ข้อมูลและผลการวิจัยของ PISA ได้มาอย่างไร

เป้าหมายหลักของการประเมินผลนักเรียนเปรียบเทียบในระดับนานาชาติ PISA คือ การให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบายว่าระบบโรงเรียนของแต่ละประเทศสามารถเตรียมความพร้อมให้เยาวชนเพื่อใช้ชีวิตและการทำงานในอนาคตได้มากน้อยเพียงใดเมื่อเยาวชนเหล่านั้นได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และออกไปใช้ชีวิตในโลกที่ประชาชนต่างชาติต่างภาษาเข้ามาอยู่รวมกันใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างในโลกปัจจุบัน

เมื่อถือว่าผลการประเมินมีความสำคัญและมีนัยทางการศึกษา จึงมีคำถามมากเกี่ยวกับวิธีการได้มาของข้อมูลของโครงการ PISA ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรถาม เพราะในการอ่านงานวิจัยใด ๆ ผู้อ่านควรต้องรู้ว่าที่มาของข้อมูลนั้น ๆ มาจากไหนและมีวิธีการได้มาอย่างไร โฟกัสฉบับนี้จึงถือโอกาสให้สาระหลัก ๆ ของการทำงานของ PISA พอเป็นพื้นฐานของที่มาของผลการประเมิน เพราะนักวิชาการ นักอ่านผล หรือใช้ผลการวิจัยควรทราบข้อมูลจริงแทนการใช้ความคิดเห็น

PISA 2015 ประเมินอะไร

PISA วัดความสามารถและทักษะในการนำความรู้ที่ได้เรียนมาไปใช้ในชีวิตจริงนอกโรงเรียน ซึ่ง PISA ถือว่าเป็นทักษะในการใช้ชีวิต และนิยามว่าเป็นการรู้เรื่อง (Literacy) PISA วัดการรู้เรื่องสามด้าน ได้แก่ การอ่าน (Reading Literacy) คณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) ใน PISA 2006 และ PISA 2015 มีวิทยาศาสตร์เป็นการประเมินหลัก (มีน้ำหนักข้อสอบ 60%) ส่วนอีกสองด้านเป็นการประเมินรอง (น้ำหนักข้อสอบด้านละ 20%) ส่วนการอ่านเป็นการประเมินหลักใน PISA 2000 และ PISA 2009 และคณิตศาสตร์เป็นการประเมินหลักใน PISA 2003 และ PISA 2012

PISA 2015 มีลักษณะอย่างไร

  • PISA 2015 เน้นวิทยาศาสตร์เป็นหลัก มีการอ่าน คณิตศาสตร์ และการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ (Collaborative Problem Solving) เป็นด้านรอง
  • นักเรียนกลุ่มตัวอย่างประมาณ 540,000 เป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี จากประมาณ 29 ล้านคน ในโรงเรียน 72 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก OECD 35 ประเทศ และประเทศร่วมโครงการ (Partner countries/economics) 37 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ
  • ใช้การทดสอบบนคอมพิวเตอร์เป็นหลัก นักเรียนแต่ละคนใช้เวลาสอบสองชั่วโมง
  • ข้อสอบประกอบด้วยแบบเลือกตอบ และแบบที่นักเรียนเขียนคำตอบอย่างอิสระ ข้อสอบถูกจัดเป็นกลุ่มตามเรื่องราวในถ้อยความบนพื้นฐานของชีวิตจริง ข้อสอบต้องใช้เวลาตอบทั้งหมด 810 นาที แต่นักเรียนไม่ได้ตอบข้อสอบทุกข้อ ทั้งนี้ข้อสอบถูกจัดแบ่งเป็นหลายฉบับ นอกจากนี้นักเรียนใช้เวลาอีก 35 นาที ตอบแบบสอบถามการสำรวจภูมิหลัง ซึ่งถามเกี่ยวกับตัวนักเรียน บ้าน โรงเรียน ประสบการณ์การเรียน นอกจากนี้มีแบบสอบถามสำหรับครูใหญ่ที่ถามเกี่ยวกับระบบโรงเรียนและสิ่งแวดล้อมทางการเรียน บางประเทศเลือกทำแบบสอบถามสำหรับครู บางประเทศเลือกทำแบบสอบถามพ่อแม่ผู้ปกครองที่ถามเกี่ยวกับการเรียนของลูก การมีส่วนร่วมกับการเรียนของลูก ความคาดหวังของพ่อแม่ด้านการงานของลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ บางประเทศเลือกทำแบบสอบถามนักเรียนด้านความคุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และอาจเลือกสอบถามเกี่ยวกับการเรียนของนักเรียนจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการเคยหยุดเรียน และการเตรียมตัวสำหรับอนาคตด้วย

