ตัวแปรด้านโรงเรียนของระบบที่ประสบความสำเร็จ

PISA เป็นการประเมินเพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงการศึกษาในประเทศสมาชิก OECD ให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันในความเป็นเอกภาพของประเทศในเครือเดียวกัน วัตถุประสงค์ของการสอบไม่ได้ใช้เพื่อการแข่งขันหรือจัดอันดับเปรียบเทียบกัน ส่วนประเทศ/เขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประเทศสมาชิก OECD นั้นขอเข้าร่วมโครงการเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาของตนเองโดยใช้สเกลนานาชาติ ประเทศเหล่านี้เรียกว่า Partner countries หรือประเทศร่วมโครงการ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ขอเข้าร่วมโครงการในฐานะ Partner country ผลการประเมิน PISA ของนักเรียนไทยยังมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่านักเรียนในเอเชียด้วยกันอย่างน้อยเท่ากับการเรียนที่ห่างกันสองปี ผลการประเมินดังกล่าวมีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ นับตั้งแต่การประเมินครั้งแรกใน พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา (PISA 2000 จนถึง PISA 2015) แต่ PISA ได้รับความสนใจและหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการศึกษา โดยเฉพาะในระยะหลังนี้ที่กำลังจะมีการประเมินรอบใหม่ (PISA 2018) และมีความพยายามหาแนวทางที่จะขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพโดยคาดหวังว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ในระดับประเทศ ทั้งนี้ PISA ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหากนำมาใช้ในการพิจารณาเทียบกับสภาวะปัจจุบันของประเทศจะสามารถช่วยในการกำหนดนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาได้

การยกระดับคุณภาพต้องรู้จุดอ่อน-จุดแข็ง

การที่คุณภาพการศึกษาไทยต่ำกว่านานาชาติและต่ำกว่าเพื่อนบ้านด้วยกัน หากไม่มีข้อมูลก็อาจคิดว่าสาเหตุหลักมาจาก (1) ครู (2) หลักสูตร และ (3) นักเรียน แต่ข้อมูลจาก PISA ได้ชี้แนะประเด็นต่าง ๆ ไว้มากมาย สำหรับในสามด้านหลัก (การอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์) มีปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้พอสรุปรวมกันได้ ดังนี้ สิ่งแรกสุด นักเรียนไทยขาดทักษะการอ่าน เมื่อไม่ชอบการอ่าน อ่านไม่รู้เรื่อง วิเคราะห์ภาษาหรือใจความหลักไม่ได้ก็ทำอะไรต่อไม่ได้ การอ่านของ PISA หมายรวมถึงความเข้าใจ การใช้ การสะท้อนความคิดจากการอ่าน ความรักการอ่าน อ่านเพื่อพัฒนาความรู้และศักยภาพส่วนตนและสังคม ผลการประเมินชี้ว่า นักเรียนไทยมีทักษะการอ่านต่ำ อ่านแล้วไม่เข้าใจถ้าในเรื่องเป็นการบอกแบบชี้นัยที่ต้องตีความ ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ สะท้อน หรือโต้ตอบได้ ขาดทักษะการเขียนเพื่อสื่อสาร เมื่อใดที่ข้อคำถามให้อธิบายเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใดหรือถามว่ามีหลักฐานอะไร นักเรียนมักจะไม่ตอบหรือจะใช้วิธีลอกข้อความในเนื้อเรื่องมาตอบซึ่งทำให้ไม่ได้คะแนน เมื่อเป็นคำถามด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ยิ่งยากขึ้นไปอีกเพราะอ่านโจทย์ไม่แตก วิเคราะห์ไม่ได้ว่าข้อมูลหรือสาระต่าง ๆ ที่ให้มาในโจทย์สัมพันธ์หรือขัดแย้งกันหรือไม่ อย่างไร จึงหาคำตอบได้ยาก เพราะข้อสอบ PISA ไม่ถามหาคำตอบ แต่จะถามในทำนองที่ว่า “รู้ได้อย่างไร” “มีเหตุผลอะไรสนับสนุนคำตอบของนักเรียน” หรือ “สาระตรงไหนในโจทย์ที่ทำให้คิดว่าเป็นเช่นนั้น” เป็นต้น ตัวแปรร่วมที่ส่งผลกระทบสูงสูด คือ ครูคุณภาพสูงและทรัพยากรการเรียนที่เหมาะสม ซึ่งมีรายงานละเอียดในด้านนี้มากพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังมีข้อมูลที่ชี้ตัวแปรอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ คือ วิธีการจัดการและสิ่งแวดล้อมทางการเรียน ที่ PISA วิเคราะห์ว่า ระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จนั้นมีลักษณะต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งในที่นี้จะขอสรุปสั้น ๆ ว่าตัวแปรใดส่งผลอย่างไร และเปรียบเทียบกับระบบโรงเรียนของไทยเพื่อให้เห็นว่าระบบของไทยมีการปฏิบัติ
ที่ยังสามารถปรับปรุงไปในทิศทางที่ประสบความสำเร็จได้หรือไม่อย่างไร (PISA นิยามระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จว่านักเรียนมีผลการประเมินสูงอย่างน้อยต้องสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD) อย่างไรก็ตาม ตัวแปรที่สรุปในตารางข้างล่างนี้เป็นตัวแปรที่ส่งผลกระทบสูง แต่ยังมีตัวแปรที่พบว่าส่งผลกระทบรองลงมาอีกหลายตัวแปร

