การประเมิน PISA 2018 มีการรู้เรื่องการอ่านเป็นการประเมินหลัก และยังได้เพิ่มการประเมินมิติใหม่อีกอย่างหนึ่ง คือ คุณภาพของการเป็นพลเมืองโลก ซึ่งเป็นเรื่องใหม่และท้าทายต่อระบบการศึกษา ว่าสามารถสร้างเยาวชนให้มีความสามารถที่จะปฏิบัติตนให้มีคุณภาพและประสบความสำเร็จไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกกว้างใบนี้ ในชื่อว่าการประเมิน “สมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก” ซึ่ง OECD ให้นิยามว่า “เป็นความสามารถในการวิเคราะห์ประเด็นของโลกหรือต่างวัฒนธรรมอย่างมีวิจารณญาณและจากมุมมองที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าใจถึงความแตกต่างที่ส่งผลต่อการรับรู้ การตัดสินใจ แนวคิดของตนเองและของผู้อื่น และการเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเปิดกว้าง ในท่าทีที่เหมาะสม และสัมพันธ์กับผู้อื่นที่มีภูมิหลังที่แตกต่างอย่างได้ผล บนพื้นฐานของความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” สมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกจึงสามารถตีความเสมือนเป็น กรอบอ้างอิงด้านสติปัญญา ทักษะ และพฤติกรรม เสมือนเป็นกรอบแนวคิดประนีประนอมและให้ยับยั้งชั่งใจตนเอง ว่าต้องเคารพในความแตกต่างในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้อื่น ถ้าความแตกต่างนั้นไม่ได้ทำร้ายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตน
ตามนิยามดังกล่าว “สมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก” จึงเป็นเป้าหมายการศึกษาที่ซับซ้อน เป็นการเรียนรู้หลายมิติที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ และเคารพซึ่งกันและกันกับคนที่ต่างภาษาและวัฒนธรรม การที่จะให้นักเรียนแสดงออกมาเป็นรูปธรรมที่สัมผัสหรือตรวจสอบได้ จำเป็นต้องแยกออกมาเป็นวัตถุประสงค์ย่อยที่วัดได้ ซึ่ง OECD เสนอให้แตกออกมาเป็นมิติย่อย หรือเป็น “องค์ประกอบ” (Components) ที่วัดได้ประกอบไปด้วยสามมิติหลักคือ มิติด้านความรู้และความเข้าใจ (Knowledge and understanding) ซึ่งอ้างอิงถึงความรู้ความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ที่ปรากฏในโลก และความรู้ในวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่มีอยู่ในโลกกว้าง มิติด้านทักษะ (Skills) ซึ่งอ้างอิงกับทักษะการคิดหรือทักษะด้านพฤติกรรมที่จะปฏิบัติตนเองให้ประสบความสำเร็จในโลก และมิติด้านเจตคติ (Attitudes) ที่จะใช้ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการสร้างพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก
โครงสร้างการประเมินผล
สมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกมีเป้าหมายเพื่อประเมินว่านักเรียนสามารถใช้ความรู้และความเข้าใจ รับรู้ถึงความสัมพันธ์และมุมมองที่แตกต่าง และคิดอย่างมีวิจารณญาณเกี่ยวกับประเด็นปัญหาของโลกและต่างวัฒนธรรมมากน้อยเพียงใด มาตรวัดนี้จะมีข้อสอบอยู่บนพื้นฐานของความรู้ความคิดเรื่องสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกเท่านั้น ดังนั้น การประเมินจะให้ผล ว่านักเรียนมีพัฒนาการและสามารถใช้ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและประเด็นปัญหาของโลกได้เพียงใด ในความรู้และทักษะชุดต่าง ๆ ได้แก่ (1) ความรู้และความเข้าใจในประเด็นปัญหาของโลก (2) ความรู้และความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม (3) การคิดวิเคราะห์และการคิดแบบมีวิจารณญาณ
