กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) คือ ความเชื่อว่า ความสามารถหรือสติปัญญาของบุคคลสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา ซึ่งตรงกันข้ามกับ กรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) หรือ ความเชื่อที่ว่า แต่ละบุคคลเกิดมาพร้อมกับความสามารถและสติปัญญาระดับหนึ่งซึ่งแทบจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงด้วยประสบการณ์ได้ การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า กรอบความคิดแบบเติบโตจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ได้แก่ การไม่หลีกเลี่ยงความท้าทาย การไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว การเห็นคุณค่าของความพยายาม การเรียนรู้จากคำวิจารณ์ และการมองหาบทเรียนและแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของผู้อื่น ซึ่งล้วนเป็นหนทางสู่การประสบความสำเร็จทั้งในด้านการศึกษาและด้านอื่น ๆ ในชีวิต ดังนั้น การปลูกฝังกรอบความคิดแบบเติบโตให้กับนักเรียนจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับระบบการศึกษาทั่วโลก
การรายงานถึงกรอบความคิดแบบเติบโตใน PISA 2018
ในการประเมิน PISA 2018 มีการสำรวจเรื่องกรอบความคิดแบบเติบโตเป็นครั้งแรก ซึ่ง PISA ได้สอบถามความคิดเห็นของนักเรียนด้วยข้อคำถามต่อไปนี้
หากนักเรียนเลือกตอบว่า “ไม่เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” แสดงว่านักเรียนมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า สติปัญญาของตนเองเป็นสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าพวกเขามีกรอบความคิดแบบเติบโตนั่นเอง
จากผลการประเมิน PISA 2018 พบว่า นักเรียนไทยมีกรอบความคิดแบบเติบโตเพียง 43% ในขณะที่ ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีกรอบความคิดแบบเติบโตประมาณ 63% นอกจากนี้ยังพบว่าระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เช่น ฟินแลนด์และเอสโตเนียมีนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตสูงถึง 67% และ 77% ตามลำดับ สำหรับในภูมิภาคเอเชียพบว่า 60% ของนักเรียนจากสิงคโปร์และจีนไทเปมีกรอบความคิดแบบเติบโต ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD
ในรอบการประเมิน PISA 2018 ซึ่งเน้นประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านเป็นหลัก พบว่า การมีกรอบความคิดแบบเติบโตมีความสัมพันธ์กับคะแนนการอ่าน แสดงดังรูป 1 โดยในประเทศสมาชิก OECD นักเรียนที่ตอบว่า “ไม่เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่ตอบในทางตรงกันข้ามถึง 32 คะแนน หลังจากตัดผลกระทบของตัวแปรสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและโรงเรียนแล้ว ซึ่งแสดงว่ากรอบความคิดแบบเติบโตของนักเรียนมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคะแนนการอ่าน สำหรับนักเรียนที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมและนักเรียนที่เป็นผู้อพยพ กรอบความคิดแบบเติบโตจะยิ่งมีความสัมพันธ์กับคะแนนการอ่านมากขึ้นไปอีก
รูป 1 ความสัมพันธ์ระหว่างกรอบความคิดแบบเติบโตกับคะแนนการอ่าน
นอกจากความสามารถด้านการอ่านแล้ว PISA 2018 ยังพบว่า นักเรียนที่เชื่อว่าความสามารถและสติปัญญาสามารถพัฒนาได้หรือมีกรอบความคิดแบบเติบโตจะมีความกลัวต่อความล้มเหลวน้อยกว่านักเรียนที่เชื่อว่าความสามารถและสติปัญญาของตนเองถูกกำหนดไว้แล้วด้วยโชคชะตา ทั้งนี้ ข้อมูลของประเทศสมาชิก OECD ชี้บอกว่า นักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะมีแรงจูงใจในการทำภาระงาน เห็นคุณค่าของการศึกษา รับรู้ความสามารถของตนเอง ตั้งเป้าหมายที่สูงในการเรียนรู้ และคาดหวังต่อการจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถสรุปความสัมพันธ์ของการมีกรอบความคิดแบบเติบโตกับคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของนักเรียนได้ ดังรูป 2
รูป 2 ความสัมพันธ์ระหว่างกรอบความคิดแบบเติบโตกับคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้
ผลการประเมินด้านการอ่านใน PISA 2018 ยังพบข้อสังเกตที่น่าสนใจในหลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจ คือ นักเรียนที่มีสถานะด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมบางส่วนสามารถทำคะแนนการอ่านได้สูง กล่าวคือมีคะแนนอยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ/เขตเศรษฐกิจ (ตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป) แม้ว่านักเรียนเหล่านี้จะมีฐานะยากจนหรือมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ/เขตเศรษฐกิจ (ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25) ก็ตาม ซึ่ง PISA เรียกนักเรียนกลุ่มนี้ว่า มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษา (Academic Resilience) หรือในประเทศไทยนิยมเรียกว่า นักเรียนกลุ่มช้างเผือก จากผลการประเมินพบว่า ประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 13% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD (11%) โดย PISA ได้รายงานว่ากรอบความคิดแบบเติบโตเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อความไม่ย่อท้อทางการศึกษา
เมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลของนักเรียนไทยก็พบว่า กรอบความคิดแบบเติบโตมีความสัมพันธ์กับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม โดยในนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ (ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25) พบว่า มีนักเรียนเพียง 36% ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต ในขณะที่ นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ (ตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป) มีนักเรียนถึง 56% ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต แต่เมื่อพิจารณาในนักเรียนกลุ่มช้างเผือก ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีผลการประเมินสูงแต่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ กลับพบว่านักเรียนในกลุ่มนี้มีถึง 59% ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต ซึ่งมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับกลุ่มนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ โดยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