ตัวแปรที่ส่งผลกระทบต่อคะแนนวิทยาศาสตร์ (ข้อมูลจาก PISA 2015)

ตัวแปร ผลกระทบ/คะแนน (Score points) นัยทางการศึกษาสำหรับไทย
การจัดการทางวิชาการ
การเรียนวิทยาศาสตร์ นักเรียนที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์อย่างน้อย
หนึ่งวิชามีคะแนนสูงกว่านักเรียนที่ไม่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ 25 คะแนน นักเรียนไทยที่มีคะแนนต่ำมักไม่ได้เรียน
สายวิทยาศาสตร์ แต่ระบบควรส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้เรียนวิทยาศาสตร์ตามความสนใจ
เวลาเรียน
  • คะแนนเพิ่มขึ้น 5 คะแนน เมื่อเวลาเรียนวิทยาศาสตร์ในชั่วโมงปกติเพิ่มขึ้น 
1 ชั่วโมง/สัปดาห์
  • นักเรียนที่มีเวลาเรียนวิทยาศาสตร์มากกว่า
มีความต้องการเรียนต่อและทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียน
ที่เรียนในโรงเรียนที่มีอุปกรณ์พร้อมและ
มีเจ้าหน้าที่ช่วยในห้องปฏิบัติการ
เวลาเรียนสามด้านหลักของไทยต่ำกว่าเพื่อนบ้าน ควรเพิ่มเวลาเรียนวิชาหลัก 
แม้ไม่ใช่การสอนเนื้อหาสาระโดยตรง
แต่เป็นกิจกรรมฝึกกระบวนการคิดและ
ทักษะการทำงานแบบกระบวนการคิด
เชิงวิทยาศาสตร์
เวลาเรียนพิเศษนอกเวลา
  • เวลาเรียนพิเศษนอกเวลาและเวลาที่นักเรียนใช้ทำการบ้านไม่ส่งผลทางบวกกับผลการเรียนรู้
  • ในระบบโรงเรียนที่นักเรียนใช้เวลาเรียนพิเศษนอกเวลาและทำการบ้านยิ่งมากมีแนวโน้มผลการประเมินยิ่งต่ำ (OECD, 2016)
นักเรียนไทยใช้เวลาเรียนพิเศษนอกเวลาและเวลาทำการบ้านสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD และสูงกว่าประเทศในเอเชียตะวันออกด้วยกัน
การคัดเลือกและการแยกกลุ่มนักเรียน
การแยกกลุ่มตามแนวตั้ง 
(นักเรียนอายุเท่ากัน
แต่เรียนต่างระดับชั้นกัน) ประเทศที่มีนักเรียนวัยเดียวกันเรียนอยู่ใน
หลายระดับชั้นส่งผลทางลบต่อคะแนนเฉลี่ย (คะแนนต่ำลง) นักเรียนไทยอายุ 15 ปี ส่วนใหญ่เรียนอยู่
ชั้น ม.4 (มีประมาณ 70%) นอกนั้นเรียนอยู่ชั้น ม.3 และชั้น ม.5 แต่จากรายงานของครูใหญ่ นักเรียนไทยประมาณ 76% อยู่ในโรงเรียนที่มีการคัดแยกกลุ่มตามความสามารถ ทั้งการแยกกลุ่มอย่างถาวรหรือการแยกเป็นบางวิชา
การแยกกลุ่มตามแนวนอน (นักเรียนเรียนชั้นเดียวกัน
แต่แบ่งกลุ่มตามความสามารถทางวิชาการ) การแยกกลุ่มนักเรียนมีความสัมพันธ์กับ
ผลการเรียนรู้ที่ต่ำ เพราะนักเรียนที่ถูกคัดแยก
มีแรงจูงใจในการเรียนลดลง
การรับนักเรียนเข้าโรงเรียนโดยการสอบแข่งขัน
  • ประเทศที่มีการสอบคัดเลือกนักเรียนอย่างเข้มข้นมีคะแนนต่ำกว่าประเทศที่ไม่มีการสอบ
  • ในประเทศคะแนนสูงไม่เน้นรับนักเรียนเข้าโรงเรียนโดยใช้ผลการคัดเลือกทางวิชาการ
ระบบโรงเรียนไทยเน้นการรับนักเรียนเข้าโรงเรียนโดยใช้การคัดเลือกทางวิชาการ ผลการสำรวจใน PISA 2012 ครูใหญ่ไทยรายงานว่ามีนักเรียนมากกว่า 80% อยู่ในโรงเรียนที่คัดเลือกรับนักเรียนตามผลทางวิชาการ และสัดส่วนนี้เพิ่มเป็น 90% ใน PISA 2015 (OECD, 2016) โรงเรียนไทยมีการสอบคัดเลือกตั้งแต่ระดับประถมศึกษา (หรือระดับอนุบาลบางแห่ง) ถึงระดับมหาวิทยาลัย ถึงเวลาหรือยังที่จะเลิกการสอบแข่งขัน
บรรยากาศทางการเรียน
บรรยากาศทางระเบียบวินัย บรรยากาศทางระเบียบวินัยส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้   

