ความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนมีผลต่อการเรียนรู้อย่างไร

ข้อมูลจากการศึกษาของ PISA 2015 บอกให้ทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน (Students’ Well-Being)

นอกจาก PISA 2015 จะประเมินผลการเรียนรู้แล้ว ยังมีการศึกษาตัวแปรอีกหลายแง่มุมที่มีส่วนหรือมีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้ของนักเรียน ข้อมูลในฉบับนี้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีหรือสวัสดิภาพของนักเรียนซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ โดยสรุปจากรายงานเรื่อง Students’ Well-Being (OECD, 2017) และ Are students happy? PISA 2015 Results: Students’ Well-Being (OECD,19 April 2017) ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนอายุ 15 ปี โดยมีข้อค้นพบดังนี้

  • จากค่าเฉลี่ย OECD นักเรียนรายงานว่ามีความพึงพอใจในชีวิตของตนเอง (ที่ระดับ 7.3 จากการวัดระดับความพึงพอใจ 0 ถึง 10) แต่มีนักเรียน 12% ที่รายงานว่าไม่มีความพึงพอใจในชีวิตของตนเอง (ที่ระดับ 4 หรือต่ำกว่า) ที่น่าสนใจ คือ นักเรียนจากประเทศคะแนนต่ำมักรายงานว่ามีความพึงพอใจมากกว่านักเรียนจากประเทศคะแนนสูง และนักเรียนห้าประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนสูงมีความพึงพอใจต่ำ ห้าอันดับที่มีความพอใจต่ำจนถึงต่ำมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี จีนไทเป มาเก๊า(จีน) และฮ่องกง(จีน) ส่วนนักเรียนไทยจัดอยู่ในกลุ่มมีความพึงพอใจสูงกว่าค่าเฉลี่ย (ที่ระดับ 7.7)
  • นักเรียนหญิงรายงานว่ามีความพึงพอใจในชีวิตน้อยกว่านักเรียนชาย แต่สำหรับนักเรียนไทยเกือบไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศ และสำหรับนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน พบว่า นักเรียนด้อยเปรียบมีความพึงพอใจในชีวิตน้อยกว่านักเรียนที่ได้เปรียบกว่า
  • นักเรียนกลุ่มสูงรายงานว่ามีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่านักเรียนที่มีคะแนนเท่ากับค่าเฉลี่ยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และไม่มีความเกี่ยวข้องกันระหว่างเวลาที่ใช้ในการเรียนกับความพึงพอใจในชีวิต
  • ประมาณ 64% ของนักเรียนหญิง และ 47% ของนักเรียนชาย รายงานเรื่องความวิตกกังวลในการเรียนว่า รู้สึกวิตกกังวลมากในการสอบถึงแม้ว่าจะเตรียมตัวมาอย่างดีแล้วก็ตาม ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเรียนมีความสัมพันธ์เชิงลบกับผลการเรียนรู้และความพึงพอใจในชีวิตของตนเอง สำหรับนักเรียนไทย นักเรียนชายมีค่าดัชนีความวิตกกังวล (0.02) ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย OECD ส่วนค่าดัชนีความวิตกกังวลของนักเรียนหญิง (0.19) สูงกว่านักเรียนชายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
  • มีนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชายที่รายงานว่าอยากได้เกรดสูงสุดในรายวิชาที่เรียน และอยากจะเลือกโอกาสที่ดีที่สุดเมื่อจบการศึกษา แต่นักเรียนชายรายงานว่าตนเองเป็นคนทะเยอทะยานสูงมากกว่านักเรียนหญิง สำหรับนักเรียนไทย ก็มีนักเรียนหญิงอยากได้เกรดสูงสุดและอยากอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีโอกาสที่ดีที่สุดเมื่อจบการศึกษาสูงกว่านักเรียนชายเช่นเดียวกัน

    รูป 1 ร้อยละของนักเรียนที่รายงานว่ามีความวิตกกังวลในการเรียน (ค่าเฉลี่ย OECD)

