กรอบการประเมินด้านการอ่าน

PISA 2018 ให้นิยาม “ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน” ไว้ดังนี้

ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading literacy) หมายถึง ความสามารถที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้อ่าน สามารถนำไปใช้ ประเมิน สะท้อนออกมาเป็นความคิดเห็นของตนเอง และมีความรักและผูกพันกับการอ่าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พัฒนาความรู้และศักยภาพ และการมีส่วนร่วมในสังคม

การประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านของ PISA นั้น ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ (1) บทอ่าน เป็นสิ่งที่ผู้อ่านจะต้องอ่านซึ่งอยู่ในรูปแบบที่หลากหลาย  (2) กระบวนการอ่าน เป็นกลยุทธ์ทางการคิดซึ่งบ่งชี้ถึงวิธีที่ผู้อ่านนำมาใช้ในการอ่านและมีส่วนร่วมกับบทอ่าน  (3) สถานการณ์ เป็นบริบทหรือสถานการณ์ที่มีความหลากหลายตามจุดประสงค์ของการอ่าน   โดยจะมีภาระงานให้ผู้อ่านทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งความยากของภาระงานจะมีความหลากหลายตามรูปแบบการนำเสนอของบทอ่านและเป้าหมายของภาระงานซึ่งต้องใช้ในการพัฒนาของกระบวนการคิดที่แตกต่างกัน

รูป 1  องค์ประกอบของการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านของ PISA

ดังนั้น การประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านของ PISA จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเชี่ยวชาญในกระบวนการอ่านของนักเรียน โดยอาศัยมิติที่หลากหลายของเนื้อหาที่อ่านและสถานการณ์ซึ่งมีความหลากหลายของบริบทหรือจุดประสงค์ของการอ่านบทความที่มีตั้งแต่หนึ่งเรื่องขึ้นไป 

1. บทอ่าน (Text)

กรอบการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านใน PISA 2018 ได้จำแนกประเภทของบทอ่านออกเป็น 4 มิติ ดังนี้

