การคัดเลือกและแยกกลุ่มนักเรียนสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้อย่างไร

การคัดเลือกและแยกกลุ่มนักเรียน เดิมเคยเป็นแนวปฏิบัติที่ใช้กันในระบบโรงเรียนทั่วไป แต่แนวปฏิบัติดังกล่าวลดลงหลังจากที่มีรายงานของ OECD เรื่องความเป็นเลิศและความเสมอภาคทางการศึกษา (OECD, 2013a) เผยแพร่ออกมา ในรายงานชี้ถึงความไม่เสมอภาคทางการศึกษาในแนวปฏิบัตินั้น ทำให้หลายระบบโรงเรียนเริ่มพบความท้าทายในการแบ่งแยกสายการเรียน และเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายนี้ บางประเทศ/เขตเศรษฐกิจเลือกที่จะใช้ระบบโรงเรียนแบบประสมที่ไม่คัดเลือกและแยกกลุ่มนักเรียน แต่เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และให้ครูและโรงเรียนดูแลนักเรียนให้พัฒนาเต็มศักยภาพตามความสนใจและตามภูมิหลังของตนเอง ในขณะที่บางประเทศ/เขตเศรษฐกิจกลับเลือกที่ตอบปัญหานี้โดยการแยกกลุ่มนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการแยกโรงเรียน หรือการแยกชั้นเรียนภายในโรงเรียน เพื่อจุดประสงค์ที่จะจัดการสอนตามศักยภาพทางวิชาการ ตามความถนัดหรือความสนใจ หรือตามศักยภาพทางวิชาการของนักเรียนในโปรแกรมการเรียนต่าง ๆ

การคัดเลือกและแยกกลุ่มนักเรียน ครอบคลุมการคัดแยกตามแบบรูปต่าง ๆ ทั้งการแยกตามแนวตั้ง (การที่นักเรียนอายุเท่ากันแต่เรียนต่างระดับชั้นกัน) และการคัดแยกตามแนวนอน (เช่น การแบ่งสายการเรียน การแยกห้องเรียน และการแบ่งกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ) ซึ่งการแบ่งแยกแต่ละประเภทมาจากสาเหตุดังสรุปในรูป 1


รูป 1 การคัดเลือกและแยกกลุ่มนักเรียนตามการวิเคราะห์ของ PISA 2012


การคัดแยกตามแนวตั้ง

สาเหตุสำคัญมีสองประการ คือ การที่นักเรียนเริ่มเข้าโรงเรียนที่อายุไม่เท่ากัน การที่นักเรียนต้องเรียนซ้ำชั้น หรือแต่ละระบบโรงเรียนอาจมีวิธีการกระจายนักเรียนแตกต่างกันไป

อายุของนักเรียนเมื่อแรกเข้าโรงเรียน

อายุของนักเรียนเมื่อแรกเข้าโรงเรียนระดับประถมศึกษาเป็นตัวแปรหลักทำให้นักเรียนอายุเท่ากันเรียนอยู่ในระดับชั้นที่ต่างกัน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลของ PISA 2012 ชี้ว่า ในประเทศที่นักเรียนอายุ 15 ปี เรียนอยู่ในระดับชั้นหลายระดับชั้นนั้น มีแนวโน้มผลการประเมินต่ำกว่าแม้จะอธิบายด้วยค่า GDP ประชาชาติแล้วก็ตาม

แม้ว่าระบบโรงเรียนทุกระบบได้กำหนดอายุนักเรียนที่จะเข้าโรงเรียนอย่างเป็นทางการเอาไว้แล้ว แต่ก็มีบ้างในทางปฏิบัตินักเรียนอาจมีพัฒนาการทางสติปัญญาในอัตราเร็วที่ไม่เท่ากันเสมอไป หรือมีการใช้อภิสิทธิ์ทางการศึกษา เช่น พ่อแม่บางคนอาจจะเห็นว่าการที่ลูกได้เข้าเรียนเร็วขึ้นจะเป็นการได้เปรียบมากกว่า หรือพ่อแม่บางคนอาจต้องการยืดเวลาให้ลูกรออีกหน่อยก่อนส่งไปโรงเรียน