 

  • โรงเรียนที่มีบรรยากาศทางระเบียบวินัยเชิงลบ นักเรียนมักมีผลการประเมินต่ำ
  • ค่าเฉลี่ย OECD เมื่อดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยเปลี่ยนไป 1 หน่วย 
ใน PISA 2015 คะแนนวิทยาศาสตร์เปลี่ยนไป 15 คะแนน และใน PISA 2012 คะแนนคณิตศาสตร์เปลี่ยนไป 18.2 คะแนน
PISA 2015 เมื่อดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยเปลี่ยนไป 1 หน่วย นักเรียนไทยมีคะแนนวิทยาศาสตร์เปลี่ยนไป 6 คะแนน PISA 2012 นักเรียนไทยที่มีดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยกลุ่มต่ำสุดมีคะแนนคณิตศาสตร์น้อยกว่ากลุ่มบนสุด 36 คะแนน และเมื่อดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยเปลี่ยนไป 1 หน่วย คะแนนคณิตศาสตร์เปลี่ยนไป 17.6 คะแนน ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย OECD ข้อมูลจึงชี้นัยว่า ถ้าดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยของนักเรียน
ไทยสูงเท่ากับของนักเรียนญี่ปุ่นหรือแม้แต่เวียดนาม คะแนนคณิตศาสตร์ของนักเรียนไทยจะสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
การก่อกวนชั้นเรียน ส่งผลขัดขวางต่อการเรียนสูงที่สุด จากการรายงานของครูใหญ่ชี้ว่า ปัจจัยที่ขัดขวางการเรียนมากที่สุดคือ นักเรียนไม่เข้าห้องเรียน รองลงมาคือ นักเรียนหนีเรียน
การดื่มสุราหรือใช้ยาเสพติด ส่งผลขัดขวางต่อการเรียน ครูใหญ่รายงานว่า นักเรียนใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติดเพิ่มขึ้นจาก PISA 2012
นักเรียนหนีเรียน เป็นตัวแปรที่ส่งผลกระทบทางลบสูง ช่วงสองสัปดาห์ก่อนเก็บข้อมูล นักเรียนไทย 31% รายงานว่าขาดเรียนอย่างน้อยหนึ่งวัน ในขณะที่ญี่ปุ่นมี 1.8% และเกาหลีมี 1.9%
การกำกับดูแลและความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบของโรงเรียน
อำนาจอิสระของโรงเรียน มีผลทางบวกในระบบที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่ประกันว่าจะทำให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้นในระบบของไทย (World Bank, 2014) โรงเรียนไทยมีค่าดัชนีอำนาจอิสระ (90%) สูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD (71.3%) ครูใหญ่รายงานว่ามีอำนาจอิสระมากกว่าที่ระดับนโยบายมอบให้ (World Bank, 2014)
โรงเรียนรัฐกับโรงเรียนเอกชน ค่าเฉลี่ย OECD โรงเรียนเอกชนมีคะแนนสูงกว่าโรงเรียนรัฐ แต่เมื่ออธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมแล้วไม่แตกต่างกัน โรงเรียนรัฐในไทยมีคะแนนสูงกว่า และเมื่ออธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมแล้วคะแนนยิ่งสูงขึ้นมาก ข้อมูลชี้นัยว่า ทรัพยากรที่รัฐบาลสนับสนุนให้กับโรงเรียนเอกชนยังขาดประสิทธิผล รัฐบาลควรมีการกำกับดูแลการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า