  • แหล่งข้อมูล (Source)
    • แหล่งข้อมูลเดียว เป็นบทอ่านที่มาจากผู้เขียนคนเดียวหรือกลุ่มผู้เขียนเพียงกลุ่มเดียว การเขียนหรือพิมพ์เผยแพร่ในครั้งเดียวกัน มีหัวข้อเรื่องเดียว เช่น หนังสือ และโฆษณาบนหน้าเว็บเพจ เป็นต้น
    • หลายแหล่งข้อมูล เป็นบทอ่านที่มาจากผู้เขียนหลายคน หรือ เผยแพร่ในเวลาที่แตกต่างกัน มีหัวข้อเรื่องที่แตกต่างกัน โดยบทอ่านที่มีหลายแหล่งข้อมูลอาจแสดงในหน้าเดียวกัน เช่น บทความในหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
  • องค์ประกอบและหน้าจอที่ปรากฏในการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ (Organisational and navigational structure) เนื่องจากหน้าจอคอมพิวเตอร์จะแสดงเฉพาะบางส่วนของบทอ่าน  ดังนั้น ผู้อ่านสามารถอ่านและเลื่อนดูบทอ่านทั้งหมดได้ในเวลาใดก็ได้
    • บทอ่านที่หน้าจอคงที่ (Static texts) เป็นหน้าจอที่มีองค์ประกอบไม่ซับซ้อน มีปุ่มเครื่องมือน้อย เช่น แถบเลื่อนหน้าจอ หรือปุ่มแท็บ
    • บทอ่านที่หน้าจอสลับไปมาได้ (Dynamic texts) เป็นหน้าจอมีความซับซ้อน เลื่อนไปมาได้ มีปุ่มเครื่องมือให้คลิกจำนวนมาก เช่น ไฮเปอร์ลิงก์ (Hyperlink) เพื่อสลับไปมาระหว่างส่วนต่าง ๆ ของบทอ่าน หรือเครื่องมือสำหรับโต้ตอบที่ช่วยให้ผู้อ่านสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ เช่น หน้าจอในสื่อสังคมออนไลน์
  • รูปแบบของบทอ่าน (Text format) ประกอบด้วยบทอ่านแบบต่อเนื่อง ไม่ต่อเนื่อง และแบบผสม
    • แบบต่อเนื่อง (Continuous text)  เป็นบทอ่านที่มีรูปแบบเป็นประโยคต่อเนื่องกันเป็นย่อหน้า ได้แก่ บทอ่านจากรายงานข่าว เรียงความ นวนิยาย เรื่องสั้น บทวิจารณ์ จดหมาย รวมทั้งเรื่องในอีบุ๊กด้วย
    • แบบไม่ต่อเนื่อง (Non-continuous text) เป็นบทอ่านที่อยู่ในรูปแบบแสดงรายการ ตาราง กราฟ แผนผัง โฆษณา ตารางกำหนดการ บัญชีรายชื่อสินค้า ดัชนี และแบบฟอร์มต่าง ๆ
    • แบบผสม (Mixed text) เป็นบทอ่านที่ประกอบด้วยบทอ่านแบบต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่อง เช่น บทอ่านที่มีการอธิบายและมีกราฟหรือตารางประกอบ
  • ประเภทของบทอ่าน (Text type) แบ่งประเภทของบทอ่านได้ดังนี้
    • การพรรณนา (Description)  เป็นบทอ่านที่ใช้เพื่อบอกลักษณะของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการบอกเล่าเพื่อตอบคำถามที่ถามว่า “อะไร” เช่น สารคดีท่องเที่ยวหรือบันทึกประจำวัน บัญชีรายการสินค้า แผนที่ทางภูมิศาสตร์ ตารางการบินแบบออนไลน์ หรือคำอธิบายลักษณะ หน้าที่ หรือวิธีการที่อยู่ในคู่มือทางเทคนิค
    • การบรรยาย (Narration) เป็นการบอกเล่าถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในมิติของเวลา หรือเป็นการตอบคำถามที่ถามว่า “เมื่อใด” หรือ “มีลำดับก่อนหลังอย่างไร” “เพราะเหตุใดลักษณะของเรื่องราวจึงเป็นเช่นนั้น”  เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น ชีวประวัติ การ์ตูนยาว หนังสือพิมพ์ที่รายงานถึงเหตุการณ์
    • การบอกเล่าอธิบายเหตุผล (Exposition)  เป็นบทอ่านที่ถูกนำเสนอแบบประสมที่เกิดจากการเรียบเรียงแนวความคิดให้สามารถวิเคราะห์ได้ เป็นการอธิบายว่าองค์ประกอบของแต่ละส่วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างไร หรือเป็นการตอบคำถามที่ถามว่า “อย่างไร”  เช่น การเขียนบทความวิชาการ การเขียนแผนภาพ กราฟแนวโน้มประชากร แผนผังมโนทัศน์ และการบันทึกสารานุกรมออนไลน์
    • การโต้แย้ง (Argumentation) เป็นบทอ่านที่เสนอปัญหาหรือโจทย์ในลักษณะที่ชี้ความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดต่าง ๆ หรืออาจเรียกว่าเป็นการบอกเหตุผลว่า “เพราะเหตุใด” ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นสองประเภทย่อย ๆ คือ (1) บอกกล่าวเพื่อชักชวนให้คล้อยตาม และ (2) บอกกล่าวเพื่อตั้งประเด็นให้มีการแสดงความคิดเห็น ถกเถียง โต้แย้งกัน เช่น จดหมายถึงบรรณาธิการ แผ่นป้ายโฆษณา การเขียนข้อความบนกระดานสนทนาออนไลน์ (Online forum) และการเขียนวิจารณ์หนังสือหรือภาพยนตร์ลงบนเว็บไซต์
    • คำแนะนำ (Instruction) เป็นบทอ่านที่ชี้บอกวิธีการว่าต้องทำอะไร อย่างไร หรือเป็นถ้อยความที่บอกวิธีปฏิบัติหรือแสดงการกระทำ เพื่อปฏิบัติภาระงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้เสร็จสิ้น เช่น วิธีทำอาหาร แผนภาพแสดงขั้นตอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และคู่มือการใช้งานโปรแกรม
    • การติดต่อสัมพันธ์ (Transaction) เป็นบทอ่านที่เน้นให้บรรลุวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง เช่น การร้องขอให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การจัดการงานประชุมหรือการนัดหมายกับเพื่อน เช่น อีเมลประจำวัน ข้อความที่ส่งแลกเปลี่ยนระหว่างคณะทำงานหรือเพื่อนที่ร้องขอหรือยืนยันข้อตกลง