ประเทศสมาชิก OECD (OECD, 2013b) อายุเฉลี่ยของนักเรียนที่เข้าโรงเรียนชั้นประถมศึกษาครั้งแรก คือ 6.1 ปี แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ โดยทั่วไปนักเรียนส่วนใหญ่จะเข้าโรงเรียนก่อนหรือหลังกันไม่เกินหนึ่งปีตามเกณฑ์ที่ทางการกำหนด ใน 41 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ นักเรียนมากกว่า 90% เข้าโรงเรียนแตกต่างกันภายใน 2 ปี ประเทศที่นักเรียนอายุ 15 ปี มักเรียนอยู่ในระดับชั้นเดียวกันเกือบทั้งหมด พบใน ไอซ์แลนด์ ญี่ปุ่น นอร์เวย์ เซอร์เบีย มาเลเซีย สหราชอาณาจักร เกาหลี และสวีเดน ในประเทศที่พ่อแม่มีอิสระที่จะเลือกเข้าโรงเรียนตามต้องการ นักเรียนอาจจะเข้าโรงเรียนเร็วหรือช้ากว่ากำหนดสองปีหรือเกินกว่านั้น ดังนั้น สัดส่วนของนักเรียนที่เข้าโรงเรียนไม่ตรงกับเพื่อนวัยเดียวกันจึงเป็นตัวชี้ถึงสัดส่วนของนักเรียนที่เรียนไม่ตรงชั้นที่นักเรียนวัยเดียวกันส่วนใหญ่เรียนอยู่ (Modal grade)

โดยเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD นักเรียนอายุ 15 ปี เรียนในชั้น Modal grade อยู่มากที่สุดถึง 74% ประมาณ 9% อยู่ชั้นที่สูงกว่า และ 17% อยู่ในชั้นต่ำกว่า นักเรียนอายุ 15 ปี ทั้งหมดเรียนอยู่ในชั้นเดียวกันทั้งหมด ได้แก่ ญี่ปุ่น และไอซ์แลนด์ ประเทศที่นักเรียนมากกว่า 95% เรียนอยู่ชั้นเดียวกัน ได้แก่ นอร์เวย์ เซอร์เบีย มาเลเซีย และสหราชอาณาจักร ในระบบโรงเรียนเหล่านี้จึงถือว่าไม่มีการแบ่งแยกตามแนวตั้งหรือมีต่ำมาก

สำหรับประเทศไทยข้อมูลที่เก็บใน PISA 2012 อายุเฉลี่ยของนักเรียนที่เข้าโรงเรียนชั้นประถมศึกษาครั้งแรก คือ 6.2 ปี นักเรียน 77% เข้าโรงเรียนเมื่ออายุ 6 ปี นักเรียน 19% เข้าโรงเรียนเมื่ออายุ 7 ปี อีก 4% เข้าโรงเรียนเมื่ออายุ 5 ปี ที่เหลืออีกเล็กน้อยเข้าโรงเรียนเมื่ออายุ 8 ปี และระดับชั้นที่มีนักเรียนอายุ 15 ปี มากที่สุด คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ใน PISA 2012 มีนักเรียน 76 %) และเมื่อรวมกับนักเรียนอายุ 15 ปี ที่เรียนอยู่ชั้น ม.5 รวมเป็นประมาณ 80%

ในหลายประเทศ นักเรียนส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันบางส่วนเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ค่าเฉลี่ย OECD มีนักเรียน 46% เรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ 54% เรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีหลายประเทศที่นักเรียนทั้งหมดอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (เช่น ฟินแลนด์ โปแลนด์ และเดนมาร์ก) หรือประเทศที่นักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ไอร์แลนด์ และสวีเดน) ข้อมูลนี้จึงชี้บอกนัยอีกด้วยว่าหลายประเทศที่มีคะแนนสูงกว่านักเรียนไทยนั้น เป็นนักเรียนที่เรียนอยู่ในระดับชั้นต่ำกว่าไทย

ผลกระทบของการคัดแยกตามแนวตั้ง

ระบบโรงเรียนที่มีการแยกนักเรียนตามแนวตั้งยิ่งมากยิ่งส่งผลเชิงลบกับความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ในระบบโรงเรียนที่นักเรียนอายุ 15 ปี เรียนอยู่ระดับชั้นต่างกันยิ่งมาก สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมยิ่งส่งผลกระทบต่อผลการเรียนรู้สูง ค่าเฉลี่ย OECD ชี้ว่าการคัดแยกนักเรียนตามแนวตั้งส่งผลทางลบต่อผลการเรียนรู้ (ค่าสหสัมพันธ์ -0.34) และเมื่ออธิบายด้วยค่า GDP แล้วผลกระทบสูงขึ้น (ค่าสหสัมพันธ์ -0.36) ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งสองค่า สรุปว่าในประเทศที่นักเรียนอายุ 15 ปี เรียนอยู่ในหลายระดับชั้น มีแนวโน้มผลการประเมินต่ำกว่า แม้จะอธิบายด้วย GDP ประชาชาติแล้วก็ตาม

