต่ละประเทศ/เศรษฐกิจ พบว่า ประเทศที่มีการร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขันกันและมีช่องว่างของความแตกต่างมาก คือ ญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศที่มีการแข่งขันกันของนักเรียนมากกว่าการร่วมมือกันและมีช่องว่างของความแตกต่างมาก คือ สิงคโปร์ เกาหลี และบรูไนดารุสซาลาม สำหรับประเทศไทย พบว่า ถึงแม้ดัชนีการร่วมมือกันของนักเรียนและดัชนีการแข่งขันกันของนักเรียนจะมีค่าใกล้เคียงกัน แต่นักเรียนไทยยังมีความคิดเห็นว่าในโรงเรียนมีบรรยากาศของการแข่งขันกันสูงกว่าการร่วมมือกัน
การร่วมมือกันและการแข่งขันกันของนักเรียนสัมพันธ์กับผลการประเมินการอ่านอย่างไร
เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของดัชนีการร่วมมือกันและดัชนีการแข่งขันกันกับผลการประเมินการอ่าน หลังจากตัดผลกระทบของตัวแปรสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและโรงเรียนแล้ว พบว่า ประมาณ 78% ของประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมิน นักเรียนที่มีคะแนนการอ่านสูงกว่ามักจะรายงานว่าในโรงเรียนมีการร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขันกัน นั่นคือ ดัชนีการร่วมมือกันส่งผลเชิงบวกกับคะแนนการอ่าน โดยประเทศไทยเมื่อค่าดัชนีการร่วมมือกันของนักเรียนเพิ่มขึ้น 1 หน่วย คะแนนการอ่านจะเพิ่มขึ้น 10 คะแนน ส่วนค่าเฉลี่ยประเทศสมาชิก OECD คะแนนการอ่านจะเพิ่มขึ้น 6 คะแนน ในอีกด้านหนึ่งพบว่า ประมาณ 41% ของประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมิน นักเรียนที่มีคะแนนการอ่านสูงกว่าจะรายงานว่าในโรงเรียนมีการแข่งขันกันมากกว่าการร่วมมือกัน อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD พบว่า ดัชนีการแข่งขันกันไม่มีความสัมพันธ์กับคะแนนการอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้รายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นจึงได้มีการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างผลการประเมินการอ่านกับข้อคำถามด้านการร่วมมือกันและด้านการแข่งขันกันของไทย ดังแสดงในรูป 2 เมื่อตัดผลกระทบของตัวแปรสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและโรงเรียนแล้ว พบว่า ข้อคำถามด้านการร่วมมือของนักเรียนไทยทั้ง 4 ข้อ ส่งผลเชิงบวกกับคะแนนการอ่าน โดยเฉพาะกับข้อความ “นักเรียนในโรงเรียนแสดงออกว่าให้ความสำคัญต่อการร่วมมือกัน” และ “นักเรียนในโรงเรียนรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการส่งเสริมให้ร่วมมือกับคนอื่น” เมื่อนักเรียนรายงานว่าเป็นจริงมากหรือเป็นจริงมากที่สุดจะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่รายงานว่าเป็นจริงเพียงเล็กน้อยหรือไม่จริงเลยถึง 15 คะแนน ส่วนข้อคำถามด้านการแข่งขันกันของนักเรียนไทยมีเพียงข้อเดียวที่ส่งผลเชิงบวกกับคะแนนการอ่าน คือ ข้อความ “นักเรียนในโรงเรียนแสดงออกว่าให้ความสำคัญต่อการแข่งขัน” เมื่อนักเรียนรายงานว่าเป็นจริงมากหรือเป็นจริงมากที่สุดจะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่รายงานว่าเป็นจริงเพียงเล็กน้อยหรือไม่จริงเลยอยู่ 9 คะแนน ส่วนข้อคำถามด้านการแข่งขันกัน ข้อความ “นักเรียนในโรงเรียนแสดงออกถึงความรู้สึกร่วมกันว่าการแข่งขันกันเองเป็นสิ่งสำคัญ” และ “นักเรียนในโรงเรียนรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ” ส่งผลเชิงลบกับคะแนนการอ่าน นั่นคือ หากนักเรียนรายงานว่าเป็นจริงมากหรือเป็นจริงมากที่สุดจะทำให้มีคะแนนการอ่านน้อยกว่านักเรียนที่รายงานว่าเป็นจริงเพียงเล็กน้อยหรือไม่จริงเลย 5 คะแนน และ 7 คะแนน ตามลำดับ
ดังนั้น หากนักเรียนไทยมีการรับรู้ว่า เพื่อนในโรงเรียนมีการร่วมมือกันและให้ความสำคัญต่อการร่วมมือกันและการแข่งขันก็จะส่งผลเชิงบวกกับคะแนนการอ่าน แต่ถ้าหากนักเรียนรับรู้ว่า มีการถูกเปรียบเทียบกับเพื่อนในโรงเรียน และเพื่อนนักเรียนต่างมีความรู้สึกร่วมกันว่าการแข่งขันกันเองเป็นสิ่งสำคัญก็จะส่งผลเชิงลบกับคะแนนการอ่าน
รูป 2 การร่วมมือกันและการแข่งขันกันของนักเรียนกับคะแนนการอ่าน PISA 2018 ของไทย
เจตคติต่อการแข่งขันมีความสัมพันธ์กับผลการประเมินการอ่านอย่างไร
นอกจาก PISA จะรายงานถึงความสัมพันธ์ระหว่างบรรยากาศของการแข่งขันกันกับผลการประเมินการอ่านแล้ว ยังมีการศึกษาด้วยว่า หากนักเรียนมีการรับรู้ว่าเพื่อนที่โรงเรียนมีการแข่งขันกันแล้ว นักเรียนจะมีเจตคติต่อการแข่งขันอย่างไร เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของคะแนนการอ่านเมื่อค่าดัชนีเจตคติต่อการแข่งขันเพิ่มขึ้น 1 หน่วย หลังจากตัดผลกระทบของตัวแปรสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและโรงเรียนแล้ว พบว่า ประมาณ 78% ของประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมิน นักเรียนที่มีการรับรู้ว่าตนเองมีการแข่งขันกับเพื่อนมากกว่าจะมีคะแนนการอ่านสูงกว่า โดยค่าเฉลี่ยประเทศสมาชิก OECD พบว่า จะมีคะแนนการอ่านเพิ่มขึ้น 5 คะแนน และไทยจะมีคะแนนการอ่านเพิ่มขึ้น 7 คะแนน สำหรับเลบานอนจะมีคะแนนการอ่านเพิ่มขึ้นมากที่สุด (25 คะแนน) รองลงมา ได้แก่ จอร์แดนและมาเลเซีย (22 คะแนน) ทั้งนี้ มีเพียงคาซัคสถานและโปรตุเกสที่นักเรียนที่มีการรับรู้ว่าตนเองแข่งขันกับเพื่อนน้อยกว่าจะมีคะแนนการอ่านสูงกว่า
