เป้าหมายการจัดการเรียนการสอนสู่สมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก

เนื่องจาก PISA 2018 จะมีการประเมินเพื่อให้ข้อมูลแก่ระบบการศึกษาอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ การประเมินสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก (Global Competence) เพราะเล็งเห็นว่าหากใครหรือสังคมใดก็ตามต้องการที่จะมีความเจริญ รุ่งเรืองในอนาคตก็จะต้องเตรียมเยาวชนให้มีความสามารถที่ทำงานและดำเนินชีวิตอย่างประสบความสำเร็จได้ในทุกสถานการณ์ เพราะในโลกปัจจุบันแม้เราจะไม่ได้ท่องไปทั่วโลก แต่ความหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคมก็เสมือนโลกเข้ามาหาเราเอง โรงเรียนจึงต้องเตรียมเยาวชนในวันนี้ให้เป็นผู้ที่มีสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้

  • อยู่ในสังคมวัฒนธรรมนานาชาติอย่างสมานสามัคคี
  • มีความสำเร็จและรุ่งเรืองในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
  • ใช้สื่อต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ
  • สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เกิดจากมติสหประชาชาติเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2015 ที่ประเทศสมาชิกทุกประเทศจะดำเนินการตามเป้าหมายนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุด เพื่อขจัดความยากจน เพื่อต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันและความไม่ยุติธรรม และเพื่อขจัดปัญหาสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีเป้าหมายที่ 4 ของ SDGs ว่าด้วยการให้การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงสำหรับทุกคนและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (United Nations, 2018)

OECD ร่วมมือกับศูนย์การศึกษาโลก (Center for Global Education) แห่ง Asia Society ได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการ นักการศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นเวลาหลายปี เพื่อหาคำนิยามของสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกสำหรับระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และนิยามนั้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลใน PISA 2018 นิยามสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกดังกล่าวมีใจความว่า “เป็นความสามารถในการวิเคราะห์ประเด็นของโลกหรือของวัฒนธรรมที่ต่างออกไปอย่างมีวิจารณญาณและจากมุมมองที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าใจถึงความแตกต่างที่ส่งผลต่อการรับรู้ การตัดสินใจ แนวคิดของตนเองและของผู้อื่น และการเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเปิดกว้าง ในท่าทีที่เหมาะสม และสัมพันธ์กับผู้อื่นที่มีภูมิหลังที่แตกต่างอย่างได้ผล บนพื้นฐานของความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

จุดมุ่งหมายของการประเมินสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกใน PISA 2018 เพื่อจะรวบรวมข้อมูลว่านักเรียนได้รับการเตรียมพร้อมให้มีความสามารถเพียงใดที่จะอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม หรือสังคมวัฒนธรรมนานาชาติ และยังมีเป้าหมายเพื่อการระบุลักษณะงานที่เป็นแรงจูงใจนักการศึกษาให้ติดตามภารกิจสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกอย่างจริงจังและเป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้โรงเรียน ครู นักเรียน ตลอดจนนักการศึกษาเข้าใจกรอบแนวคิดเพื่อเตรียมตัวรับการประเมิน จึงขอนำเสนอลักษณะอันเป็นกุญแจสำคัญของเรื่องนี้พอสังเขป

OECD และศูนย์การศึกษาโลกแห่ง Asia Society ได้ระบุลักษณะต่าง ๆ ของสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกของเยาวชนไว้สี่ประการ (1) สำรวจโลกที่อยู่ไกลออกไปจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเองโดยการตรวจสอบประเด็นสำคัญทางด้านท้องถิ่น โลก และวัฒนธรรม (2) รับรู้ เข้าใจ และเข้าถึงมุมมองต่าง ๆ ในโลกและทัศนะต่อโลกของผู้อื่น (3) สื่อสารความคิดอย่างมีประสิทธิภาพกับผู้ฟังที่หลากหลายโดยเกี่ยวข้องผูกพันกับต่างวัฒนธรรมอย่างเปิดเผย เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ และ (4) ปฏิบัติการเพื่อความผาสุกโดยรวมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของท้องถิ่นและโลก จากนั้นทาง OECD ได้นิยามกรอบโครงสร้างของสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกใหม่ สำหรับใช้ในการประเมินใน PISA 2018 สรุปดังรูป 1