2. กระบวนการอ่าน (Processes)

กรอบการประเมิน PISA 2018 ได้ระบุกระบวนการอ่านไว้ 4 กระบวนการ ที่ทำให้ผู้อ่านตื่นตัวขณะอ่านบทอ่าน  โดยมีสามกระบวนการที่ระบุไว้ในกรอบการประเมินของ PISA ที่ผ่านมา ได้แก่ “การรู้ตำแหน่งข้อสนเทศในบทอ่าน” “การมีความเข้าใจในบทอ่าน” และ “การประเมินและสะท้อนความคิดเห็นต่อบทอ่าน”  ซึ่งใน PISA 2018 ได้เพิ่มกระบวนการที่สี่ คือ “ความคล่องของการอ่าน”  เป็นการวัดที่ช่วยสนับสนุนสามกระบวนการแรก  แต่การวัดความคล่องของการอ่านจะเป็นอิสระจากการวัดในกระบวนการอื่น ๆ

  • ความคล่องของการอ่าน (Reading fluency)

    PISA ได้นิยามความคล่องของการอ่านว่า เป็นความสามารถที่จะอ่านประโยคหนึ่ง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพ  รวมถึงความสามารถในการอ่านคำหรือประโยคอย่างถูกต้องและเป็นอัตโนมัติ จากนั้นจึงวิเคราะห์คำในประโยค การใช้ถ้อยคำหรือวลี แล้วประมวลผลเพื่อทำความเข้าใจความหมายโดยรวมของประโยคที่อ่าน

    PISA 2018 ประเมินความคล่องของการอ่าน โดยให้นักเรียนอ่านประโยคที่หลากหลายทีละหนึ่งประโยค และถามนักเรียนว่าประโยคนั้นมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งส่วนมากจะเป็นประโยคค่อนข้างง่ายและไม่คลุมเครือ เช่น
    – นกหกตัวบินอยู่เหนือต้นไม้
    – หน้าต่างร้องเพลงเสียงดัง
    – ผู้ชายขับรถไปยังร้านค้า

  • การรู้ตำแหน่งข้อสนเทศในบทอ่าน (Locating information)

    กระบวนการอ่านแรกที่เกี่ยวข้องกับการอ่านคือ “การรู้ตำแหน่งข้อสนเทศในบทอ่าน” (ในกรอบการประเมินเดิมใช้คำว่า “การเข้าถึงและค้นคืนสาระ”)  ซึ่งโดยทั่วไปผู้อ่านมักค้นหาเฉพาะข้อมูลที่ต้องการโดยไม่พิจารณา ส่วนอื่น ๆ ของบทความ (OECD, 2019c ; อ้างอิงจาก White, Chen and Forsyth, 2010)  ในการรู้ตำแหน่งข้อสนเทศเมื่อบทอ่านอยู่ในรูปแบบดิจิทัลนั้นต้องใช้ทักษะที่แตกต่างจากการอ่านบทอ่านในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น ผู้อ่านต้องสามารถจัดการกับรูปแบบใหม่ ๆ ของบทอ่าน เช่น ผลจากการค้นหาที่อยู่ในโปรแกรมที่ช่วยในการสืบค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีหลายแท็บและมีเครื่องมือนำทางที่หลากหลายในการเข้าถึงข้อมูล  เพื่อใช้ในการหาตำแหน่งของข้อสนเทศในบทอ่านให้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยผู้อ่านจะต้องสามารถตัดสินใจได้ว่า บทอ่านส่วนใดที่มีความเกี่ยวข้อง มีความถูกต้อง และมีความน่าเชื่อถือ  อีกทั้ง ผู้อ่านต้องสามารถปรับความเร็วในการอ่านได้โดยอ่านข้ามส่วนที่คิดว่าไม่เกี่ยวข้องจนกว่าจะถึงข้อความที่น่าจะมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วจึงอ่านอย่างละเอียดมากขึ้น  ในท้ายที่สุด ผู้อ่านจะต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากการจัดระเบียบของบทอ่าน เช่น ส่วนหัวเรื่องที่อาจชี้นำได้ว่าส่วนใดที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังค้นหา