    ที่มา: OECD, 2017


  • ค่าเฉลี่ย OECD พบว่า มีนักเรียน 44% คาดหวังว่าจะเรียนให้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (โคลอมเบีย เกาหลี กาตาร์ และสหรัฐอเมริกา มีนักเรียนมากกว่า 3 ใน 4 ที่คาดหวังเช่นนั้น) โดยเฉลี่ยมีนักเรียนด้อยเปรียบน้อยกว่านักเรียนที่ได้เปรียบถึง 2.5 เท่า ที่คาดหวังว่าจะเรียนให้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ข้อสังเกต นักเรียนในประเทศคะแนนต่ำคาดหวังว่าจะเรียนจบปริญญาตรีสูงกว่าในประเทศคะแนนสูง เช่น โคลอมเบีย (76%) กาตาร์ (77%) เปรู (64%) และสาธารณรัฐโดมินิกัน (64%) สำหรับนักเรียนไทยมีถึง 69% ที่คาดหวังว่าจะเรียนให้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้นักเรียนที่มีคะแนนสูงสุดเกือบทั้งหมดและนักเรียนที่มีคะแนนต่ำกว่าระดับพื้นฐานมากกว่า 50% คาดหวังว่าจะเรียนให้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

    รูป 2* ร้อยละของนักเรียนที่มีความคาดหวังว่าจะเรียนให้จบในระดับมหาวิทยาลัยจ่าแนกตามคะแนน

    หมายเหตุ * แสดงเฉพาะประเทศที่มีนักเรียนอยู่ในกลุ่มสูงและกลุ่มต่ำ
    ที่มา: OECD, 2017


การใช้ชีวิตทางสังคมในโรงเรียน

  • จากทั้งหมด 72 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมโครงการ PISA 2015 มี 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่นักเรียนส่วนใหญ่รายงานว่า รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน แต่ในอีกหลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจ นักเรียนด้อยเปรียบ และนักเรียนที่เป็นผู้อพยพเข้าประเทศรุ่นแรก ๆ ต่างรายงานว่าไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนมากกว่านักเรียนกลุ่มอื่น ๆ นักเรียนที่รายงานว่ามีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนต่ำที่สุด คือ ตุรกี (ดัชนี -0.44) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD สำหรับนักเรียนไทย ค่าดัชนีความเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนมีค่าเป็นลบ (-0.35) แสดงว่านักเรียนไม่มีความผูกพันกับโรงเรียน อีกทั้งมีนักเรียนไทยจำนวนมาก (80%) ที่รายงานว่าตนรู้สึกเหมือนเป็นคนนอกเมื่ออยู่ที่โรงเรียน
  • เป็นที่น่าสังเกตว่าค่าเฉลี่ยในประเทศส่วนใหญ่ ทั้งสมาชิก OECD และในประเทศ/เขตเศรษฐกิจร่วมโครงการ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนลดลงระหว่างปี 2003 และ 2015 สำหรับนักเรียนไทยก็รายงานว่ามีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนลดลงเช่นกัน
  • ความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูและนักเรียนมีผลทำให้นักเรียนมีความผูกพันกับโรงเรียน ข้อนี้นักเรียน 1 ใน 5 คน (ประมาณ 20%) รายงานว่า เคยพบกับการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมจากครู (เช่น ครูตำหนิฉันอย่างรุนแรงมากกว่านักเรียนคนอื่น ครูล้อเลียนฉันต่อหน้าคนอื่น หรือครูพูดบางสิ่งที่ดูถูกฉันต่อหน้าคนอื่น) อย่างน้อยก็สองถึงสามครั้งต่อหนึ่งเดือนในช่วงระยะเวลา12 เดือนก่อนการเก็บข้อมูล โดยเฉลี่ยมีนักเรียนชายมากกว่านักเรียนหญิงที่รายงานเช่นนั้น สำหรับนักเรียนไทยมีประมาณ 8% ที่รายงานเช่นนั้น และเป็นนักเรียนชายมากกว่านักเรียนหญิงเช่นกัน
  • นักเรียน 4% จากประเทศสมาชิก OECD (หรือเฉลี่ยชั้นเรียนละ 1 คน) รายงานว่าถูกตีหรือรุมทำร้ายจากนักเรียนคนอื่น (เช่น ทุบตี หรือผลัก) อย่างน้อยเดือนละสองถึงสามครั้ง อีก 8% รายงานว่าถูกตีหรือรุมทำร้ายจากนักเรียนคนอื่นปีละสองถึงสามครั้ง นักเรียนประมาณ 11% รายงานว่าถูกนักเรียนคนอื่นล้อเลียนทำให้ดูเป็นตัวตลก และ 8% รายงานว่าถูกนินทาว่าร้ายหรือมีข่าวลือในทางที่ไม่ดีอย่างน้อยเดือนละสองถึงสามครั้ง โดยเฉพาะในระยะหลัง ๆ นี้มีการกล่าวร้ายกันทางสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น สำหรับนักเรียนไทย 18% รายงานว่าถูกรังแก และมีถึง 14% ที่รายงานว่าเกิดขึ้นอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อสัปดาห์ และอีก 13% เกิดขึ้นสองถึงสามครั้งต่อเดือน และนอกนั้นเกิดขึ้นนานครั้งหรือสองถึงสามครั้งต่อปี
  • นักเรียนชายเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางร่างกายมากกว่านักเรียนหญิง แต่นักเรียนหญิงมักถูกนินทาในทางที่ไม่ดีมากกว่านักเรียนชาย
  • มีเหตุการณ์การข่มขู่รังแกกันเสมอแม้ในโรงเรียนที่นักเรียนรายงานว่าในห้องเรียนมีระเบียบวินัยดี และครูปฏิบัติต่อนักเรียนอย่างยุติธรรมก็ตาม อีกทั้งนักเรียนที่มักถูกข่มขู่รังแกรายงานว่าพ่อแม่ไม่ช่วยเหลือให้ผ่านพ้นความยากลำบากเหล่านั้นที่โรงเรียน
  • ค่าเฉลี่ย OECD นักเรียนในโรงเรียนที่มีการข่มขู่รังแกกันบ่อย ๆ จะมีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำกว่านักเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีการข่มขู่รังแกกันถึง 47 คะแนน และหลังจากอธิบายด้วยตัวแปรด้านภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมของโรงเรียนแล้ว ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าอยู่ 25 คะแนน สำหรับนักเรียนไทยในโรงเรียนที่มีการข่มขู่รังแกกันเสมอ มีคะแนนต่ำกว่าถึง 56 คะแนน และ 34 คะแนน ตามลำดับ

โรงเรียนไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ให้นักเรียนได้รับความรู้และทักษะทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังให้สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่นักเรียนจะสามารถพัฒนาสมรรถนะทางอารมณ์และสังคม ข้อมูลจาก PISA 2015 แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความแตกต่างกันมาก ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในด้านของความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ แรงจูงใจในความสำเร็จ ความวิตกกังวลกับการเรียน ความคาดหวังต่อชีวิตในอนาคต ประสบการณ์จากการถูกเพื่อนข่มขู่รังแก และการรับรู้ถึงการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากครู สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงวินัยในห้องเรียนและการปฏิบัติของครูที่มีต่อนักเรียน

ในด้านความวิตกกังวล ควรสอนวิธีที่จะให้นักเรียนเรียนรู้จากความผิดพลาดและให้สามารถจัดการกับความกดดันได้ ครูสามารถส่งเสริมให้นักเรียนตั้งเป้าหมายของการเรียนในระดับที่นักเรียนน่าจะทำสำเร็จได้ และให้ข้อมูลป้อนกลับในความก้าวหน้าและผลการประเมินที่เป็นเสมือนรางวัลให้นักเรียนเพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมาย อีกทั้งโรงเรียนยังสามารถทำหน้าที่เป็นเหมือนแหล่งชุมชนที่ให้การดูแลเอาใจใส่ถ้าหากมีครูที่เอาใจใส่นักเรียน

ข้อมูลชี้ว่ามีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่เป็นเหยื่อของการถูกข่มขู่รังแกแต่ก็ไม่มีวิธีการที่จะหยุดยั้งเรื่องนี้ได้ ครูที่มีความสามารถในการจัดการห้องเรียนและจัดการความสัมพันธ์จะมีวิธีการติดต่อ ส่งเสริม และให้รางวัลนักเรียนแม้ในสถานการณ์ที่ยาก ๆ ความผูกพันของครูและนักเรียนจะเป็นตัวป้องกันการข่มขู่รังแกกันของนักเรียน ข้อมูลชี้ว่าในโรงเรียนที่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูและนักเรียนจะมีการข่มขู่รังแกกันน้อย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีวิธีการสำเร็จรูปใดสำหรับจัดการกับเรื่องนี้ แต่ข้อมูลจากทั่วโลกยืนยันว่าปัญหานี้จะลดลงถ้าผู้ปกครองเข้ามาร่วมมือด้วยในการวางแผนและตอบสนองต่อการข่มขู่รังแกกันของนักเรียน

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 1MB)