มาตรฐานเทคนิคการดำเนินการ (Technical Standards) เป็นอย่างไร

เนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบระหว่างนานาชาติ แต่ในความจริงที่ต้องยอมรับว่าทุกประเทศที่ร่วมในโครงการมีความแตกต่างกัน แต่เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบข้อมูลและผลการประเมินกันได้ในระหว่างชาติต่าง ๆ PISA จึงตั้งมาตรฐานด้านเทคนิคการดำเนินการ (Technical Standards) ที่ได้ตกลงเป็นหลักยึดร่วมกันในการทำงาน ซึ่งทุกประเทศที่เข้าร่วมโครงการยอมรับว่าต้องเป็นไปตามนั้นอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะไม่อาจนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันได้ และประเทศที่มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานข้อตกลง ก็จะไม่มีผลปรากฏให้ในรายงานฉบับนานาชาติ (International Report)

มาตรฐานนักเรียนในกรอบการประเมินของ PISA เป็นอย่างไร

อันดับแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ กรอบใหญ่ที่เป็นหลักสำหรับประชากรนักเรียนที่ต้องครอบคลุมในกรอบการประเมิน มีดังนี้ (OECD, 2014)

  • เป็นนักเรียนวัยจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งนิยามการปฏิบัติการ คือ นักเรียนที่มีอายุระหว่าง 15 ปี 3 เดือน ถึง 16 ปี 2 เดือน ที่อยู่ในช่วงเวลาของการประเมินและต้องเรียนในโรงเรียนตามระบบมาไม่ต่ำกว่า 6 ปี ไม่ว่าจะเป็นสายวิชาสามัญ สายอาชีวศึกษา ในโรงเรียนของรัฐหรือโรงเรียนเอกชน
  • กลุ่มประชากรนักเรียนเป้าหมายในกรอบการประเมินต้องครอบคลุมอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 95% ของกลุ่มประชากร นั่นคือยอมให้ตัดออก (Exclusion) ได้รวมทั้งหมดไม่เกิน 5% ของกลุ่มประชากร โดยตัดออกได้ตามเกณฑ์ ดังนี้
    • ในระดับโรงเรียน ยอมให้ตัดออกได้ คือ โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลมาก โรงเรียนในเขตอันตรายที่เข้าไปเก็บข้อมูลไม่ได้ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่พอที่จะเก็บข้อมูล โรงเรียนที่นักเรียนมีสภาพไม่พร้อมที่จะให้เก็บข้อมูล (เช่น โรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ) และโรงเรียนที่มีการจัดการไม่เป็นไปตามระบบการศึกษาปกติ ซึ่งในระดับโรงเรียนยอมให้ตัดออกได้ไม่เกิน 0.5% ของโรงเรียนเป้าหมาย
    • ในระดับโรงเรียน ยังยอมให้ตัดออกโรงเรียนที่มีแต่นักเรียนอยู่ในเกณฑ์ต้องตัดออก (เช่น โรงเรียนสำหรับคนพิการ โรงเรียนที่ไม่ใช้ภาษาที่ใช้ในการทดสอบ) ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 2% ของกลุ่มประชากร
    • ในระดับภายในโรงเรียน (ที่มีนักเรียนทั่วไป) สามารถตัดออกนักเรียนได้ไม่เกิน 2.5% ของกลุ่มประชากรเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนที่สภาพร่างกายไม่พร้อมที่จะสอบได้ เช่น มีปัญหาด้านสติปัญญาหรือทุพพลภาพทางร่างกายที่ไม่สามารถมาสอบได้
    • ภายหลังการสุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างจะนำมาให้น้ำหนัก (weighted) ว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ทั้งหมด โดยโปรแกรมของ OECD