    PISA 2018 ได้จำแนก “การรู้ตำแหน่งข้อสนเทศในบทอ่าน” ออกเป็น 2 กระบวนการย่อย ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนบทอ่านที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
    • การเข้าถึงและค้นสาระข้อสนเทศที่อยู่ในบทอ่าน (Scanning and locating) โดยผู้อ่านต้องอ่านบทอ่านเพียงชิ้นเดียวอย่างคร่าว ๆ เพื่อค้นหาข้อมูลซึ่งเป็นเพียงคำ ถ้อยคำหรือวลี หรือค่าตัวเลข ซึ่งมีความจำเป็นเพียงเล็กน้อยที่จะต้องทำความเข้าใจกับบทอ่านทั้งหมด เนื่องจากข้อมูลเป้าหมายจะปรากฏเป็นคำต่อคำอยู่ในบทอ่าน
    • การค้นหาและเลือกบทอ่านที่เกี่ยวข้อง (Searching for and selecting relevant text) ผู้อ่านต้องจัดการกับบทอ่านหลาย ๆ ชิ้น สิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับการอ่านจากสื่อดิจิทัล ซึ่งจำนวนบทอ่านที่ต้องจัดการทั้งหมดมีอยู่มากเกินกว่าที่ผู้อ่านจะสามารถอ่านได้ทั้งหมดหรือจำเป็นต้องจัดการ ทั้งนี้ ในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการ อันดับแรกผู้อ่านจำเป็นต้องระบุก่อนว่าส่วนใดของบทอ่านที่มีความเหมาะสมซึ่งจะเป็นการเพิ่มความซับซ้อนของกระบวนการอ่าน การจัดระเบียบของบทอ่าน เช่น หัวเรื่อง แหล่งที่มาของข้อมูล (เช่น ผู้เขียน สื่อ และวันที่เผยแพร่) และลิงก์ (เช่น หน้าต่างที่แสดงผลจากการสืบค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต) ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับกระบวนการอ่านนี้

    ภาระงานที่มีบทอ่านจากหลายแหล่งข้อมูลไม่จำเป็นต้องยากกว่าภาระงานที่มีบทอ่านจากแหล่งข้อมูลเดียว  ใน PISA 2018 ได้มีการคำนึงถึงการประเมินภาระงานในการค้นหาอย่างง่าย ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลายบทอ่านที่มีความยาวไม่มากนักและมีความซับซ้อนน้อย เช่น บันทึกสั้น ๆ บนป้ายประกาศ หรือรายการหัวข้อเอกสารหรือผลของการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเวลาและรูปแบบการสอบที่เป็นแบบออฟไลน์ จึงไม่สามารถใช้สถานการณ์ที่มีการสืบค้นแบบเปิดกว้างและมีความซับซ้อนมากขึ้นได้ซึ่งผู้อ่านอาจจะพบได้จากการอ่านบนอินเทอร์เน็ต ด้วยเหตุนี้ กระบวนการอ่านทั้งสองกระบวนการจึงสามารถพบได้ในข้อสอบที่มีความยากทุกระดับ  โดยภาระงานที่ง่ายของกระบวนการอ่านทั้งสองกระบวนการจะเกี่ยวข้องกับการมีข้อมูลให้อ่านเพียงเล็กน้อย ซึ่งแสดงเป้าหมายให้เห็นอย่างเด่นชัด และมีการใช้คำที่มีความหมายเข้าใจง่าย ในขณะที่ภาระงานที่มีความซับซ้อนจะเกี่ยวข้องกับการมีข้อมูลให้อ่านที่มากขึ้น การใช้คำที่มีความหมายโดยนัยซึ่งเป้าหมายอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เด่นชัดและมีเนื้อเรื่องอื่น ๆ ที่มาเบี่ยงเบนความสนใจ