รูป 1 ลักษณะสี่ประการของสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก


โรงเรียนทำอะไรได้บ้างเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก

โรงเรียน คือ ผู้มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเยาวชนให้พัฒนาสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก โดย

  • ให้โอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาต่าง ๆ ในโลกที่กว้างใหญ่และในชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่
  • สอนให้รู้ว่านักเรียนจะพัฒนาโลกทัศน์ปัจจุบันบนพื้นฐานของวิจารณญาณและความเป็นจริงได้อย่างไร
  • สร้างเสริมปัญญาด้วยสื่อและเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ความหมายและแนวปฏิบัติของวัฒนธรรมต่าง ๆ
  • ให้นักเรียนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องผูกพันในประสบการณ์และอำนวยความสะดวกในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม
  • ส่งเสริมการยกย่องและการให้คุณค่าในความแตกต่าง

ถ้าอย่างนั้นโรงเรียนต้องมีหลักสูตรใหม่อีกหรือ?

OECD แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องมีหลักสูตรใหม่ แต่นักการศึกษาสามารถบูรณาการความสามารถทั้งสี่ลักษณะเข้ากับวิชาใดที่สอนก็ได้ โดยช่วยนักเรียนให้ทำกิจกรรมเหล่านี้

1) สำรวจประเด็นสำคัญในบริบทท้องถิ่น ในบริบทโลก และวัฒนธรรม นักเรียนควรจะได้ใช้ความรู้ที่มีมาพัฒนาและบอกเล่าความคิดเกี่ยวกับประเด็นนั้น เช่น ความยากจนและโอกาสทางเศรษฐกิจ การอพยพย้ายถิ่นของผู้คน ความไม่เท่าเทียมกัน ความเสี่ยงของประเด็นสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้ง และความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการเหมารวมของลักษณะนิสัย เป็นต้น นักเรียนอาจเรียนรู้มาจากคณิตศาสตร์ วรรณคดี ดนตรี วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือสื่อต่าง ๆ นำมาช่วยตั้งเป็นคำถาม วิเคราะห์ข้อมูล ประเมินและโต้แย้งกลับ อธิบายเหตุการณ์และสถานการณ์ นักเรียนสามารถเลือกใช้ประจักษ์พยานและสื่อสารประจักษ์พยานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตนเอง เพื่อแสดงว่ามีความสามารถ นักเรียนควรต้องรู้จักเลือกและตัดสินใจเลือกข้อมูลจากสื่อที่มีความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ โดยดูว่ามาจากแหล่งใด และรู้จักนำสื่อใหม่ ๆ ที่มีอยู่หลากหลายมาเสนอความคิดของตน