การคัดแยกตามแนวนอน

การคัดแยกกลุ่มนักเรียนตามแนวนอน รวมถึงการจัดให้นักเรียนระดับชั้นเดียวกันอยู่ในกลุ่มที่แตกต่างกัน เช่น คัดแยกนักเรียนตามความสามารถ ความถนัด และ/หรือผลการเรียนการสอบ ในหลายระบบโรงเรียนแบ่งนักเรียนออกเป็นสายวิชาการ สายเตรียมอาชีวศึกษา และสายอาชีวศึกษา การกำหนดอายุนักเรียนให้แยกสายการเรียน บางโรงเรียนคัดเลือกนักเรียนโดยกำหนดผลการเรียนว่าต้องมีระดับคะแนนเท่าใดจึงจะสามารถเข้าโรงเรียน เข้าสายการเรียน หรือโปรแกรมการเรียน ส่วนที่เหลือต้องไปเรียนโรงเรียนอื่นหรือสายการเรียนอื่น บางโรงเรียนใช้วิธีคัดนักเรียนให้ออกจากโรงเรียนเพียงเพราะว่ามีผลการเรียนไม่เป็นที่น่าพอใจ มีปัญหาทางพฤติกรรม หรือมีความจำเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีการคัดแยกกลุ่มนักเรียนในระดับชั้นเดียวกันให้แยกห้องเรียนตามความสามารถทางวิชาการ เป็นต้น

PISA พบว่า การคัดเลือกและแยกกลุ่มนักเรียนส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ สรุปได้ดังนี้

  • การแบ่งกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ ค่าเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD นักเรียนจากโรงเรียนที่ไม่มีการแบ่งแยกห้องเรียนตามความสามารถ มีผลการประเมินคณิตศาสตร์สูงกว่านักเรียนในโรงเรียนที่มีการแบ่งแยกห้องเรียนเป็นบางชั้นหรือทุกชั้น สำหรับระบบของไทย ภายในโรงเรียนที่แยกชั้นเรียนตามความสามารถ ส่งผลทางลบต่อผลการประเมิน (ค่าสหสัมพันธ์ – 0.26 และ – 0.25 ก่อนและหลังอธิบายด้วยค่า GDP และมีนัยสำคัญทั้งสองค่า)
  • อายุที่นักเรียนแยกสายการเรียน ยิ่งนักเรียนอายุน้อยยิ่งส่งผลทางลบ ระบบโรงเรียนที่แยกสายตั้งแต่ระยะต้น ๆ ของระบบการศึกษา หรือเมื่อนักเรียนมีอายุน้อย มีแนวโน้มผลการประเมินต่ำ สำหรับในประเทศสมาชิก OECD ความแปรปรวนถึง 39% เป็นผลกระทบของตัวแปรตามอายุที่นักเรียนถูกคัดเลือกให้แยกสายหรือโปรแกรมการเรียน แม้จะอธิบายด้วยตัวแปรค่า GDP แล้วก็ตาม
  • การคัดเลือกนักเรียนเข้าโรงเรียน ในระดับโรงเรียน แมัว่าโรงเรียนที่คัดเลือกนักเรียนโดยเข้มงวดกับผลทางวิชาการมักมีผลการประเมินเฉลี่ยสูง แต่ในระดับระบบกลับพบว่า ระบบโรงเรียนที่มีสัดส่วนของโรงเรียนที่คัดเลือกนักเรียนจากผลการเรียนทางวิชาการสูงกว่าวิธีอื่น ผลการประเมินไม่ได้สูงกว่าระบบที่รับนักเรียนโดยไม่ได้เลือกตามวิธีดังกล่าว ทั้งนี้เพราะโรงเรียนที่คัดเลือกนักเรียนที่ใช้ผลการเรียนสูงนั้นมักเป็นโรงเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง และยังสามารถคัดเลือกนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้เปรียบ (ดังที่ปรากฏว่านักเรียนกลุ่มโรงเรียนสาธิต กับกลุ่มโรงเรียน สพป. มีค่าดัชนีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนต่างกันเกือบสามหน่วยดัชนี) ผลการเรียนรู้ของนักเรียนจึงเป็นผลกระทบมาจากตัวแปรทางเศรษฐกิจและสังคมสูงมากกว่าเป็นผลของโรงเรียน
  • การแยกสายการเรียนหรือห้องเรียน ในประเทศสมาชิก OECD หรือประเทศที่มีเศรษฐกิจดี โรงเรียนที่แยกสายการเรียนหรือโปรแกรมการเรียนมีความสัมพันธ์กับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม การแบ่งแยกโรงเรียนยิ่งไปเพิ่มอิทธิพลของปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