  • การมีความเข้าใจในบทอ่าน (Understanding)
    “การมีความเข้าใจในบทอ่าน” (ในกรอบการประเมินเดิมใช้คำว่า “การบูรณาการและการตีความ” และโดยทั่วไปมักหมายถึง “การอ่านเพื่อความเข้าใจ”) เกี่ยวข้องกับการสร้างตัวแทนความคิดของผู้อ่านว่าบทอ่านนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ผู้อ่านต้องรับรู้ความหมายที่ถ่ายทอดในบทอ่านนั้น กรอบการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านได้ระบุกระบวนการอ่าน 2 กระบวนการย่อย ที่เกี่ยวข้องกับการมีความเข้าใจในบทอ่านโดยแยกตามความยาวของบทอ่าน  ดังนี้
    • การแสดงถึงความเข้าใจในความหมายที่แท้จริงของบทอ่าน (Representing literal meaning) ผู้อ่านต้องถอดความประโยคหรือข้อความสั้น ๆ เพื่อให้ตรงกับข้อมูลเป้าหมายตามภาระงานที่ต้องการ
    • การบูรณาการและลงข้อสรุปจากข้อสนเทศหลาย ๆ ส่วนที่อยู่ในบทอ่าน (Integrating and generating inferences) ผู้อ่านต้องจัดการกับข้อความที่ยาวขึ้นเพื่อสร้างความหมายโดยรวม โดยการคาดคะเนตามหลักการเหตุและผล หรือสรุปจากหลักเกณฑ์หรือข้อเท็จจริง ซึ่งอาจจะต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับข้อความหรือบทอ่านที่หลากหลาย และสรุปว่าเชื่อมโยงกันได้อย่างไร เช่น การเชื่อมโยงในเชิงตำแหน่ง ความเชื่อมโยงตามเวลา หรือความเชื่อมโยงระหว่างเหตุและผล และอาจรวมไปถึงการเชื่อมโยงกับข้อความในคำถามด้วย ผู้อ่านอาจต้องแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างบทอ่านต่าง ๆ ด้วย การสร้างการบูรณาการบทอ่านแสดงถึงการเชื่อมโยงกับภาระงาน เช่น การระบุแนวคิดหลักของบทอ่านหนึ่งชิ้นหรือหนึ่งชุด การสรุปย่อข้อความที่ยาว หรือการตั้งชื่อให้บทอ่านหนึ่งชิ้นหรือหนึ่งชุด การอนุมานระหว่างบทอ่านมักจะต้องการความเชี่ยวชาญในระดับสูง อาจเป็นเพราะการอนุมานดังกล่าวเกี่ยวข้องและต้องใช้กระบวนการอ่านที่จำเพาะ ซึ่งกระบวนการอ่านนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่ออ่านบทอ่านหลายชิ้นหรือเมื่ออ่านบทอ่านยาว ๆ เพียงชิ้นเดียว
  • การประเมินและสะท้อนความคิดเห็นต่อบทอ่าน (Evaluating and reflecting)
    กระบวนการอ่านที่จัดเป็นระดับสูงสุดที่ PISA 2018 ได้ระบุไว้ในกรอบการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คือ “การประเมินและสะท้อนความคิดเห็นต่อบทอ่าน”  ในที่นี้ ผู้อ่านจะต้องมีความเข้าใจในบทอ่านมากกว่าความเข้าใจความหมายตามตัวอักษรหรือความหมายโดยสรุปของบทอ่านหนึ่งชิ้นหรือหนึ่งชุดเพื่อประเมินคุณภาพและความถูกต้องของเนื้อหาและรูปแบบ ภายใต้การประเมินและสะท้อนความคิดเห็นต่อบทอ่าน ประกอบด้วยกระบวนการอ่าน 3 กระบวนการย่อย ดังนี้
    • การประเมินคุณภาพและความน่าเชื่อถือของบทอ่าน (Assessing quality and credibility) ผู้อ่านต้องตัดสินว่าเนื้อหานั้นมีความถูกต้อง เที่ยงตรง และ/หรือ เป็นกลางหรือไม่ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการระบุถึงแหล่งที่มาของข้อมูล และด้วยเหตุนี้ การระบุถึงเจตนาและการลงความเห็นของผู้เขียนก็แสดงได้ว่าผู้เขียนมีความสามารถและมีข้อมูลมากพอหรือไม่ ทั้งนี้ การประเมินคุณภาพและความน่าเชื่อถือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต้องการให้ผู้อ่านรวมเนื้อหาสาระที่อยู่ในบทอ่านเข้ากับข้อมูลในการชี้บอกที่อยู่รอบข้าง เช่น ใครเป็นผู้เขียน เขียนเมื่อใด เขียนเพื่อวัตถุประสงค์ใด และอื่น ๆ
    • การสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาและรูปแบบของเรื่องที่ได้อ่านอย่างมีวิจารณญาณ (Reflecting on content and form) ผู้อ่านต้องประเมินถึงคุณภาพและรูปแบบของบทอ่าน โดยต้องประเมินว่าเนื้อหาและรูปแบบของเรื่องแสดงจุดประสงค์และมุมมองของผู้เขียนอย่างเพียงพอหรือไม่ ในการจะสามารถทำเช่นนี้ได้ ผู้อ่านจำเป็นต้องดึงเอาความรู้และประสบการณ์จากชีวิตจริงมาใช้ในการเปรียบเทียบมุมมองที่แตกต่างกันได้
    • การตรวจสอบข้อมูลที่ขัดแย้งกันและหาวิธีจัดการข้อขัดแย้งนั้น (Corroborating and handling conflict) ผู้อ่านจำเป็นต้องเปรียบเทียบข้อสนเทศระหว่างบทอ่าน ตระหนักถึงข้อขัดแย้งระหว่างบทอ่าน แล้วหาวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการข้อขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งจะสามารถทำได้โดยการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล และความมีเหตุผลและความถูกต้องของข้ออ้างในแต่ละแหล่งข้อมูล กระบวนการอ่านนี้มักถูกใช้เมื่อมีการตรวจสอบบทอ่านจากหลายแหล่งข้อมูล 
    การประเมินและสะท้อนความคิดเห็นต่อบทอ่านนี้เป็นส่วนหนึ่งของความฉลาดรู้ด้านการอ่าน  อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของด้านนี้เพิ่งจะเด่นชัดขึ้นในยุคของการอ่านดิจิทัล เนื่องจากในปัจจุบันผู้อ่านจะต้องพบกับข้อมูลที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด และจะต้องสามารถแยกแยะระหว่างสิ่งที่น่าเชื่อถือและสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ

3. ภาระงาน (Tasks)

ภาระงานที่ต้องปฏิบัติในการประเมิน PISA คือ การที่ผู้อ่านมีส่วนร่วมกับบทอ่านอย่างมีจุดประสงค์ ซึ่งจุดประสงค์ดังกล่าวก็เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับบทอ่านเหล่านี้ในการแสดงให้เห็นถึงระดับความฉลาดรู้ด้านการอ่านของตนเอง  โดยคำถามหรือภาระงานดังกล่าวต้องการให้นักเรียนใช้กระบวนการอ่านอย่างน้อยหนึ่งกระบวนการ ซึ่งภาระงานเหล่านี้ถูกจัดเรียงเป็นชุดข้อสอบตามแหล่งข้อมูลเดียวหรือหลายแหล่งข้อมูล  ภาระงานภายในชุดข้อสอบแต่ละชุดจะถูกเรียงไว้ตามลำดับความยาก เช่น ภาระงานแรกในชุดข้อสอบหนึ่งอาจจะให้นักเรียนค้นหาสาระข้อสนเทศในบทอ่านที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ภาระงานที่สองอาจจะให้นักเรียนพิจารณาข้อมูลที่ระบุไว้เป็นพิเศษในบทอ่าน และภาระงานที่สามอาจจะให้นักเรียนเปรียบเทียบมุมมองในสองบทอ่านที่แตกต่างกัน