การเลือกโรงเรียนของพ่อแม่ เปลี่ยนจากความต้องการมาตรฐานทางวิชาการที่สูง มาเป็นต้องการโรงเรียนที่มีความปลอดภัยสูง และมีบรรยากาศทางระเบียบวินัยดี ค่าดัชนีระเบียบวินัยของนักเรียนไทยต่ำ ครูใหญ่ไทยรายงานว่าจาก PISA 2006 ถึง PISA 2015 นักเรียนหนีเรียนเพิ่ม 10.9 % นักเรียนใช้เหล้าและ/หรือยาเสพติดเพิ่มขึ้น 5.3% นักเรียนข่มขู่รังแกเพื่อนเพิ่มขึ้น 2.5%
ความเท่าเทียมกันทางการศึกษา
ความเท่าเทียมกัน
ทางการศึกษา ส่งผลทางบวกต่อการเรียนรู้ ระบบที่ประสบความสำเร็จมีความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาต่ำ โดยโรงเรียนด้อยเปรียบกว่าซึ่งมีดัชนีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
ต่ำกว่าจะได้รับการสนับสนุนสูงกว่า โรงเรียนไทยมีความไม่เท่าเทียมกันสูงมาก ดัชนีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของโรงเรียนและนักเรียนกลุ่มต่ำสุดห่างจากกลุ่มสูงสุดเกือบ 3 หน่วย และค่าดัชนีทรัพยากรโรงเรียนก็สะท้อนดัชนีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

การที่นักเรียนไทยมีผลการประเมิน PISA ต่ำ ข้อมูลชี้ว่า มีเหตุปัจจัยประกอบหลายอย่าง นอกเหนือจากทางวิชาการแล้วยังมีการจัดการทางการเรียน สิ่งแวดล้อม และบรรยากาศทางระเบียบวินัย ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า นักเรียนมีผลการเรียนต่ำนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการจัดการและแนวปฏิบัติหลายอย่างที่ไม่ส่งผลทางบวก แต่ในระบบโรงเรียนไทยยังยึดมั่นในแนวปฏิบัติที่ไม่ส่งผลทางบวก ความพยายามในการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนจึงต้องดูทุกตัวแปร ทั้งนี้ การยกระดับการเรียนรู้ไม่ใช่อยู่ที่การปรับหลักสูตรเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าหลักสูตรจะเป็นอย่างไร ถ้านักเรียนขาดทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นตรรกะ การเรียนรู้ก็ยังคงเดิม ตัวแปรเหล่านี้ชี้แนะแนวทางว่าการเรียนการสอนควรไปในทิศทางใดต่อไป นอกจากนี้ ข้อมูลยังชี้แนะว่าถ้าระบบมีการจัดการที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลทางบวกต่อการเรียนรู้ นักเรียนอาจมีแรงจูงใจในการเรียนเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้การเรียนรู้มีคุณภาพขึ้นและมีความยั่งยืนมากกว่า

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 925KB)