2) เข้าใจและเข้าถึงมุมมองและทัศนะต่อโลกของผู้อื่น นักเรียนที่มีความสามารถจะพิจารณาปัญหาระดับโลกและพฤติกรรมของคนจากมุมมองต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ นักเรียนพวกนี้มักมีความอยากรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ค่านิยม รูปแบบการสื่อสาร ความเชื่อ และวิธีปฏิบัติของผู้คนในวัฒนธรรมอื่น พร้อมทั้งอยากรู้ว่าวิธีปฏิบัตินั้น ๆ มีผลต่อทัศนะของผู้คนอย่างไร นักเรียนมีความเข้าใจว่าความแตกต่างในอำนาจ ความร่ำรวย และการเข้าถึงความรู้นั้นส่งผลกระทบต่อโอกาสของแต่ละคนและแต่ละกลุ่มในสังคมอย่างไร นักเรียนเรียนรู้ว่าทัศนะและพฤติกรรมของตนเองก็มีอิทธิพลมาจากประสบการณ์ ครอบครัว และการเห็นความหมายของประวัติศาสตร์นั้น ๆ คนที่มีสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกจะตั้งคำถามก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับบุคคลอื่น รับรู้ว่าคนอื่นก็เหมือน ๆ กันในด้านความต้องการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อรู้ความต้องการของวัฒนธรรมผู้อื่นก็ต้องยกเลิกอัตลักษณ์ของตนเอง แต่หมายความว่าแม้จะรู้ว่าผู้คนเป็นอย่างไรก็จะไม่เหมารวมว่าเป็นไปทั้งกลุ่ม แต่ยังสามารถติดต่อคบหาเป็นรายบุคคลได้

3) เกี่ยวข้องผูกพันกับต่างวัฒนธรรมอย่างเปิดเผย เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ นักเรียนที่มีความสามารถจะรู้ดีว่าผู้คนจากต่างวัฒนธรรมจะมีความแตกต่างกันและมักมีปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน นักเรียนจึงรู้จักการปรับพฤติกรรมและวิธีการสื่อสารเพื่อให้เข้ากับกลุ่มของคนที่จะติดต่อด้วย มีความระมัดระวังในการแสดงออกถึงความเชื่อ ความจำเป็นของตน การตั้งคำถาม หรือการพยายามชักจูงให้ผู้สนทนาเปลี่ยนความคิด หรือการจัดการกับความคิดที่แตกต่างจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง

4) เริ่มการปฏิบัติเพื่อความผาสุกโดยรวมและการพัฒนาที่ยั่งยืน นักเรียนที่มีความสามารถจะตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อประเด็นหรือสถานการณ์ของท้องถิ่น โลก หรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง แม้ว่าจะยังเด็กก็ยังสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเพื่อนและผู้ใหญ่ในสังคมและกับคนที่ติดต่อด้วยอย่างมีศักดิ์ศรี นักเรียนที่มีความสามารถจะไม่กลัวที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อผู้อื่นเมื่อถูกรุกรานสิทธิหรือศักดิ์ศรี

การประเมินสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกของนักเรียน

การประเมินของ PISA ประกอบด้วยสองส่วน ได้แก่ แบบทดสอบและแบบสอบถาม นอกจากนี้ยังมีการสอบถามจากครู ผู้บริหารโรงเรียน และผู้ปกครอง แบบทดสอบจะใช้เวลาทำหนึ่งชั่วโมง แต่ไม่ใช่การทดสอบความรู้ เช่น จะไม่ถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกจาก 30 ปี ที่ผ่านมา หรือไม่ถามว่าประเทศ/ชนเผ่าใช้ภาษาอะไร แต่จะให้นักเรียนใช้ความรู้ทั่วไปหรือประสบการณ์ในประเด็นปัญหาของโลกและความแตกต่างทางวัฒนธรรมเพื่อแสดงความเข้าใจกรณีเฉพาะที่เสนอมาในสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งถูกเลือกมาโดยผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนของชาติต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อให้มีความหมาย มีความเป็นจริง และเป็นสถานการณ์ที่นักเรียนอายุ 15 ปี เข้าถึงได้ หรือบางสถานการณ์จะเป็นการจำลองงานที่ครูอาจมอบหมายให้ทำ เช่น เรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรืออาจจะเป็นสถานการณ์ที่นักเรียนเคยมีประสบการณ์และเอามาใช้ เช่น อาจให้นักเรียนจินตนาการว่ามีเพื่อนร่วมชั้นที่เพิ่งมาจากประเทศอื่น และให้นักเรียนคิดว่าเพื่อนคนนั้นจะมีความยากลำบากอะไรบ้างที่จะต้องพบ แต่ละสถานการณ์จะประกอบด้วยภารกิจที่นักเรียนต้องใช้เหตุผล คิดวิเคราะห์ หรือมีมุมที่ขัดแย้ง มีความเข้าใจในการสื่อสารที่แตกต่าง และมีการประเมินการกระทำ หรือผลของการกระทำ เช่น ให้นักเรียนเลือกข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่เชื่อถือได้มากที่สุด ประเมินว่าข้อความนั้นเชื่อได้หรือไม่ มีประจักษ์พยานอะไรที่หนักแน่นพอให้เชื่อได้ หรืออาจมีรายการเสนอให้นักเรียนเลือกวิธีแก้ปัญหาที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด เป็นต้น