มาตรฐานที่กำหนดขึ้นนี้เพื่อจะให้นักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มมาได้ เป็นตัวแทนของประชากรนักเรียนจริง ๆ ตามระเบียบวิธีวิจัยที่จะทำให้ผลเป็นที่เชื่อถือได้

ตารางต่อไปนี้แสดงข้อมูลของกลุ่มประชากร กลุ่มตัวอย่าง และการตัดออกของบางประเทศในเอเชีย


ตาราง 1 กลุ่มประชากรเป้าหมายและกลุ่มตัวอย่างใน PISA 2015 ของบางประเทศในเอเชีย


กรอบการสุ่มตัวอย่าง โรงเรียน และนักเรียน ต้องทำอย่างไร

เมื่อได้โรงเรียนหลังจากที่ตัดออกไปตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว ก็ทำการสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มแบบเป็นระบบโดยใช้โปรแกรมการสุ่มตัวอย่างของ OECD ว่าจะมีโรงเรียนใดถูกสุ่มบ้าง ทั้งนี้ ระบบโรงเรียนสามารถกำหนดว่าจะเป็นตัวแปรใดได้เองตามจุดประสงค์ของแต่ละประเทศ เช่น กรณีระบบโรงเรียนไทยที่มีหลายองค์กรที่รับผิดชอบโรงเรียนสำหรับเยาวชนอายุ 15 ปี เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย) และโรงเรียนที่ได้รับการส่งเสริมพิเศษที่ คือ โรงเรียนวิทยาศาสตร์รวมทั้งกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ระบบการศึกษาก็ควรได้รับทราบคำตอบถึงผลของการประกอบการของโรงเรียนในสังกัดที่แตกต่างกัน เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพของการดำเนินการ หรือในบางระบบฯ ที่ประเทศแบ่งเป็นการบริหารโดยเป็นภาคพื้นที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น เขตเหนือกับเขตใต้ก็ย่อมต้องการดูประสิทธิภาพของประกอบการของภาคพื้นที่ เป็นต้น

นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทย ภาครัฐก็อาจจะสนใจในด้านผลการศึกษาของนักเรียนที่อยู่ต่างพื้นที่ ต่างภาคภูมิศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา จึงได้มีการกำหนดกรอบให้ครอบคลุมทุกท้องถิ่น และเพื่อให้เก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด จึงกำหนดเป็นตัวแปรให้ครอบคลุมลึกลงไปอีก เช่น เพศ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ลักษณะและที่ตั้งของโรงเรียน ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะกำหนดตัวแปรเป็นอย่างใด ทุกตัวแปรจะกลายเป็นตัวเอกเมื่อถูกหยิบมาวิเคราะห์ข้อมูล เช่น ถ้าต้องการศึกษาคุณภาพการเรียนรู้เฉพาะตามภาคพื้นที่ ก็ไม่ต้องใช้ตัวแปรด้านสังกัด แต่วิเคราะห์ข้อมูลเป็นภาคพื้นที่โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นสังกัดใด ในทำนองกลับกัน ถ้าต้องการดูทั้งภาคพื้นที่และสังกัดด้วยก็สามารถวิเคราะห์และบอกได้ว่าในสังกัดหนึ่ง ๆ มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคหรือไม่ ถ้าจะดูประเภทของโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชนในทั้งประเทศ ก็สามารถวิเคราะห์เฉพาะสองตัวแปรใหญ่นี้ แต่ก็ยังสามารถดูประเภทของโรงเรียนในแต่ละภาคพื้นที่ได้เช่นกัน ที่สำคัญคือไม่ว่าจะกำหนดกรอบการสุ่มตัวอย่างโดยเริ่มต้นอย่างไรก็ตาม เมื่อหาค่าเฉลี่ยรวมของทั้งระบบจะไม่ทำให้ค่าเฉลี่ยของประเทศเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงกรอบการสุ่มตัวอย่างไปจากเดิมจะส่งผลให้ข้อมูลแนวโน้มที่ติดตามมาตลอดสิบห้าปีขาดหายไป