เนื่องจากองค์ประกอบทั้งสามเป็นสิ่งที่สร้างได้ในโรงเรียน การประเมินนี้ต้องการให้ข้อมูลในเชิงของนโยบายการศึกษา ว่านักเรียนได้รับการศึกษามาเพียงใด ในแง่มุมของ (ก) รู้ว่าคนอื่นมีมุมมองต่อโลกที่แตกต่างจากตนเอง ที่จะนำไปสู่ (ข) มีความรู้เรื่องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโลก ซึ่งจะนำไปสู่ (ค) ความตระหนักถึงวัฒนธรรมที่แตกต่าง รู้และเข้าใจผู้อื่น และ (ง) เพิ่มพูนความเข้าใจในระบบพื้นฐานของสังคมโลกและการปรับตัวทางวัฒนธรรม มิติดังกล่าวต่างก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างมาก ที่นักเรียนจะต้องรู้และใช้ในการเข้าถึงปัญหาของโลก ในขณะเดียวกันองค์ประกอบทั้งสามก็บอกถึงความสามารถของนักเรียนในการคิดแบบต่างวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความสามารถในการรับรู้และจำแนกการมองผู้อื่นแบบเหมารวม และการลงข้อสรุปทางวัฒนธรรม ความตระหนักรู้ถึงวัฒนธรรมของตนและความลำเอียงในใจของตนเอง ความสามารถที่จะเลือกวิธีแก้ปัญหาสำหรับเรื่องหนึ่ง ๆ ในบริบทของท้องถิ่นและบริบทของโลก แต่เนื่องจากความจำกัดของเวลาในการทดสอบ (หนึ่งชั่วโมง) OECD จึงเสนอการรายงานองค์ประกอบทั้งสามบนมาตรวัดเดียวกัน โดยตั้งคะแนนเฉลี่ย 500 คะแนน และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 100 เช่นเดียวกับมาตรวัดด้านอื่น ๆ ที่ผ่านมา และจะแบ่งออกเป็นระดับความสามารถตามความซับซ้อนของภารกิจการประเมินเป็นระดับของความรู้ ความเข้าใจ และความคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งคาดหวังว่านักเรียนอายุ 15 ปี ควรจะมี
ความรู้และความเข้าใจในประเด็นปัญหาของโลก (Knowledge and understanding of global issues) หมายถึง ความคุ้นเคยกับประเด็นสำคัญที่อยู่เกินขอบเขตของชาติ (เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอพยพย้ายถิ่น ความยากจน) และความสามารถที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันในระหว่างประเด็นปัญหา แนวโน้ม และระบบต่าง ๆ ในโลก
ความรู้และความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม (Intercultural knowledge and understanding) หมายถึง ความรู้และความเข้าใจในเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของตนเอง วัฒนธรรมของผู้อื่น ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม การมีความเข้าใจในเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม หมายถึง การรู้ว่าทัศนะหรือมุมมองของคนนั้นมาจากหลากหลายอิทธิพลที่หล่อหลอมมา (เช่น วัฒนธรรม ศาสนา เพศ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม การศึกษา) ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่จะพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับผู้อื่น
การคิดวิเคราะห์และการคิดแบบมีวิจารณญาณ (Analytical and critical thinking) นักเรียนที่มีสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกต้องแสดงว่ามีทักษะการคิดวิเคราะห์และการคิดแบบมีวิจารณญาณด้วย ทักษะในการคิดวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการเข้าถึงปัญหาโดยใช้ความเป็นเหตุเป็นผล ความมีระบบและมีขั้นตอน ทักษะนี้ยังรวมถึงความสามารถในการแปลความหมายของแต่ละส่วนในข้อความ และตรวจสอบแต่ละส่วนว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร เพื่อจะหาความสอดคล้องหรือความแตกต่างที่ขัดแย้งกัน ทักษะในการคิดแบบมีวิจารณญาณต้องใช้เพื่อประเมินคุณค่า ความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของสิ่งใด ๆ บนพื้นฐานของความสอดคล้องกันภายในตัวของมันเอง และความสอดคล้องกับประจักษ์พยาน และความสอดคล้องกับความรู้และประสบการณ์ของตนเอง การใช้ความคิดแบบมีวิจารณญาณในประเด็นปัญหาของโลกหรือต่างวัฒนธรรม ต้องรู้ด้วยว่าบางทีข้อสันนิษฐานของตนเองอาจจะมีผลต่อการเบี่ยงเบนกระบวนการตัดสินใจได้ และยอมรับว่าความเชื่อส่วนตัวและการตัดสินของตนมักจะยึดวัฒนธรรมและมุมมองของตนเองเป็นหลักเสมอ คุณลักษณะดังกล่าวนี้ คือสิ่งที่ PISA 2018 ให้ความสำคัญและต้องการประเมินว่านักเรียนมีคุณลักษณะดังกล่าวเพียงใด