การสร้างกรอบความคิดแบบเติบโต
PISA 2018 ได้เสนอแนะแนวทางที่น่าสนใจ ในการสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตให้กับนักเรียน เช่น
การสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยเสริมสร้างกรอบความคิดแบบเติบโต
โดยควรเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโต รวมถึงการปลูกฝังความเชื่อที่ว่า “ความสามารถเป็นสิ่งที่พัฒนาได้” ให้กับผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการจัดสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกโรงเรียนที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน
“ความเชื่อและพฤติกรรมครู” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อกรอบความคิดของนักเรียน โดย PISA รายงานว่า หากครูมีความเชื่อว่าความสามารถของนักเรียนไม่สามารถพัฒนาได้ด้วยความพยายาม จะนำไปสู่พฤติกรรมของครูที่บั่นทอนจิตใจและส่งเสริมให้นักเรียนมีความเชื่อเช่นนั้นตามไปด้วย เช่น การชื่นชมหรือให้ความสนใจแก่นักเรียนที่ครูคิดว่ามีความสามารถมาแต่กำเนิดมากกว่านักเรียนคนอื่น และการชื่นชมนักเรียนมากเกินไป เมื่อนักเรียนเพียงทำงานที่ง่ายกว่านักเรียนคนอื่นได้สำเร็จ เป็นต้น ซึ่งผลการวิจัยบ่งชี้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ของครู อาจสะท้อนให้นักเรียนเข้าใจได้ว่าตนเองมีความสามารถน้อยกว่านักเรียนคนอื่น ดังนั้น ครูจึงควรแสดงความชื่นชมต่อนักเรียนอย่างเหมาะสมด้วยการให้คุณค่ากับกระบวนการและความพยายามในการเรียนรู้ของนักเรียน
การสอนให้นักเรียนมีความเชื่อและเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโต
PISA ได้รายงานว่า ความเชื่อมั่นในผลของความพยายามมีอิทธิพลต่อแรงจูงใจของนักเรียน กล่าวคือ นักเรียนจะลงทุนลงแรง หากพวกเขาเชื่อว่าผลของความพยายามนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จ นอกจากนี้ การสอนให้นักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพในการเรียนรู้ของสมองผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอภิปรายในชั้นเรียน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีความเชื่อว่าศักยภาพของสมองสามารถเปลี่ยนแปลงได้และมีความกลัวต่อความล้มเหลวน้อยลง ดังนั้น จึงควรมีการปลูกฝังความเชื่อเกี่ยวกับความพยายามและศักยภาพของสมองร่วมกับการสอนให้นักเรียนเข้าใจความหมายของกรอบความคิดแบบเติบโตทั้งในทางตรงและทางอ้อมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนให้นักเรียนได้อธิบายเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตกับนักเรียนคนอื่น เป็นต้น
การจัดการเรียนการสอนที่ช่วยเสริมสร้างกรอบความคิดแบบเติบโต
บางระบบการศึกษาจัดการเรียนการสอนบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และประสบความสำเร็จได้ ความเชื่อดังกล่าวช่วยส่งเสริมกรอบความคิดแบบเติบโตในนักเรียนได้ เช่น การจัดการเรียนการสอนที่ทำให้นักเรียนตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง และเข้าใจว่าสิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากงานที่เคยทำสำเร็จมาแล้วจะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในลำดับต่อไปหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือการสร้างความเข้าใจแก่นักเรียนว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นเป็นลำดับขั้นตอน ดังนั้น ครูควรออกแบบประสบการณ์และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเป็นลำดับขั้นและตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และบรรลุเป้าหมายผ่านรูปแบบการสอนที่เหมาะสมเต็มศักยภาพของตนเอง
กรอบความคิดแบบเติบโตของนักเรียนสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่นักเรียนสามารถพัฒนาความเชื่อ และการจัดหาทรัพยากรและทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายทางการเรียนรู้ให้กับพวกเขาด้วย ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตและการปลูกฝังความเชื่อที่ถูกต้องให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อนำไปสู่บรรยากาศในการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตในที่สุด อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาอาจต้องใช้ระยะเวลานานมากและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการปลูกฝังกรอบความคิดนี้แก่นักเรียน แต่จากรายงานของ PISA ได้ยืนยันแล้วว่าผลของความทุ่มเทเหล่านี้จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทั้งในแง่ของการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมของการเรียนรู้ตลอดชีวิตในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม
- OECD (2019), PISA 2018 Results (Volume III): What School Life Means for Students’ Lives, PISA, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/acd78851-en.
- Carol S. Dweck (2006), Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา, สำนักพิมพ์วีเลิร์น, กรุงเทพฯ.
- The Reporters, (20 มกราคม 2563), เผยไทยมีเด็กช้างเผือก ยากจน-เรียนเก่ง มากกว่าค่าเฉลี่ย OECD ทำคะแนน PISA2018 ติดอันดับ 25% แรกของประเทศ กสศ.พร้อมหนุนเพิ่มเด็กช้างเผือก, (ออนไลน์), แหล่งที่มา: https://www.thereporters.co/knowledge/20012020-eef-oecd-pisa-2018-thai-student, วันที่สืบค้น 23 มกราคม 2563.
ดาวน์โหลด (PDF, 3MB)