PISA เองพบปัญหาอย่างไรบ้าง

ในขณะนี้ PISA เองก็ไม่ได้ราบรื่นนัก แต่กำลังเผชิญปัญหาอุปสรรค เนื่องจากเป้าหมายหลักที่ต้องการให้สาระที่เป็นรูปธรรมแก่ระบบการศึกษา เพื่อให้นำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพ หรือเพื่อให้สามารถเรียนรู้จากระบบที่ประสบความสำเร็จนั้น ถูกมองไปในมุมมองที่แตกต่าง กล่าวคือ ผลการประเมินที่เปิดเผยออกมาซึ่งควรจะถูกใช้เพื่อชี้นัยถึงศักยภาพของกำลังคนในอนาคตของชาติว่าจะสามารถนำพาประเทศไปสู่การแข่งขันได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งมีหลายประเทศถือว่าเป็นเสมือน “Wake up Call” ที่เตือนให้รู้ตัวว่าจะต้องทำอะไรกันบ้าง บางประเทศที่ผลการประเมินชี้ถึงความอ่อนด้อยก็ไม่รีรอที่จะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงและทำสำเร็จมาแล้วในระดับหนึ่ง เช่น โปแลนด์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์หลักของ PISA แต่มองว่าผลการประเมินคือการแสดงถึงความเป็นเลิศเพื่อให้ดูว่าระบบฯ มีการจัดการที่ดีเยี่ยม และผลักดันให้ระดับนโยบายหาวิธีทำให้คะแนนสูงขึ้น ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่ระดับนโยบายจะสื่อสารกับประชาชนและหาวิธียกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ

อุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือ PISA ยังถูกวิจารณ์อีกว่า เป็นตัวส่งเสริมการสอบแข่งขัน ทำให้ระบบที่ไม่ประสบความสำเร็จ พยายามทำทุกทางที่จะให้คะแนนสูงเพื่อต้องการแสดงถึงความเป็นเลิศ จึงนำพาไปสู่การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนสามารถสอบข้อสอบมาตรฐานตามแบบของ PISA โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชาติเอเชียแสดงความเป็นเลิศทางการศึกษา ทำชาติตะวันตกเคลือบแคลงและเกิดคำถามว่าทำไมฟินแลนด์จึงด้อยลงไป เป็นไปได้หรือไม่ที่ชาติเอเชียเตรียมนักเรียนเพื่อสอบ อีกทั้งชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเกิดการผลักดันทั้งครู ทั้งนักเรียนเรื่องการสอบแบบ PISA จนทำให้การเรียนการสอนกลับไปสู่วงจร “การสอนเพื่อสอบ” อีก (The Guardian, 2014) สิ่งเหล่านี้คือประเด็นปัญหาที่ OECD/PISA กำลังเผชิญและต้องหาทางออกต่อไป หรือกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือ เมื่อโครงการไม่สามารถไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ก็อาจมีการยกเลิกโครงการก็ได้

PISA เป็นโครงการวิจัยด้านการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ก็ยังมีลักษณะเช่นเดียวกับงานวิจัยอื่น ๆ นั่นคือ ต้องมีการตั้งสมมติฐานและมีข้อจำกัด ทั้งในการดำเนินงานและการตีความผลการวิจัย การนำผลการประเมิน PISA ไปใช้ในระดับนโยบายจึงควรสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และคำนึงถึงข้อจำกัดที่มีด้วย

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 688KB)