ส่วนในแบบสอบถามต้องการดึงเอาข้อมูลเกี่ยวกับเจตคติ ความรู้ และทักษะของนักเรียน โดยให้นักเรียนรายงานถึงความคุ้นเคยเกี่ยวกับประเด็นปัญหาของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยากจน การค้า และการอพยพ ในความหมายหรือความรู้สึกของนักเรียนเอง ในภาษาและระดับทักษะความสามารถการสื่อสารของนักเรียนเอง รวมทั้งเจตคติ และลักษณะอื่น ๆ เช่น ความสนใจในวัฒนธรรมอื่น ๆ การปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอื่น และความนับถือผู้คนจากวัฒนธรรมอื่น ๆ และจะถามนักเรียนถึงโอกาสในโรงเรียนที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมอื่น หรือเรื่องราวของโลก และถามถึงการร่วมในงานการเฉลิมฉลองของวัฒนธรรมอื่น ๆ รวมทั้ง กิจกรรมนอกโรงเรียน เช่น เป็นอาสาสมัคร การรณรงค์ต่าง ๆ หรือการทำงานด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น PISA 2018 จะสำรวจครูและผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับความหลากหลายในโอกาสการเรียนในประเทศต่าง ๆ เพื่อขอข้อมูลว่าแต่ละประเทศได้มีการบูรณาการในเรื่องเกี่ยวกับโลก นานาชาติ และวัฒนธรรมต่าง ๆ ไว้ในหลักสูตรโรงเรียน ในการฝึกครูก่อนประจำการ และในกิจกรรมการเรียนในห้องเรียนมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะทำให้ PISA ได้ข้อมูลเพื่อนำเสนอถึงระบบที่ทำได้ดีที่สุด (Best practice) เพื่อช่วยให้ข้อมูลประเทศอื่น ๆ ได้

การศึกษาที่จะให้รู้จักโลก ไม่ใช่การสอนความรู้ในหัวข้อสังคมศาสตร์หรือภาษาต่างประเทศ สมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก ในกรณีนี้ หมายถึง ความสามารถที่จะอยู่ได้อย่างปกติสุขและยั่งยืนในโลกที่เป็นเสมือนสังคมเดียวกัน ซึ่งจะรวมถึงเจตคติ และค่านิยมที่ทำให้พลเมืองโลกเข้าใจซึ่งกันและกัน นักการศึกษาหลายคนได้นึกไปถึงการสร้างหลักสูตรใหม่ แต่นั่นไม่ใช่หัวใจสำคัญหากแต่เป็นความพยายามที่จะบูรณาการลงไปในการสอนทุกวิชาและทุกระดับชั้นที่สามารถนำไปสู่สมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกได้ ในปัจจุบันการใช้ชีวิตในสังคมไทยอาจจะยังไม่ได้สะท้อนให้เห็นความสามารถของประชาชนในด้านนี้อย่างชัดเจน แต่การประเมินผล PISA 2018 จะสามารถให้ตัวชี้วัดได้ว่าโรงเรียนไทยได้เตรียมความพร้อมให้นักเรียนก้าวไปสู่สังคมในอนาคตได้มากหรือน้อยเพียงใด

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 830KB)