PISA ให้นิยามความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading literacy) ไว้ว่า
ความสามารถที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้อ่าน สามารถนำไปใช้ ประเมิน สะท้อนออกมาเป็นความคิดเห็นของตนเอง และมีความรักและผูกพันกับการอ่าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พัฒนาความรู้และศักยภาพ และการมีส่วนร่วมในสังคม
ทั้งนี้ เพื่อจะประเมินว่านักเรียนได้พัฒนาศักยภาพในการอ่านของตนและสามารถใช้การอ่านให้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและความเป็นไปของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่เพียงใด เพราะการประเมินของ PISA นั้นเน้น “การอ่านเพื่อการเรียนรู้” มากกว่าทักษะในการอ่านที่เกิดจากการ “การเรียนรู้เพื่อการอ่าน” และ PISA ประเมินผลเพื่อศึกษาว่านักเรียนจะสามารถรู้เรื่องที่ได้อ่าน สามารถขยายผลและคิดย้อนวิเคราะห์ความหมายของข้อความที่ได้อ่าน เพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ของตนในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างกว้างขวางทั้งในโรงเรียนและในชีวิตจริงนอกโรงเรียน
นิยามเรื่องการอ่านของ PISA จึงมีความหมายกว้างกว่าการอ่านออกและอ่านรู้เรื่องในสิ่งที่อ่านตามตัวอักษรเท่านั้น แต่การอ่านยังได้รวมถึงความเข้าใจเรื่องราวสาระของเนื้อความ สามารถคิดพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายของการเขียน สามารถนำสาระจากข้อเขียนไปใช้ในจุดมุ่งหมายของตน และทำให้สามารถมีส่วนร่วมในสังคมสมัยใหม่ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นด้วยการสื่อสารจากข้อเขียน ในการการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านของ PISA นักเรียนจะต้องสามารถใช้กระบวนการที่หลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพได้ ซึ่งนักเรียนจะต้องมีทักษะทางการคิด วิธีการ และแรงจูงใจซึ่งสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว โดยกระบวนการจำแนกออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ (1) กระบวนการการอ่าน และ (2) การจัดการภาระงาน
กรอบการประเมินด้านการอ่านของ PISA 2018
วิธีการวัดความรู้และทักษะการอ่านของ PISA
ปัจจุบันการอ่านไม่ได้มีเฉพาะในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์แต่ยังมีการอ่านในรูปแบบของสื่อดิจิทัล ทำให้ในแต่ละวันมีข้อความสื่อสารปริมาณมากมายหลายรูปแบบ ดังนั้น การแยกแยะว่าข้อมูลใดเป็นข้อเท็จจริงหรือสิ่งใดเป็นความคิดเห็นจึงเป็นทักษะที่มีความจำเป็น มากไปกว่านั้น การอ่านที่ดีควรมาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและน่าเชื่อถือ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาอย่างถูกต้องและครบถ้วน
PISA จึงได้พัฒนาข้อสอบเพื่อประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านโดยการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ ในสถานการณ์ของข้อสอบมีการใช้ทั้งแหล่งข้อมูลเดียวและหลายแหล่งข้อมูลเพื่อตอบคำถาม ตัวอย่างแหล่งข้อมูลที่มีในข้อสอบของ PISA เช่น แผ่นพับ ป้ายประกาศ การโพสต์ข้อความหลาย ๆ โพสต์บนกระดานสนทนา การเขียนบล็อกส่วนตัว การโต้ตอบทางอีเมล การสนทนาทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ บทความออนไลน์ (บทความทางวิชาการ บทความจากหนังสือพิมพ์ เอกสารทางประวัติศาสตร์) เป็นต้น ซึ่งการสอบด้วยคอมพิวเตอร์จะทำให้สามารถใช้สื่อดิจิทัลได้หลายแบบ สามารถกดลิงก์ กดแท็บ หรือเมนูต่าง ๆ เพื่อเข้าดูข้อมูลบนเว็บไซต์ที่ข้อสอบได้จำลองสถานการณ์ขึ้น
ในการสอบด้านการอ่าน นักเรียนจะต้องอ่านข้อความต่างๆ หลากหลายแบบแล้วแสดงออกมาว่ามีความเข้าใจอย่างไร โดยให้ตอบโต้ ตอบสนอง สะท้อนออกมาเป็นความคิดหรือคำอธิบายของตนเอง เพื่อให้ครอบคลุมความสามารถด้านการอ่านในแง่มุมต่าง ๆ PISA จึงประเมินกระบวนการอ่าน โดยเน้นที่ความสามารถในสามกระบวนการ ดังนี้
- รู้ตำแหน่งข้อสนเทศในบทอ่าน (Locate information) คือ ผู้อ่านสามารถอ่านบทอ่านเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงใจความสำคัญของเรื่องได้อย่างครบถ้วนและละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงการระบุตำแหน่งข้อสนเทศทางดิจิทัลที่ซับซ้อน เช่น การใช้โปรแกรมค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต การเข้าเว็บไซต์
- มีความเข้าใจในบทอ่าน (Understand) เป็นการตีความของผู้อ่านว่าบทอ่านนั้นมีความหมายว่าอย่างไร และบูรณาการเนื้อหาของเรื่องที่ได้อ่านกับความรู้ที่ผ่านมาด้วยการร่างแผนผังและกระบวนการสร้างข้อสรุป ส่วนการอ่านบทอ่านที่มีมากกว่าหนึ่งชิ้น ผู้อ่านต้องใช้การบูรณาการและการลงข้อสรุปจากข้อสนเทศหลายส่วนที่อยู่ในบทอ่านต่าง ๆ
- ประเมินและสะท้อนความคิดเห็นต่อบทอ่าน (Evaluate and Reflect) ผู้อ่านสามารถประเมินคุณภาพและความน่าเชื่อถือของบทอ่านได้ สามารถสะท้อนอย่างมีวิจารณาญาณถึงเนื้อหาและรูปแบบของเรื่องที่ได้อ่าน เมื่อผู้อ่านต้องอ่านบทอ่านหลากหลายชิ้นที่ขัดแย้งกัน ผู้อ่านจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อข้ดแย้งและหาวิธีจัดการกับข้อข้ดแย้งนั้น