การตอบคำถามในการสอบก็เป็นแบบการตอบแบบเดิม กล่าวคือ ในการตอบสนองต่อสถานการณ์นักเรียนต้องรู้ก่อนว่าคำถามคืออะไร แล้วจึงกำหนดวิธีการที่จะนำไปสู่การหาคำตอบที่ถูกต้องให้สำเร็จ และติดตามความคืบหน้าตามเส้นทางนี้  ในการตอบคำถามแบบเดิม ๆ นักเรียนจะต้องอ่านบทอ่านที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนก่อน  แต่การตอบสนองต่อภาระงานที่กำหนดให้นั้นแทนที่จะทำแบบเดิม ๆ นักเรียนก็จะมีวิธีทางเลือกที่จะตอบคำถามได้หลากหลายมากขึ้น ดังนั้น นักเรียนจะต้องค้นหาส่วนต่าง ๆ ในบทอ่านที่เกี่ยวข้องให้พบก่อน

แม้ว่าการเขียนและการอ่านเป็นทักษะที่มีความสัมพันธ์กัน และนักเรียนจะต้องพิมพ์คำตอบสั้น ๆ ที่ต้องใช้คนตรวจ แต่เนื่องจาก PISA เป็นการประเมินการอ่านไม่ใช่การเขียน ดังนั้น ทักษะการเขียน เช่น การสะกดคำ ไวยากรณ์ การเรียบเรียง และคุณภาพการเขียน จึงไม่ได้นำไปพิจารณาในการตรวจให้คะแนน  

โดยปกติภาระงานของ PISA จะนำเสนอในรูปแบบของชุดข้อสอบที่ไม่ต่อเนื่องและไม่เกี่ยวข้องกันโดยแต่ละชุดข้อสอบจะมีบทอ่านที่จบภายในชุดข้อสอบของตัวเอง  อย่างไรก็ตาม เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับการอ่านได้ดีขึ้น  PISA 2018 จึงมีบางภาระงานที่ต้องมีการใช้สถานการณ์ต่าง ๆ ร่วมด้วย ซึ่งแต่ละภาระงานจะมีวัตถุประสงค์ที่ครอบคลุมและต้องมีการรวบรวมประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบทอ่านที่อาจมาจากหลายแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกัน

4. สถานการณ์ (Situation)

ตามกรอบการประเมินด้านการอ่านแบ่งสถานการณ์ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • สถานการณ์ส่วนบุคคล (Personal) เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตั้งใจที่สนองความสนใจส่วนตัวของแต่ละคน รวมถึงสิ่งที่ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคนหนึ่งถึงคนอื่น ๆ ด้วย เช่น จดหมายส่วนตัว นวนิยาย อัตชีวประวัติ และสิ่งที่มีเนื้อความสาระที่อ่านเพื่อความสนุก ความอยากรู้ส่วนตัว และเพื่อกิจกรรมสันทนาการและการพักผ่อน ส่วนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมถึงอีเมล การส่งข้อความโต้ตอบกันแบบทันที และการเขียนบล็อก (Blog) ส่วนตัวแบบการเขียนบันทึกประจำวันด้วย
  • สถานการณ์สาธารณะ (Public) เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของสังคมที่ใหญ่ขึ้น รวมทั้งเอกสารของทางการ และสาระข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ของสาธารณะ โดยทั่วไปเนื้อหาจะไม่อ้างอิงถึงใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น มติประชุม เว็บไซต์ข่าว ประกาศของทางการ ซึ่งเป็นได้ทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์
  • สถานการณ์ทางการศึกษา (Educational) เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะทางเกี่ยวกับการเรียนการสอน รูปแบบมีทั้งตำราสื่อสิ่งพิมพ์ ตำราสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และซอฟต์แวร์การเรียนรู้ที่สามารถโต้ตอบได้ (Interactive) สื่อที่อ่านมักไม่ได้ถูกเลือกโดยตัวผู้อ่าน แต่มักจะถูกกำหนดโดยผู้สอน
  • สถานการณ์ทางการงานอาชีพ (Occupational) เกี่ยวข้องกับการอ่านที่ต้องได้รับข้อมูลทันทีที่อ่าน เช่น การหางานซึ่งมีทั้งตามประกาศหนังสือพิมพ์ หรือออนไลน์  คำสั่งหรือวิธีการที่กำหนดให้ทำในที่ทำงาน

ข้อมูลเพิ่มเติม

OECD (2019), PISA 2018 Assessment and Analytical Framework, PISA, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/b25efab8-en.