จากรูป 3 เมื่อพิจารณาในแต่ละข้อคำถาม หลังจากตัดผลกระทบของตัวแปรสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและโรงเรียนแล้ว พบว่า นักเรียนไทยที่รายงานว่าเห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความ “ฉันใช้ความพยายามมากขึ้นเมื่อต้องแข่งขันกับคนอื่น” จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งถึง 23 คะแนน ในขณะที่ นักเรียนไทยที่รายงานว่าเห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความ “ฉันสนุกกับการทำงานในสถานการณ์ที่ต้องแข่งขันกับคนอื่น” จะมีคะแนนการอ่านน้อยกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งอยู่ 12 คะแนน
ดังนั้น หากนักเรียนไทยใช้การแข่งขันกันเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดความพยายามในการเรียนรู้ก็จะส่งผลเชิงบวกกับคะแนนการอ่าน แต่ถ้าหากนักเรียนรู้สึกว่าการแข่งขันเป็นเพียงเรื่องสนุกที่ไร้เป้าหมายก็จะส่งผลเชิงลบกับคะแนนการอ่าน
รูป 3 เจตคติต่อการแข่งขันกับคะแนนการอ่าน PISA 2018 ของไทย
การเรียนรู้แบบร่วมมือกันและแบบแข่งขันกันอย่างไรที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน
การมีพฤติกรรมแบบร่วมมือนั้นมีประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านการเรียน การทำงาน ตลอดจนการดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่น เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลและให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า นักเรียนที่มีผลการเรียนดีจะรายงานว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนและมีความผูกพันกับโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่มีความร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขัน โดยการเรียนรู้แบบร่วมมือกันจะสอนให้นักเรียนมุ่งมั่นเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่ม อีกทั้งยังส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการงานที่ซับซ้อนได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ในการเรียนรู้แบบการแข่งขันหากมีการระบุเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนก็จะสามารถช่วยปรับปรุงผลการเรียน กระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้ มีความพยายามมากขึ้นในการเรียนรู้ และมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตลอดจนช่วยผลักดันให้งานสำเร็จอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้จึงไม่มีรูปแบบไหนดีที่สุด หากขึ้นอยู่กับการเลือกนำไปใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และมีแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสม ซึ่งตัวอย่างของแนวทางที่ช่วยส่งเสริมให้การเรียนรู้ของนักเรียนประสบความสำเร็จ (CHEGG, 2020; Johnson & Johnson, 2013) เป็นดังนี้
การเรียนรู้แบบร่วมมือกัน
- ใช้การพึ่งพาอาศัยกันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
- ช่วยเหลือ สนับสนุน และยกย่องความพยายามในการเรียนรู้ของกันและกัน
- มีกระบวนการของการทำงานเป็นกลุ่มโดยพูดคุยถึงแนวทางการทำงานที่เป็นประโยชน์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและรักษาความสัมพันธ์ในการทำงาน
- แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน
- พัฒนาทักษะทางสังคมไปพร้อม ๆ กันระหว่างการทำงาน
การเรียนรู้แบบแข่งขันกัน
- รักษาบรรยากาศการเรียนรู้ให้เป็นเชิงบวก โดยไม่ควรนำนักเรียนมาเปรียบเทียบกัน
- มองในแง่ดีและสร้างมิตรภาพที่ดี โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่ได้เรียนรู้มากกว่าการแพ้หรือชนะ
- ใช้การแข่งขันเป็นแรงเสริม โดยให้นักเรียนมีการทำงานร่วมกันก่อนที่จะมีการแข่งขัน
- ใช้การแข่งขันเพื่อติดตามพัฒนาการของนักเรียน
- สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้มีความสนุกสนานและตื่นเต้น เพื่อไม่ให้นักเรียนมีความตึงเครียด และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ไปสู่เป้าหมาย
อ่านเพิ่มเติม
- CHEGG (2020), Cooperative Vs. Competitive Learning: To Group or Not to Group?, (Online), https://www.chegg.com/study-101/cooperative-vs-competitive-learning/, Retrieved July 31, 2020.
- Johnson, D. W., & Johnson, R. T. (2013), The impact of cooperative, competitive, and individualistic learning environments on achievement, (Online), https://www.researchgate.net/publication/260596923, Retrieved July 31, 2020.
- OECD (2019), PISA 2018 Results (Volume III): What School Life Means for Students’ Lives, PISA, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/acd78851-en.
ดาวน์โหลด (PDF, 780KB)