การแยกกลุ่มนักเรียนอาจมีข้อดีเพียงทำให้ง่ายต่อการสอน เพราะในระบบที่ให้นักเรียนหลายระดับความสามารถอยู่รวมกัน ครูต้องใช้ความสามารถหลายอย่างในการพัฒนานักเรียน ครูจึงต้องพัฒนาวิธีสอนที่หลากหลายที่จะทำให้นักเรียนต่างความสามารถเรียนรู้ได้ตามศักยภาพของตน ครูจึงต้องทำงานหนักขึ้น ดังนั้น การแยกกลุ่มจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่าความพยายามที่จะยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่มอ่อนให้สูงตามเพื่อน ยิ่งไปกว่านั้นการคัดแยกนักเรียนเท่ากับเป็นการคัดแยกครูไปด้วยในตัว เพราะนักเรียนกลุ่มเก่งก็จะถูกสอนโดยครูชั้นเลิศ ส่วนนักเรียนกลุ่มอ่อนก็จะถูกสอนโดยครูคุณภาพต่ำ

นโยบายการแยกกลุ่มทำให้นักเรียนกลุ่มต่ำไม่มีโอกาสที่จะได้รับแรงจูงใจหรือการเรียนรู้จากนักเรียนกลุ่มสูง การคัดเลือกและคัดแยกกลุ่มนักเรียนเข้าโรงเรียนและชั้นเรียน อาจกลายเป็นการส่งเสริมผลกระทบของภูมิหลังทางสถานะเศรษฐกิจและสังคมและความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาเพราะเป็นการปิดโอกาสการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่มต่ำไปด้วย (OECD, 2013)

นัยทางการศึกษา

ระบบโรงเรียนไทยยึดแนวปฏิบัติการคัดแยกห้องเรียนให้นักเรียนตามความสามารถทางวิชาการ และเป็นการคัดแยกถาวรที่นักเรียนต้องเรียนในห้องเรียนที่ถูกคัดแยกตามผลการเรียน ยกเว้นในโรงเรียนเล็กที่นักเรียนแต่ละชั้นมีจำนวนน้อยเกินไปที่จะแบ่งแยกห้องเรียน จากรายงานของครูใหญ่ นักเรียนประมาณสามในสี่ (77%) อยู่ในโรงเรียนที่มีการแบ่งกลุ่มนักเรียนอย่างถาวร หรือแยกเป็นบางวิชา แม้แต่ในโรงเรียนที่นักเรียนถูกคัดเลือกมาแล้วตั้งแต่ต้น ยังมีการแยกนักเรียนตามความสามารถถึง 50% โรงเรียนสาธิตมีการแยกกลุ่มถึงประมาณ 90% โรงเรียนในสังกัดของ สพม. มีการแบ่งกลุ่มนักเรียน 85% และโรงเรียนสังกัด กทม. 76% เฉพาะโรงเรียนในสังกัด สพป. เท่านั้น ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และมีการแบ่งกลุ่มน้อย (34%)

ผลกระทบจากการคัดแยกนักเรียนของระบบโรงเรียนไทย

ผลการประเมิน PISA ชี้ว่า การคัดแยกนักเรียน ส่งผลกระทบทางลบต่อผลการประเมินคณิตศาสตร์ ดังนี้

  • การคัดแยกกลุ่มนักเรียนตามความสามารถของไทยส่งผลกระทบทางลบต่อผลการประเมินคณิตศาสตร์ (-8.4 คะแนนต่อหนึ่งหน่วยดัชนี) และนอกจากส่งผลทางลบทั้งต่อผลการเรียนรู้แล้ว ยังส่งผลต่อความเท่าเทียมกันทางการศึกษาด้วย (OECD, 2013b)
  • การคัดเลือกนักเรียนเข้าโรงเรียนที่เน้นความเข้มของผลทางวิชาการส่งผลทางลบ (-1.4 คะแนนต่อหนึ่งหน่วยดัชนี)
  • การคัดนักเรียนออกจากโรงเรียนเนื่องจากผลการเรียนไม่ดีหรือปัญหาด้านพฤติกรรมส่งผลทางลบต่อผลการประเมินคณิตศาสตร์ (-5.5 คะแนนต่อหนึ่งหน่วยดัชนี

แม้ว่าจะมีการปฏิรูปการศึกษาและรัฐจะลงทุนอย่างมากเพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษา แต่ระบบโรงเรียนมักมีแนวปฏิบัติหลายประการที่ผลการวิจัยชี้ว่าไม่ส่งผลทางบวกต่อคุณภาพการเรียนรู้ จึงมีผู้เรียกสถานการณ์นี้ว่า Thai Educational Paradox (Fry & Bi , 2013) ดังนั้น ความพยายามใด ๆ ที่ระดับนโยบายต้องการจะยกระดับการเรียนรู้จึงควรตั้งอยู่บนข้อมูลจากการวิจัยเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 765KB)