การประเมินของ PISA 2018
การประเมินด้านองค์ความรู้ใน PISA 2018 ที่เสนอโดย OECD คือ ต้องการวัดความสามารถของนักเรียนในการใช้ความรู้ความเข้าใจ ความสามารถในการเข้าใจทัศนะอื่น และ ทักษะในการคิดวิเคราะห์และการประเมินในภารกิจที่อ้างอิงเกี่ยวกับประเด็นระหว่างวัฒนธรรมและประเด็นของโลก การประเมินจะครอบคลุมถึงภารกิจต่าง ๆ ที่ดึงเอาความรู้และกระบวนการคิดแบบต่าง ๆ มาใช้ กรอบโครงสร้างการประเมินจะประกอบด้วยภารกิจที่จำแนกประเภทไปตามเนื้อหาสาระ (เช่น อัตลักษณ์และวัฒนธรรม ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เป็นต้น) ตามบริบท (เช่น ความสัมพันธ์ในโรงเรียน เป็นต้น) และกระบวนการคิดหลักที่ต้องนำมาใช้ (เช่น การให้เหตุผลเชิงวิเคราะห์ และการให้เหตุผลแบบมีวิจารณญาณ)
รูป 1 มิติของการประเมินสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก
โดยชุดข้อสอบเป็นกรณีศึกษาที่มีเนื้อเรื่องและข้อคำถามทั้งแบบให้เลือกตอบซึ่งส่วนนี้จะทดสอบความตระหนักรู้และความเข้าใจในประเด็นตามเนื้อเรื่องที่ให้มา และแบบให้เขียนตอบปลายเปิดที่ให้นักเรียนสร้างคำตอบเองโดยอาศัยประจักษ์พยานจากข้อความที่ให้มา ประกอบกับความรู้หรือจากประสบการณ์เดิม การวิเคราะห์คำตอบของนักเรียนจะทำให้มองเห็นว่านักเรียนได้พัฒนาความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมและโลกและมีทักษะการวิเคราะห์เพียงใด
กรณีศึกษาที่ยกมาจะอยู่ในบริบทที่นักเรียนอายุ 15 ปี น่าจะคุ้นเคย ตัวอย่างเช่น เรื่องจริงของเด็กหญิงอายุ 14 ปี ซึ่งเป็นชาวเผ่าพื้นเมืองในเปรู ที่กลายมาเป็นคนที่มีชื่อเสียงในยูทูป จากการร้องเพลงภาษาท้องถิ่นโบราณภาษาหนึ่งที่เคยถูกเหยียดหยามในสังคมของเปรูมาช้านาน แล้วจะมีข้อสอบปลายเปิดข้อหนึ่ง ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงจูงใจที่จะเป็นนักกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมพื้นเมืองของตน ส่วนข้อสอบแบบเลือกตอบจะถามความเข้าใจถึงบทบาทของภาษาในด้านการแสดงออกทางวัฒนธรรมด้วยวาจา และถามเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างภาษาของคนส่วนใหญ่กับภาษาของชนกลุ่มน้อย
โรงเรียนอาจจะใช้กรณีศึกษาในทำนองเดียวกัน สอนความสามารถของนักเรียนในการเข้าไปอยู่ในโลกที่มีความซับซ้อนจากมุมมองที่แตกต่างได้ แต่ก็ต้องประเมินและระมัดระวังถึงเรื่องที่มีความอ่อนไหว เช่น เรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเกลียดชังและเกิดความรุนแรงต่อผู้พลัดถิ่น ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการออกแบบกิจกรรมด้วย
ระบบการศึกษาและครูสามารถทำอะไรบ้าง เพื่อส่งเสริมสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก
PISA 2018 จะประเมินด้วยว่าระบบการศึกษาและครูมีการส่งเสริมสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกเพียงใด เพราะการไม่ใส่ใจต่อวัฒนธรรมอื่น ๆ นั้นมีราคาแพงมาก และยังมีความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากความขัดแย้ง ความรุนแรง และอาชญากรรมที่ต้องลงทุนกันด้วยชีวิตหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสูญเสีย จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องลงทุนเพื่อสร้างความชัดเจน สอน ส่งเสริม ออกกฎหมาย และสนับสนุนสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกและการเป็นพลเมืองโลก (OECD, 2016 ; อ้างอิงจาก UNESCO, 2013) ระบบการศึกษาสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่าจะรับและปรับหลักสูตรให้ดีได้อย่างไร ส่งเสริมวิธีสอนและปรับการฝึกอบรมครูเพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกและพัฒนาทักษะสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก เช่น การสอนภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนะธรรมอื่นที่ไม่ใช่วัฒนธรรมหลักในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนภาษาในหลักสูตรสามารถครอบคลุมการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกได้ดี
คำถามในแบบสอบถามสำหรับโรงเรียนของ PISA 2018 อาจเป็นแหล่งข้อมูลและแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมหลักสูตรและนวัตกรรมการสอน เช่น คำถามชุดแรกมีข้อหนึ่งถามครูใหญ่ว่าในหลักสูตรมีหัวข้อเกี่ยวกับโลกหรือไม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ปัญหาสุขภาพระดับโลก การเพิ่มของประชากร อีกข้อหนึ่งถามว่าหลักสูตรปกติได้พูดถึงพื้นฐานและทักษะสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกหรือไม่ เช่น การติดต่อสื่อสารกับคนต่างวัฒนธรรม หรือต่างประเทศ หรือเปิดรับประสบการณ์ระหว่างวัฒนธรรมหรือไม่ ส่วนคำถามชุดที่สองจะเน้นที่ความเชื่อและการปฏิบัติของครู เช่น ขอให้ครูใหญ่บอกถึงความเชื่อโดยทั่วไปของครูว่าโรงเรียนควรจัดการอย่างไรถ้ามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อีกข้อหนึ่งถามเกี่ยวกับการปฏิบัติโดยเฉพาะสำหรับการเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายในระดับโรงเรียน เช่น การสอนเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ ประเพณี หรือศิลปะของชาติพันธุ์อื่น และชนกลุ่มที่มีวัฒนธรรมอื่น ๆ ในประเทศ คำถามอีกข้อหนึ่งขอให้ครูใหญ่ให้ความเห็นว่า มองครูในโรงเรียนเป็นอย่างไรในด้านความเชื่อในอัตลักษณ์และความเสมอภาคในมวลมนุษย์ นอกจากนี้จะมีแบบสอบถามสำหรับนักเรียนที่ให้นักเรียนรายงานถึงพฤติกรรมของครูจากมุมมองของนักเรียน เช่น ถามว่าครูปฏิบัติต่อนักเรียนทุกวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่
เป้าหมายของการศึกษานอกจากทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วิชาการแล้ว ยังต้องเตรียมเยาวชนให้มีความสามารถที่จะอยู่และปฏิบัติงานได้สำเร็จในประชาคมโลกด้วย PISA จึงมีการประเมินความสามารถทั่วโลก เพื่อจะตรวจสอบและให้ข้อมูลว่าระบบการศึกษาได้เตรียมเยาวชนให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพหรือไม่ เพียงใด หรืออีกนัยหนึ่ง ผลการประเมินจะเป็นตัวชี้นัยว่าประชาคมโลกในอนาคตจะอยู่กันอย่างสมัครสมานสามัคคีได้ดีหรือไม่ เพียงใด ผลการประเมินจะสะท้อนถึงลักษณะพฤติกรรม ความรู้ ทักษะในการคิดของเยาวชนของชาติด้วยว่าในอนาคตจะมีวิธีการจัดการกับความขัดแย้งได้ดีเพียงใด จึงเป็นหน้าที่หลักของการศึกษาที่ไม่ควรมุ่งเน้นแต่ความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่จะต้องทำให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมรวมถึงทั้งโลกได้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม
- OECD (2016), Global competency for an inclusive world, (Online), Available: https://www.oecd.org/education/Global-competency-for-an-inclusive-world.pdf. Retrieved January 4, 2018.
ดาวน์โหลด (PDF, 578KB)